สกัดความรู้จากโครงการ "สรอ. ขอความรู้" (4) เว็บไซต์หน่วยงานราชการ


เว็บไซต์หน่วยงานราชการที่ท่านชื่นชอบ หรือเว็บไซต์บริการของรัฐที่ดีในความเห็นของท่านควรมีคุณสมบัติอย่างไร”

ปัจจุบันหน่วยงานราชการได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะสามารถติดต่อสอบถามขอข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของส่วนราชการได้สะดวกยิ่งขึ้น 

GotoKnow และสรอ.(EGA) จึงได้ร่วมมือกันกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความรู้และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อการพัฒนาระบบบริการเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของประเทศ เป็นประเด็นที่สามขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16-30 มิถุนายน 2555 โดยขอเชิญชวนสมาชิก GotoKnow ทุกคนร่วมบันทึกถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้เรื่อง "เว็บไซต์หน่วยงานราชการที่ท่านชื่นชอบ หรือเว็บไซต์บริการของรัฐที่ดีในความเห็นของท่านควรมีคุณสมบัติอย่างไร"   ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านบล็อกเป็นจำนวนมากโดยสามารถรวบรวมและสรุปประเด็นต่างๆ  ได้ดังนี้ 

 

เว็บไซต์หน่วยงานราชการที่ชื่นชอบ

เว็บไซต์หน่วยงานราชการที่ได้รับความชื่นชอบ ได้แก่ เว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   www.Chulalongkornhospital.go.th, เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ., เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ, เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม,  เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา,  เว็บไซต์ของสภาการพยาบาล,  เว็บไซต์คุรุสภา,  เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์,  เว็บไซต์กรมสรรพากร,  เว็บไซต์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ www.studentloan.or.th  เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน http://www.doe.go.th, เว็บไซต์ สสส. และเว็บไซต์โรงพยาบาลสวนดอก  

 

ปัญหาที่พบในเว็บไซต์หน่วยงานราชการ 

ปัญหาที่พบในเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการส่วนใหญ่มักถูกใช้เป็นพื้นที่ "แสดงวิชา" ของคนทำเว็บของหน่วยงานนั้น เช่น มี Flash มีภาพเคลื่อนไหว มีเสียง มีตัวอักษรวิ่ง เปลี่ยน cursor มี background แปลกๆ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย  แต่สิ่งที่ลืมไปส่วนใหญ่คือ "ใส่เนื้อหา"   อีกทั้งมักไม่มีความเป็นปัจจุบัน  และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เอื้ออำนวยแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุมากนัก  

 

คุณสมบัติของเว็บไซต์หน่วยงานราชที่ดี

คุณสมบัติของเว็บไซต์หน่วยงานราชการที่ดี  ผู้ใช้ควรสามารถเรียนรู้การใช้ได้ง่าย จดจำการใช้งานได้ง่าย สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานที่ต้องการสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว  มีความถูกต้อง  ต้องแทบจะไม่พบข้อผิดพลาด (Errors)  ผู้ใช้มีความพึงพอใจในการใช้งาน ใช้แล้วรู้สึกมีความสุข อยากกลับมาใช้อีก   มีข้อมูลเป็นปัจจุบัน ข้อมูลทันสมัยสม่ำเสมอ  มีเนื้อหาที่ครอบคลุมงานของหน่วยงานตน  ขนาดตัวอักษรควรมีความเหมาะสม สีพื้นควรทำเพื่อให้อ่านได้อย่างชัดเจนและง่าย เมนูหรือรายการของเว็บไซต์ ต้องชัดเจน สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ง่าย รวดเร็ว คลิกครั้งเดียวก็สามารถเข้าถึงทันที เว็บไซต์หน่วยงานราชการควรมีลักษณะ คือ ความเป็นประชาธิปไตย ทุกคนสามารออกความคิดเห็นสอบถามเรื่องราวต่างๆ ได้  

 

สิ่งที่อยากเห็นจากเว็บไซต์หน่วยงานราชการไทยในอนาคต

อยากเห็นเว็บไซต์หน่วยงานราชการของไทยในอนาคต ได้แก่  อยากเห็นเว็บไซต์เป็นที่พึ่งของเด็กๆ ระดับเยาวชนคนของชาติ   อยากเห็นเว็บไซต์ราชการที่แนะนำเด็กๆ ไม่ให้หลงเดินทางผิดติดเกมหรือการพนัน  ต่าง ๆ  อยากเห็นเว็บไซต์สอนเด็กๆ ให้ทำความดี  อยากเห็นเว็บไซต์เป็นที่พึ่งของคนยากคนจนเพื่อหูตาสว่างสร้างชีวิตให้ร่ำรวยช่วยเหลือตนเองได้ด้วยตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน อยากเห็นเว็บไซต์เป็นช่องทางการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ อยากเห็นเว็บไซต์อเนก - ประสงค์ค้นหาในสิ่งที่ต้องการได้ อยากเห็นเว็บไซต์ช่วยเหลือคนหลงทาง อยากเห็นเว็บไซต์แนะนำให้ความช่วยเหลือเหมือนมีเจ้าของบ้านคอยต้อนรับและนำพาไปยังสิ่งที่เราต้องการได้  อยากเห็นเว็บไซต์แนะนำประเทศไทย  ผู้บริหารประเทศไทย  รวมถึงวัฒนธรรมไทย วิถีไทย   อยากให้มีเว็บไซต์ที่สามารถเป็นสำนักงานออนไลน์ได้ อยากให้มีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมสำหรับความรับผิดชอบในหน่วยงานนั้นๆ  และอยากให้เว็บไซต์มีลักษณะที่เน้นบริการสังคมมากกว่าการโฆษณา

 

หลักที่ดีในการทำเว็บไซต์ 

หลักในการทำเว็บไซต์ที่ดี  ควรมีการศึกษาและวางแผน  (Study and Plan = S&P)  ลงมือปฏิบัติเรียนรู้ (Do and Learn = D&L)  ตรวจสอบ และดู (Check and See =Ch&S)  นำไปใช้ต่อไป และพัฒนา (Implement and Develop= I&D)  นอกจากนี้เว็บไซต์ควรมีคณะกรรมการผู้รับผิดชอบในการจัดทำเว็บไซต์    มีมาตรฐานการปฏิบัติงานว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรระดับบริหารของหน่วยงานเกี่ยวกับการบริหาร และการพัฒนาเว็บไซต์เป็นระยะๆ ด้านเนื้อหาควรมีเนื้อหาหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็น วีดิโอ ภาพนิ่ง เสียง และหลายอย่างผสมผสานกัน มีบริการเสริม เช่น โปรแกรมระบบ chat , video conference หรือเบอร์โทรศัพท์สายตรงไปยังแผนก ฝ่าย หรือบุคคลผู้รับผิดชอบโดยตรง

 

นโยบายการปฏิรูปการบริหารราชการของรัฐ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้

ภาครัฐมีนโยบายการปฏิรูปการบริหารราชการ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในการให้บริการแก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันในรูปแบบหน่วยงานของรัฐกับประชาชน (Government to Citizen : G2C), หน่วยงานของรัฐกับเอกชน (Government to Business : G2B) ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน (Government to Government : G2G) เพื่อยกระดับมาตรฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยให้มีความพร้อมเทียบเท่าระดับสากล รวมทั้งต้องการผลักดันและสนับสนุนให้มีระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น

การพัฒนาระบบการให้บริการผ่านเว็บไซต์ เป็นอีกช่องทางในการพัฒนาองค์กร เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้นอย่างครบถ้วน ครอบคลุมและทั่วถึง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในประเทศ ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาบุคลากรในองค์กรเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในระบบการให้บริการ ซึ่งต้องกระทำควบคู่กับ การพัฒนาประสิทธิภาพอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศไปด้วย

 

สถิติของรายการบันทึกทั้งหมดที่ใส่คำสำคัญ “เว็บไซต์หน่วยงานราชการ” 

  • จำนวนบันทึกรวม 39 รายการ
  • จำนวนการอ่านรวม 8,256 ครั้ง
  • จำนวนการให้ดอกไม้ (ให้ความชอบ) รวม 493 ครั้ง
  • จำนวนความคิดเห็นรวม 309 รายการ
 
อ่านต่อได้ในฉบับเต็ม
 
http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/834/527/original_egov_websites.pdf
 

ผู้สนับสนุน

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สรอ. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีระบบการบริหารงานจัดการที่เป็นอิสระจากระบบราชการ ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของประเทศไทย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สรอ. ได้ที่ www.ega.or.th

 
 
 
หมายเลขบันทึก: 502793เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณท่าน ดร.ที่นำมาขยายผลอีกครั้งค่ะ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า คุณสมบัติของเว็บไซต์ที่ดี คือ มี Content and e-Service ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ (ประชาชน, เอกชน, หน่วยงานของรัฐ) โดยนำใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการพิจารณาควบคู่กับการบูรณาการ e-Service และการปรับนโยบาย กฎ ระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท