การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต


การที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้มอบภารกิจการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐทั้งหมด แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้เกิดปัญหาปริมาณคดีเกินขีดความสามารถ มีคดีค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐจึงถูกก่อตั้งขึ้น เป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551”

พ.ต.ต.หญิง ศิพร  โกวิท

 

1.      ที่มาของ ป.ป.ท.

          ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 250 ได้วางหลักเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้หลายประการ โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งในการยุติธรรม รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นสมควรดำเนินการ

            ป.ป.ช.มีเรื่องในความรับผิดชอบเกินกำลังและขนาดขององค์กร ทั้งยังเป็นองค์กรอิสระที่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบ ทำให้ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2544 และวันที่ 4 มิถุนายน 2545 และวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ให้มีการตั้งองค์กรฝ่ายบริหารเพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐขึ้น จึงเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับชาติ ต่อมาในปี พ.ศ.2546 กระทรวงยุติธรรมจึงเป็นฝ่ายเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการจัดตั้งองค์กรฝ่ายบริหารขึ้นรับผิดชอบภารกิจในการแก้ปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งตำกว่าผู้อำนวยการกอง คณะรัฐมนตรีจึงเสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติ แล้วมีมติเห็นชอบเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 21 ก ลงวันที่ 24 มกราคม 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2551 อันเป็นวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดโครงสร้างองค์กรฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็น 2 ส่วน คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เพื่อดำเนินการตามหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐต่อไป

2. อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.

          เขตอำนาจ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

1. เจ้าหน้าที่ของรัฐ

2. การกระทำทุจริตในภาครัฐ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ได้แก่ “เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่ง ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูง หรือข้าราชการที่ดำรงตำแหน่ง ต่ำกว่า ผู้อำนวยการกอง ลงมา” ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญทุกกระทรวง ทบวง กรม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการครู พนักงานองค์กรมหาชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดจนข้าราชการ และพนักงานหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งในรูปแบบพิเศษอื่น “รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ หน่วยงาน”

การกระทำทุจริตในภาครัฐ

ทุจริตต่อหน้าที่ : ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือ ตามกฎหมายอื่น

ประพฤติมิชอบ : ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่อื่นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือมติครม. ที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแลการกับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงิน

 

3.      ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดนโยบาย

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า การที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้มอบภารกิจการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐทั้งหมด แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้เกิดปัญหาปริมาณคดีเกินขีดความสามารถ มีคดีค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ  ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐจึงถูกก่อตั้งขึ้น เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้กำหนดโครงสร้างองค์กรฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐออกเป็นสองส่วน คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประเทศไทยจึงมีหน่วยงานในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพิ่มขึ้น

การจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่เป็นการลดทอนอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หลักการสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท. คือ การให้รัฐบาลมีกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับจัดการปัญหาการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

4.      ข้อเสนอแนะ

ปัจจุบัน ป.ป.ท. มีอัตรากำลัง 265 คน และ 1 เลขาธิการที่กำกับดูแล ป.ป.ท. ซึ่งถือว่ามีอัตรากำลังพลน้อยเกินกว่าที่จะทำหน้าที่สอดส่องดูแลพนักงานของรัฐกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ ให้ปราศจากการคอร์รัปชั่น ปริมาณงานจึงมาก การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงต้องบูรณาการกับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม การสนธิกำลังหรือการบูรณาการ การที่ ป.ป.ท. ไม่ใช่องค์กรอิสระ จึงมีความเป็นไปได้ที่การเมืองอาจเข้ามาแทรกแซงได้  เหมือนเช่นหน่วยงานราชการทั่วไป ที่ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของทางเมือง อีกทั้งในส่วยองค์กรส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ กว่า 9,000 กว่า นั้น เป็นการยากที่จะเข้าดูแลได้อย่างทั่วถึง

ดังนี้ เมื่อกล่าวถึงความเป็นองค์กรหนึ่งของ ป.ป.ท. ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงเห็นได้ว่า ที่มาหรือจุดกำเนิดของสองหน่วยงานมีความแตกต่างกัน แต่กลับมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อ ไต่สวน สอบสวน การทุจริตหรือประพฤติมิชอบของข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ แต่โดยเนื้อของงานแล้วเห็นว่า การที่ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมานั้น ก็เพื่อกำจัดปัญหาการล้วงลูกของฝ่ายข้าราชการระดับสูง หรือการเมือง เพื่อให้การปฏิบัติงานของ ป.ป.ช.เป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซง จึงต้องให้หน่วยงาน ป.ป.ช. เป็นองค์องค์อิสระ ปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ การที่สำนักงาน ป.ป.ช. ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาหลายปี แต่เกิดปัญหาคดีที่คั่งค้าง สำนวนล้นมือ ไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นได้ภายในระยะเวลาอันควรนั้น กลับใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งหน่วยงานภายใต้สังกัดของหน่วยงานราชการมาช่วยแบ่งเบาภาระอันนั้น จึงมิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุดเท่าใดนัก เพราะเจตนารมณ์ของการให้มีหน่วยงานอิสระขึ้นมาตรวจสอบ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลในวงราชการ

ในกรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงกระทำความผิด ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท. โดย ป.ป.ช.จะส่งสำนวนเรื่องนั้นให้ ป.ป.ท.พิจารณาดำเนินการ ซึ่งในทางปฏิบัติ การดำเนินกรต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนี้ จะถูกดำเนินการใน 2 ส่วน คือในส่วนคดีอาญา และทางวินัย

ในส่วนคดีอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่มีกำลังพลที่เพียงพอในการดำเนินการสอบสวน จึงต้องส่งสำนวนคดีแก่ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ สังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปปป.สสก.)  เป็นผู้สอบสวนดำเนินคดีอาญา และส่งสำนวนยังพนักงานอัยการในการสั่งฟ้องต่อศาล เช่นคดีอาญาทั่วไป

ในส่วนการดำเนินการทางวินัยนั้น จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย แต่คณะกรรมการสอบสวนไม่จำต้องมีการสอบสวนหรือวินิจฉัย เพราะต้องรอผลการสอบสวนจาก บก.ปปป. เพราะหากมีการชี้มูลความผิด คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็จะต้องมีความเห็นตามที่ได้รับการชี้มูลมา และมีความเห็นควรให้ลงโทษทางวินัยเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนี้ การดำเนินการทางวินัยจึงมีปัญหาจากการที่ต้องหยุดชะงัก เพื่อรอผลการสอบสวนจาก บก.ปปป.

เห็นได้ว่า การจัดตั้งหน่วยงาน ป.ป.ท. เพิ่มขึ้นมา ไม่ได้เป็นการแบ่งเบาภาระงานของ ป.ป.ช.โดยแท้จริง แต่เป็นการจัดตั้งหน่วยงานในสังกัดราชการ มาสอบสวนพิจารณาเพิ่มขึ้น จากการที่เราต้องการมีหน่วยงานอิสระเพื่อแก้ปัญหาการถูกแทรกแซงและฉีกตัวออกจากระบบเดิม แต่กลับแก้ปัญหาสำนวนล้นมือโดยใช้วิธีการจัดตั้งหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้นมา เป็นการกลับไปใช้ระบบเดิม ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

อ้างอิง

วิทยากร เชียงกูล. (2549). แนวทางปราบคอร์รัปชั่นอย่างได้ผล. กรุงเทพฯ : สายธาร.

ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด. (2554). นโยบายการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ :
 ร้านพุ่มทอง.

ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด. (2550). การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ. กรุงเทพฯ :

พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545

หมายเลขบันทึก: 498046เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท