ดัชนีการคอร์รัปชั่นของไทยกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ


การคอร์รัปชั่นกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงเรื้อรังของประเทศไทย จากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index : CPI) ซึ่งจัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากเป็นอันดับที่ 80 จาก 183 ประเทศ ขณะที่การคอร์รัปชั่นกำลังเป็นวาระของโลก โดยนานาประเทศต่างใช้ความพยายามยกระดับมาตรฐานความแข็งแรงภาครัฐเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น จึงเป็นข้อวิตกว่า การที่ประเทศไทยอยู่ในข่ายของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดแล้ว จะมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากน้อยเพียงไร

ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของไทยกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

  1. 1.              บทนำ

                คำว่า “คอร์รัปชั่น” เป็นคำที่ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ แต่กลายเป็นคำที่มีความหมายเข้าใจได้ในตัวโดยไม่ต้องแปล แต่เดิม การคอร์รัปชั่นมักหมายถึงการติดสินบนและเบียดบังทรัพย์สินของรัฐ อันมีความหมายเดียวกับคำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” พัฒนาการของสังคมทำให้คำว่าคอร์รัปชั่นมีความหมายกว้างขึ้น คือหมายความรวมถึงการทุจริตฉ้อโกงทุกรูปแบบ (วิทยากร เชียงกูล, 2549:20)

                 การคอร์รัปชั่น เป็นรูปแบบการกระทำความผิดที่เรียกว่า อาชญากรรมคอปกขาว (White Collar Crime) หมายถึง อาชญากรรมซึ่งผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ว่าในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน และได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวในทางไม่ชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ซึ่งในอดีต การให้ความหมายของอาชญากรรมคอปกขาว หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ แสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่การงาน แต่ปัจจุบัน ขอบเขตความหมายได้ขยายไปครอบคลุมถึงการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของผู้ประกอบธุรกิจในภาคเอกชน และการติดต่อสัมพันธ์ในลักษณะเอื้อประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้ดำรงตำแหน่งในราชการ โดยการต่างตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยมิชอบ (จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, 2551:141-142) เช่น การฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างของรัฐบาล, การให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อความสะดวกในการขออนุญาตประกอบการต่างๆ

                ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และการแข่งขันภาคธุรกิจที่รุนแรงมีผลกำไรมหาศาลเป็นเดิมพัน ทำให้การคอร์รัปชั่นหลากหลายไปด้วยรูปแบบและวิธีการ ทั้งการเบียดบังงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ตนหรือพวกพ้อง การรีดไถเรียกค่าตอบแทนจากผู้มีประโยชน์ได้เสีย การรับเงินสินบนต่างๆ การทุจริตได้แผ่ขยายไปสู่โครงการขนาดใหญ่ และกลายเป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีเครือข่ายซับซ้อน มีความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในภาครัฐและเอกชนอย่างแนบเนียน ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) มีความจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มักจะมาพร้อมกับเทคโนโลยี (Technology) และการถ่ายทอดความรู้ (Know-how) จากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เกิดการจ้างงาน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว (อภิรัตน์ จิตต์, 2554:441)

                เมื่อการคอร์รัปชั่นกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงเรื้อรังของประเทศไทย จากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index : CPI) ซึ่งจัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากเป็นอันดับที่ 80 จาก 183 ประเทศ ขณะที่การคอร์รัปชั่นกำลังเป็นวาระของโลก โดยนานาประเทศต่างใช้ความพยายามยกระดับมาตรฐานความแข็งแรงภาครัฐเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น จึงเป็นข้อวิตกว่า การที่ประเทศไทยอยู่ในข่ายของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดแล้ว จะมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากน้อยเพียงไร

 

  1. 2.              ผลกระทบของคอร์รัปชั่น

-                   ด้านเศรษฐกิจ

                ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยนี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าการคอร์รัปชั่นมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการเมื่อต้องมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ การจ่ายเงินอำนวยความสะดวกโดยเป็นค่าดำเนินการเล็กๆน้อยๆเพื่อข้ามขั้นตอนกระบวนการ หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่อรองกับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา การดูแลเลี้ยงดูตามธรรมเนียมคนไทย การกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย และอาจถูกยกเลิกในภายหลังหากถูกจับได้ว่ามีการทุจริตโดยเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการ

                ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาบางกลุ่มกลับมองว่า การคอร์รัปชั่นทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายลดลง เพราะสามารถข้ามขั้นตอนของทางราชการไปได้ ทั้งเงินสินบนก็จะเป็นแรงจูงใจให้ข้าราชการวางแผนกฎเกณฑ์ใหม่ แต่แท้ที่จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้น หากคำนึงถึงผลตอบแทนของสังคม คอร์รัปชั่นเป็นผลเสียหายระยะยาว เพราะจะเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในระบบธุรกิจ เพราะบริษัทผู้ประกอบการที่ไม่มีเส้นสาย ไม่จ่ายสินบน หรือค่าตอบแทนแก่ข้าราชการในการอำนวยความสะดวกเพื่อเข้ารับสัญญา ขออนุญาตต่างๆ ก็จะเสียเปรียบ ส่วนบริษัทที่จ่ายสินบนแก่ข้าราชการก็ไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยธุรกิจ มีความจำเป็นในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ในภาครัฐบาล การคอร์รัปชั่นทำให้เกิดการบิดเบือนในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ เพราะเงินจะถูกนำไปลงทุนในโครงการที่ได้สินบน และได้ส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นมากกว่าโครงการจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเพื่อคนส่วนใหญ่อย่างยั่งยืน (วิทยากร เชียงกูล, 2549:31) ผลกระทบอย่างร้ายแรงในทางเศรษฐกิจสังคมโลก คือการที่นานาประเทศหลีกเลี่ยงที่จะมาลงทุน ประเทศไทยถูกมองว่าด้อยพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยพยายามสร้างกลไกทางกฎหมายไว้ชัดเจนและสามารถบังคับใช้ได้จริงก็ตาม (วิชา มหาคุณ, 2550,หน้า 4) เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

-                   ด้านการพัฒนาประเทศ

ด้วยสภาพสังคมไทยมีความเป็นระบบอุปถัมภ์ (Spoil System) มาแต่ดั้งเดิม และยังคงไม่อาจลบล้างไปจากสังคมไทย ทำให้สาเหตุและปัญหาที่สำคัญของกาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่คนส่วนใหญ่ผูกขาดอำนาจและฐานะทางสังคม การเมืองแทรกแซงระบบบริหารราชการแผ่นดิน การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองแฝงไปด้วยการช่วงชิงการจัดสรรทรัพยากรและจัดสรรผลประโยชน์ เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและระบบราชการ นำไปสู่การผูกขาดทางเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ผู้ประกอบธุรกิจจึงขาดการพัฒนาประสิทธิภาพในระยะยาว การแข่งขันกับต่างประเทศในตลาดโลกจึงเป็นเรื่องยาก

นอกจากนี้ ในการที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสินบนหรือค่าอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการของรัฐ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ประชาชนที่มีฐานะดีกว่า จ่ายสินบนได้มากกว่า ก็มีโอกาสได้รับการบริการจากรัฐมากกว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพจากรัฐลดลง ผลเสียหายทางการเมืองคือ ทำให้ขาดการพัฒนาประชาธิปไตยและการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี (Good Government) ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ, กฎหมาย และความถูกต้อง จนไม่มีจิตสำนึกในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ลุกลามจนเกิดผลเสียหายทางสังคม เมื่อประชาชนเห็นชอบกับระบบอุปถัมภ์ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและความเป็นธรรม จากการที่คนไทยเริ่มเห็นการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ ดังผลสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในวันที่ 6 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่น พบว่า ประชาชน 46% ยอมรับได้ หากมีการคอร์รัปชั่นแล้วตนเองได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งผู้ตอบส่วนใหญ่ 70% เป็นเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งหากปล่อยไว้จะกลืนกินความดีและจริยธรรมในสังคม เมื่อทรัพยากรมนุษย์ไม่มีการพัฒนาค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ะะ

  1. 3.              ปัญหาคอร์รัปชั่นในมุมมองของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์

                นักวิชาการเศรษฐศาสตร์มุ่งเน้นผลกระทบของการคอร์รัปชั่นที่มีต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายรายได้ แอน ครูเกอร์ (Kruger, 1974, อ้างถึงใน ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2553:147) เห็นว่า การคอร์รัปชั่นในหน่วยงานของรัฐ (การติดสินบน) เป็นผลมาจากการที่ประชาชนพยายามที่จะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือกฎเกณฑ์ของรัฐ ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ข้อจำกัดของรัฐ เช่น โควตาการนำเข้า ดังนี้ จะเป็นตัวขัดขวางการดำเนินงานอย่างอิสระของกลไกการตลาด จึงก่อให้เกิด “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” หรือ “ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างเปล่าประโยชน์

                ซาลิม ราชิด (Rashid, 1981, อ้างถึงใน ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2553:147) เห็นว่า การบริการของข้าราชการและของรัฐ เป็นสินค้าที่มีจำกัด คนที่มีฐานะดีเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับสินค้าสาธารณะเหล่านี้ โดยการติดสินบน คอร์รัปชั่นจึงเป็นตัวเพิ่มความไร้ประสิทธิภาพ ถ้าการคอร์รัปชั่นสามารถควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดได้ มันก็จะเป็นตัวหล่อลื่นและเพิ่มประสิทธิภาพของบุคคล แต่เมื่อเกิดการขยายตัวของการคอร์รัปชั่นจนกลายเป็นโรคเรื้อรังของสังคม การคอร์รัปชั่นก็จะเป็นตัวหยุดการเพิ่มประสิทธิภาพ และกลายเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของข้าราชการ สิ่งนี้จะทำให้ข้าราชการพยายามแสวงหาสินบนมากกว่าที่จะทำงานตามที่ตนได้รับมอบหมาย ระบบก็จะถูกเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น และกลายเป็นการเพิ่มการไร้ประสิทธิภาพให้มากขึ้น

                งานศึกษาของมุชตาค เอช คาห์น (Kahn, 1998, อ้างถึงใน ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, 2553:151) เรื่องเกี่ยวกับเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ และพัฒนาการของระบบทุนนิยม คาห์นใช้การวิเคราะห์แบบผสมผสานระหว่าง
อุปสงค์ – อุปทาน ทฤษฎีกรรมสิทธิ์ในการครอบครอง และเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อที่จะบ่งชี้ว่า ภายใต้สภาวการณ์แบบใดที่การคอร์รัปชั่นจะส่งผลในด้านบวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสภาวะแบบใดที่ส่งผลในด้านลบ คาห์นมีความเห็นที่ตรงข้ามกับครูเกอร์ โดยเห็นว่า ค่าเช่าหรือส่วนเกินทางเศรษฐกิจนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ได้ โดยให้ทัศนะว่า นักลงทุนใช้การคอร์รัปชั่นเพื่อให้รัฐบาลจัดสรรสิทธิในการผูกขาดให้กับตน เช่น สิทธิในสัญญาสัมปทาน การเอื้อการผูกขาดก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม คาห์นยอมรับความคิดที่ว่า การคอร์รัปชั่นมีส่วนช่วยในการหล่อลื่นวงล้อของระบบเศรษฐกิจ และเร่งรัดการทำงานของแต่ละบุคคลให้เร็วขึ้น แต่เมื่อสรุปถึงผลที่มีต่อประสิทธิภาพในระยะยาวแล้ว จะเป็นไปในทางลบเสมอ เพราะในที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะหวังแต่สินบนมากกว่าการพยายามทำตามหน้าที่ของตน

                งานวิจัยของคริสเตียน บี จอร์สโก (Christian Bjornskov, 2011, pp.138) ได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่องเหตุผลทางเศรษฐกิจกับการคอร์รัปชั่นว่า ผลกำไรของบริษัท ประกอบด้วยทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การยอมรับภาระค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตประกอบการหรือการทำตามระเบียบ กับ การพยายามจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่แทน เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียม

 

  1. 4.              ภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทย

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัย Gottingen ประเทศเยอรมัน จัดอันดับภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index : CPI) ในประเทศต่างๆทั่วโลกขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา โดยการดำเนินการในการสำรวจระดับความรู้สึก การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศนั้นๆ โดยข้อมูลในการทำ CPI เป็นข้อมูลจากการสำรวจ อาทิ สำนักโพลล์ต่างๆ หน่วยงานวิจัยที่มีชื่อเสียง และสถาบันองค์กรอิสระระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แตกต่างกันในแต่ละปี เช่น Economist Intelligence Unit, สำนักแกลล์ปโพลล์, สถาบันเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ IMD, ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางธุรกิจและทางการเมือง, World Bank World Economic Forum, หน่วยงานในองค์กรสหประชาชาติ เป็นต้น ค่า CPI มีคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชั่นมากที่สุด) – 10 (คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด)

ประเทศไทย

2554

อันดับ   80   (183 ประเทศ)

คะแนน 3.4

2553

อันดับ   78   (178 ประเทศ)

คะแนน 3.5

2552

อันดับ   84   ( 180 ประเทศ)

คะแนน 3.4

2551

อันดับ   80(   180 ประเทศ)

คะแนน 3.5

2550

อันดับ84 ( 179 ประเทศ)

คะแนน 3.3

2549

อันดับ   63   (163 ประเทศ)

คะแนน 3.6   

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สสช. National Statistic Office http://service.nsc.go.th

                           

ข้อมูลจาก http://thaipublica.org/2011/12/7-things-index-corruption-2011/

คะแนน CPI เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรณรงค์ให้รัฐบาลและประชาชนของประเทศต่างๆทั่วโลกได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเองและประเทศอื่นๆทั่วโลก เพื่อความร่วมมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง (จุรี วิจิตรวาทการ, ม.ป.ป.) โดยตั้งแต่มีการจัดอันดับภาพลักษณ์ ปี พ.ศ.2538 จนถึงปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยมีค่าดรรชนีอยู่ระหว่าง 2.79-3.8 เป็นที่ประจักษ์ว่าค่าของดรรชนีอยู่ในระดับต่ำ ภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยอยู่ในระดับที่รุนแรงและเรื้อรังมาตลอดสิบกว่าปี

  1. 5.              สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) หมายถึง การที่ผู้มีถิ่นฐานประเทศหนึ่ง ไปลงทุนอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ การลงดังกล่าวต้องเป็นการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการ และผู้ลงทุนประสงค์จะเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจหรือเป็นเจ้าของ FDI  อาจเรียกว่าบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises : MNs หรือ Multinational Corporation : MNCs)(ชูลีรัตน์ คงเรือง, 2552, หน้า 163)

โดยการที่ประเทศไทยกำลังพัฒนา การที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเอื้อประโยชน์แก่การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น กล่าวคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายความรู้และเทคโนโลยีทางด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการกระจายสินค้าและบริการ เป็นการเพิ่มการแข่งขันในประเทศผู้รับทุน สร้างโอกาสในการพัฒนาเป็นผู้ส่งออก

 

สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ประเทศ/ปี

2548

2549

2550

2551

2552

2553

2554

ม.ค.-มี.ค.55

กลุ่มประเทศอาเซียน

58,361

125,202

76,405

30,053

50,277

38,611

35,256

15,735

ญี่ปุ่น

122,806

88,932

117,832

106,474

46,905

113,544

139,360

130,462

จีน

469

1,089

3,039

519

856

21,340

4,208

1,945

เกาหลีใต้

1,203

3,792

1,370

3,302

3,772

6,876

22,167

157

สหรัฐฯ

30,366

3,296

47,894

5,182

-16,985

23,591

14,378

9,131

ข้อมูลจาก สำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ http://www2.bot.or.th/Statistics

จากตาราง เห็นได้ว่าในปี พ.ศ.2548 ซึ่งขณะนั้นการจัดอันดับดรรชนีคอร์รัปชั่นไทยอยู่ในอันดับ 59 จากประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด ถือว่าเป็นปีที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง แต่หลังจากปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่อยู่ในข่ายของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูง แต่จำนวนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไป

บทสรุป

การคอร์รัปชั่นกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงเรื้อรังของประเทศไทย จากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index : CPI)  ล่าสุดในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากเป็นอันดับที่ 80 จาก 183 ประเทศ ขณะที่การคอร์รัปชั่นกำลังเป็นวาระของโลก โดยนานาประเทศต่างใช้ความพยายามยกระดับมาตรฐานความแข็งแรงภาครัฐเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการคอร์รัปชั่นมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

เมื่อประเทศไทยกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยส่วนหนึ่งต้องอาศัยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมื่อประเทศไทยมีภาวะการคอร์รัปชั่นสูง จึงเกิดข้อวิตกว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากน้อยเพียงไร แต่เมื่อพิจารณาสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแล้ว เห็นว่า มีผู้ประกอบการ นักลงทุนชาวต่างชาติให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนด้านอุตสาหกรรมและบริการอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น เป็นข้อสังเกตว่า สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในประเทศไม่มีผลต่อปัจจัยในการลงทุนของผู้ประกอบการ เป็นข้อสนับสนุนแนวคิดที่ว่า นักลงทุนใช้การคอร์รัปชั่นเพื่อให้รัฐบาลจัดสรรสิทธิในการผูกขาดให้กับตน เช่น สิทธิในสัญญาสัมปทาน การเอื้อการผูกขาดก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม การคอร์รัปชั่นมีส่วนช่วยในการหล่อลื่นวงล้อของระบบเศรษฐกิจ และเร่งรัดการทำงานของแต่ละบุคคลให้เร็วขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ค่าตัวเลข CPI เป็นการสะท้อนความเห็นจากความรู้สึก (Perception) ของผู้ทำธุรกิจกับประเทศต่างๆ อาจไม่สามารถสะท้อนถึงคนในประเทศได้ว่ามีลักษณะคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด และแม้ว่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจะไม่มีความสัมพันธ์กับการคอร์รัปชั่นในประเทศก็ตาม แต่การคอร์รัปชั่นส่งผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว กล่าวคือ การพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการทำงานของภาครัฐเพื่อประชาชนต้องไปในทิศทางเดียวกัน พัฒนาไปพร้อมกัน การคอร์รัปชั่นจะเป็นตัวหยุดการเพิ่มประสิทธิภาพ และกลายเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของข้าราชการ สิ่งนี้จะทำให้ข้าราชการพยายามแสวงหาสินบนมากกว่าที่จะทำงานตามที่ตนได้รับมอบหมาย ระบบก็จะถูกเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น การทำงานของทางราชการก็ขาดประสิทธิภาพ มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์นอกระบบที่จะได้จากผู้ประกอบการ นำไปสู่การผูกขาดทางเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ผู้ประกอบธุรกิจจึงขาดการพัฒนาประสิทธิภาพในระยะยาว

บรรณานุกรม

หนังสือ

จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. (2551). สังคมวิทยาอาชญากรรม. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. (2554). นักการเมืองไทย:จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชั่น. กรุงเทพฯ:

 สายธาร.

วิทยากร เชียงกูล. (2549). แนวทางปราบคอร์รัปชั่นอย่างได้ผล. กรุงเทพฯ: สายธาร.

 

บทความ

จุรี วิจิตรวาทการ. (ม.ป.ป.). ดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นประจำปี พ.ศ.2554 . สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2555, จาก http://www.transparency-thailand.org

ชูลีรัตน์ คงเรือง. (2552). ช่องทางและปัจจัยที่กำหนดผลกระทบภายนอกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ. วารสารสงขลานครินทร์ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 15(1), 163.

วิชา มหาคุณ. (2550). นโยบายของรัฐกับการปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบกับผลประโยชน์ทับซ้อน. วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์, 1(8), 4-5.

Bjornskov Christian. (2011). Combating Corruption: On the Interplay between Institution Quality and Social Trust. The Journal of Law and Economics,

หมายเลขบันทึก: 502798เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2012 07:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลเยอะมากเลยครับ เราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท