วรรณกรรมวิจารณ์: ทฤษฎีการรับรู้ของผู้อ่าน : ปรัชญาปรากฏการณ์ ตอนที่ 2


วรรณกรรมวิจารณ์: ทฤษฎีการรับรู้ของผู้อ่าน : ปรัชญาปรากฏการณ์ ตอนที่ 2

          แนวโน้มของปรัชญายุคใหม่ซึ่งเน้นความสำคัญหรือบทบาทของผู้อ่านหรือผู้รับรู้ในการกำหนดความหมายก็คือปรัชญาปรากฏการณ์นิยม (phenomenology) จากคำกล่าวของ Husserl ที่ว่าวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องของการสำรวจหรือการใคร่ครวญทางปรัชญาที่ถูกต้องก็คือ เนื้อหาในจิตสำนึก ไม่ใช่วัตถุที่อยู่ในโลก จิตสำนึกนั้นเป็นบางสิ่งบางอย่างเสมอ และสิ่งที่เป็นบางสิ่งบางอย่างนี้แหละที่ปรากฏในจิตสำนึกของเราและเป็นจริงกับเราเสมอ นอกจากนี้ Husserl ยังเสนออีกว่าเราสามารถค้นพบสิ่งต่างๆ เช่น ความเป็นสากล (universal) คุณภาพอันเป็นสารัตถะ (essential qualities)ได้เพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้นปรากฏในจิตสำนึกของเรา
          สำนักปรากฏการณ์อ้างอิงว่าเราสามารถค้นพบธรรมชาติที่เป็นตัวกำหนด (underlying nature)ได้ทั้งในจิตสำนึกของมนุษย์และปรากฏการณ์พร้อมกัน สิ่งนี้พยายามที่จะทบทวนความคิดที่มีมาตั้งแต่ยุคโรแมนติกที่ว่าจิตสำนึกของมนุษย์เป็นศูนย์และแหล่งกำเนิดของความหมายทุกอย่าง
ในทางทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์วิธีการนี้ไม่ได้กระตุ้นหรือส่งเสริมเรื่องความเป็นอัตนัยล้วนๆสำหรับเรื่องราวที่ปรากฏในจิตของนักวิจารณ์ (แปลว่าจะวิจารณ์อย่างไรก็ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักวิจารณ์คิด) แต่คือความพยายามที่จะเข้าไปในโลกของผู้แต่งหรือผู้เขียนและพยายามทำความเข้าใจของตรรกะที่ผู้แต่งหรือผู้เขียนใช้ในการเขียนหรือทำความเข้าใจสารัตถะหรือแก่นแท้ของงานเขียนตามที่ปรากฏในจิตสำนึกของผู้วิจารณ์เอง ดังนั้นการวิจารณ์จึงเป็นไปได้ก็เพราะว่าตัวบทได้เปิดอนุญาตให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงจิตสำนึกของผู้แต่งนั้นเอง ดังที่ Georges Poulet ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ในแนวนี้กล่าวว่า ตัวบทนี้ได้เปิดขึ้นแก่เรา ยินดีต้อนรับเรา ปล่อยให้เราได้มองมันอย่างลึกซึ้ง และอนุญาตให้เราได้คิดในสิ่งที่มันได้คิด และรู้สึกในสิ่งที่มันรู้สึก
          อย่างไรก็ตามทฤษฎีที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อ่านก็มีการปรับปรุงขึ้นโดยลูกศิษย์ Husserl ที่ชื่อ Martin Heidegger ที่สอนว่า จิตสำนึกของเราเป็นทั้งการแสดงออกของโลกและในขณะเดียวกันก็ถูกควบคุมโดยโลกแห่งการดำรงอยู่นั้นด้วย เขาหมายความว่าเราถูกโยนเข้าไปในโลก ที่ซึ่งในโลกนั้นก็มีทั้งกาละและเทศะ และเราก็ไม่สามารถที่จะเลือก แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นโลกของเราตราบเท่าที่จิตสำนึกของเราฉายภาพมันให้เห็น เราจะไม่มีใคร่ครวญสิ่งต่างๆได้อย่างมีใจเป็นกลางหรือวางอุเบกขา โดยที่มองทุกอย่างจากมุมสูงสุดได้ โดยนัยนี้เราจะถูกบังคับให้ผสมผสานกับวัตถุที่อยู่ในจิตสำนึกของเราเอง ดังนั้นการคิดของเราทุกอย่างจึงเป็นสถานการณ์ (situation)และเป็นประวัติศาสตร์ (historical)เสมอ ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์นั้นจะไม่ได้อยู่ภายนอกและเป็นสังคม แต่จะอยู่ภายในและเป็นส่วนบุคคลก็ตาม ต่อมาวิธีการเชิงสถานการณ์ของ Heidegger ก็ถูกนำมาต่อยอดใช้กับงานวรรณกรรมโดย Hans-George Gadamer โดยที่ Gadamer เขียนในหนังสือที่ชื่อ Truth and Method (1975) มีใจความสำคัญว่า งานวรรณกรรมมิได้ถูกทำให้ปรากฏในโลกเหมือนกับงานที่เสร็จสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหมายที่เพียบพร้อมแล้ว แต่ความหมายดำรงอยู่และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ตีความ (หรือผู้อ่าน)เสมอ
บรรณานุกรม
Raman Selden.(1989). A Reader’s Guide to Contemporary Literary Theory. Harvester Wheatsheaf: New York.

หมายเลขบันทึก: 498041เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท