สมรรถนะของฝ่ายบุคคล


สมรรถนะของฝ่ายบุคคลพึงมี 6 ประการคือ เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ นักสร้างนวัตกรรมและบูรณาการ นักวางกลยุทธ์ ผู้สร้างขีดความสามารถ แชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง และผู้ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี

สมรรถนะของฝ่ายบุคคล

Global HR Competencies

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

14 มกราคม 2558

บทความเรื่องสมรรถนะของฝ่ายบุคคลนี้ นำมาจากหนังสือเรื่อง Global HR Competencies: Mastering Competitive Value from the Outside In ประพันธ์โดย Dave Ulrich, Wayne Brockbank, Jon Younger, และ Mike Ulrich

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ Download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/global-hr-competencies

ตอนที่ 1 การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจและการตอบสนองของฝ่ายบุคคล

โลกในปัจจุบัน

  • มีการเชื่อมโยงถึงกันสะดวกขึ้น มีการลงทุนข้ามชาติเพิ่มขึ้น
  • ประเทศกำลังพัฒนามีการเจริญเติบโต และมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มีการออกกฎหมายควบคุมเพื่อความยั่งยืนของโลก
  • มีตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงจากค่าแรงราคาถูก มาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีนวัตกรรม
  • การแข่งขันทางการตลาด มีกฎควบคุมมากขึ้น
  • การติดต่อสื่อสารราคาถูกลง และมีความเร็วเพิ่มขึ้น
  • ชนชั้นกลางมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยร้อยละ 80 มาจากประเทศแถบเอเชีย

ความได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นสิ่งที่องค์กรต้องสร้างขึ้นมา จากการตั้งคำถามเหล่านี้คือ :

  • องค์กรมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการเรียนรู้หรือไม่?
  • องค์กรมีวัฒนธรรมที่มีความสามารถในการอ่อนตัว การปรับตัว และความคล่องตัวหรือไม่?
  • องค์กรมีวัฒนธรรมด้านความคล่องแคล่ว รวดเร็ว และเป็นเชิงรุกหรือไม่?

จุดมุ่งหมายของฝ่ายบุคคล

  • ต้องมีความรับผิดชอบในประเด็นคนเก่งและประเด็นขององค์กร ประเด็นคนเก่งคือเสาะหาคนเก่ง ที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรม ในสายตาของลูกค้าและความต้องการด้านการแข่งขัน ประเด็นขององค์กรคือ การทำให้บุคลากรทำงานร่วมกัน มีวิธีคิด มีพฤติกรรมร่วมกัน ก่อเกิดความสามารถในการแข่งขัน
  • มีส่วนในการเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร หลักเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้ว่า การกระทำใดในองค์กร ที่ไม่ได้นำเงินสดเข้าองค์กร เป็นการกระทำที่สูญเปล่า นั่นคือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาแล้ว ไม่มีใครต้องการ มีค่าเท่ากับศูนย์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นฝ่ายบุคคลต้องเห็นตลอดเป็นแนวทาง (line of sight) ถึงลูกค้าภายนอกด้วย
  • สร้างทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้และความยั่งยืนขององค์กร เช่น:
    • มีผลลัพธ์ที่สม่ำเสมอและพยากรณ์ได้
    • สร้างเสริมกลยุทธ์เพื่อธุรกิจในอนาคต สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า สร้างนวัตกรรม และการขยายตัวสู่ภูมิภาคอื่น ๆ
    • ลงทุนในความสามารถหลัก (core competencies)
    • สร้างความสามารถขององค์กร เช่น ความร่วมมือ ความรวดเร็ว ความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ภาวะผู้นำ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • ฝ่ายบุคคลควรมองตนเองว่าเป็นพื้นฐานในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และมีแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้

การปฏิรูปสมรรถนะของฝ่ายบุคคล

1987 Model

  • สมรรถนะของฝ่ายบุคคลมี 3 ประการคือ ความรู้ทางธุรกิจ การทำหน้าที่ฝ่ายบุคคล และ บริหารการเปลี่ยนแปลง (knowledge of the business, delivery of HR practices, and management of change)
  • ฝ่ายบุคคลเริ่มมีบทบาท ในการบริหารงานขององค์กร

1992 Model

  • ความรับผิดชอบส่วนบุคคล (personal credibility) เป็นบทบาทที่เสริมเข้ามาในฝ่ายบุคคล นั่นคือการทำงานร่วมกับผู้นำระดับสูง มีการติดต่อสื่อสารที่ดี สร้างผลลัพธ์อย่างมีคุณธรรม
  • การบริหารการเปลี่ยนแปลงมีบทบาทมากขึ้น ฝ่ายบุคคลเริ่มสนใจด้านกลยุทธ์ขององค์กร เพิ่มจากการดูด้านการปฏิบัติการ

1997 Model

  • การบริหารวัฒนธรรม (cultural management) เป็นบทบาทเพิ่มเติมของฝ่ายบุคคล
  • ฝ่ายบุคคลเป็นผู้ระบุและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร ที่ช่วยให้องค์กรบรรลุกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยการรวบรวมความรู้ รูปแบบของความคิด และการบูรณาการของการปฏิบัติการ
  • ในองค์กรที่เป็นเลิศ ฝ่ายบุคคลจะมีความรู้เกี่ยวกับลูกค้า คู่แข่ง แนวโน้มของตลาด ในระดับโลก มากกว่าองค์กรทั่วไป นั่นคือ มีแนวทางการมองถึงนอกองค์กรด้วย (an external line of sight)

2002 Model

  • บทบาทในการร่วมกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร (strategic contributor)
  • เป็นการบูรณาการของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และความต้องการของตลาด
  • ความต้องการของตลาด เป็นความรู้ใหม่ของฝ่ายบุคคล ที่ต้องรู้สิ่งแวดล้อมภายนอก สิ่งแวดล้อมภายในทั้งองค์กร เครื่องมือทางการตลาด และข่าวสารที่สำคัญทางการตลาด
  • การทำหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ฝ่ายบุคคลมีส่วนช่วยองค์กร ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า การแข่งขัน และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2007 Model

  • การสร้างขีดความสามารถขององค์กร (organization capabilities) เป็นหน้าที่สำคัญต่อของฝ่ายบุคคล มี 3 ประการคือ ประการแรก การสร้างกลยุทธ์การมุ่งเน้นลูกค้า ประการที่สอง การบริหารการเปลี่ยนแปลง ประการที่สาม การบริหารคนเก่งให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร
  • การทำงานอย่างบูรณาการของฝ่ายบุคคล ทำให้ทุกฝ่ายมีความคาดหวังกับฝ่ายบุคคลมากขึ้น
  • มีแนวโน้มเรื่องการบริหารคนเก่ง (talent management) กับการออกแบบขององค์กร (organization design) อย่างมีความสำคัญ ที่ส่งผลต่อธุรกิจ

2012 Model

  • ฝ่ายบุคคล มี 6 องค์ประกอบของสมรรถนะที่สำคัญ คือ

1. เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ (Credible activist) คือทำในสิ่งที่พูด ทำให้เกิดความไว้วางใจ มีทักษะในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคล มีความอ่อนตัวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย มีอิทธิพลที่มีผลต่อการสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ มีการตัดสินใจที่ใช้ข้อมูล และใช้ความคิดอย่างรอบคอบ

2. เป็นนักกำหนดกลยุทธ์ (Strategic positioner) มีความเข้าใจบริบทของธุรกิจระดับโลก ทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ภูมิประเทศ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์

  • มีความเข้าใจโครงสร้างในอุตสาหกรรมของตนเอง พลวัตของการแข่งขันของตลาด รวมทั้งแนวโน้มของลูกค้า คู่แข่งขัน และผู้ส่งมอบ สามารถนำความรู้มาพัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร
  • มีส่วนร่วมในการพัฒนากลยุทธ์ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า กำหนดเป้าประสงค์ และแปลงกลยุทธ์เป็นแผนปฏิบัติการ

3. เป็นนักสร้างขีดความสามารถ (Capability builder) ฝ่ายบุคคลเป็นผู้กำหนด ตรวจสอบ และควบคุม ขีดความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรถนัดหรือทำได้ดีที่สุด เช่น การสร้างนวัตกรรม ความรวดเร็ว การมุ่งเน้นลูกค้า เป็นต้น

  • ฝ่ายบุคคลสามารถช่วยผู้จัดการสายงานต่าง ๆ ในการกำหนดขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อใช้สร้างคุณค่าให้กับองค์กร

4. เป็นแชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change champion) ฝ่ายบุคคลเป็นผู้สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

  • การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต้องอาศัยความจริงทางธุรกิจ และเอาชนะแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ และมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติอย่างจริงจัง
  • การเปลี่ยนแปลงเกิดความยั่งยืน ทำได้โดยจัดสรรทรัพยากรคือ เวลา คน เงิน และสารสนเทศ อีกทั้งมีการเรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว

5. เป็นนักนวัตกรรมและนักบูรณาการ (HR innovator and integrator) ฝ่ายบุคคลมีความสามารถในการบูรณาการ การปฏิบัติทางบุคลากร และประเด็นสำคัญทางธุรกิจ

  • มีการลำดับความสำคัญของผลลัพธ์ ที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถไปสู่การปฏิบัติ อย่างมีวินัยและมีความสม่ำเสมอ ทำให้ผลลัพธ์ขององค์กรออกมาได้ดี
  • มีการสร้างนวัตกรรม ของฝ่ายบุคคล กระบวนการ และโครงสร้าง ที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจ

6. เป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยี (Technology proponent) ระบบสารสนเทศของฝ่ายบุคคล ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสวัสดิการ การจ่ายเงินเดือน ทุนด้านสุขภาพ การบันทึกประวัติ ฯลฯ

  • ในองค์กรที่เป็นเลิศ ฝ่ายบุคคลมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มอีก 2 ประการ ประการแรกคือ โลกสังคมออนไลน์ ที่ช่วยให้บุคลากรมีการติดต่อกันภายใน รวมถึงการติดต่อของบุคลากรกับลูกค้าภายนอกด้วย ประการที่สองคือ ฝ่ายบุคคลมีบทบาทมากขึ้นทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการคัดกรองสารสนเทศที่นำมาเป็นความรู้ขององค์กร และมีการแบ่งปันความรู้ในองค์กรด้วย
  • บทบาทใหม่ของฝ่ายบุคคลทางด้านเทคโนโลยีจึงเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร

สรุปตอนที่ 1

  • ฝ่ายบุคคลต้องมุ่งเน้นการมองจากภายนอกเข้ามาในองค์กร
  • สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายนอกและภายในองค์กร
  • เป็นผู้นำและผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง
  • สร้างขีดความสามารถให้องค์กร โดยการปฏิบัติของฝ่ายบุคคลที่เป็นการสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ
  • มีการใช้เทคโนโลยีอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อความมีประสิทธิภาพ และการเชื่อมโยงขององค์กร

ตอนที่ 2 ความท้าทายทางธุรกิจ สมรรถนะของฝ่ายบุคคล และความสามารถในการแข่งขัน ของ 9 ภูมิศาสตร์ที่สำคัญ

  • เป็นผลจากการทำวิจัย ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก 6 ครั้ง (1987, 1992, 1997, 2002, 2007, 2012) โดยใช้ 6 สมรรถนะของฝ่ายบุคคลพึงมี (2012 Competency Model) เป็นหลักในการประเมินผล

อาฟริกา เป็นทวีปใหญ่ลำดับที่สองของโลก มีประชากรรวมกันประมาณพันล้านคน

  • หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีประเทศเกิดใหม่ประกาศอิสรภาพมาก ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนจากเอเชียเพิ่มขึ้น
  • มีจุดแข็งคือ ฝ่ายบุคคลมีความรับผิดชอบ มีการบริหารการเปลี่ยนแปลง และมีกลยุทธ์
  • โอกาสพัฒนาคือ ด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และความน่าเชื่อถือ
  • สรุป ฝ่ายบุคคลในอาฟริกามีพื้นฐานที่ดี น่าจะมีอนาคตที่ดี จากสถิติ พบว่า 14% (0.144 R2) ของสมรรถนะฝ่ายบุคคลทั้ง 6 ประการ มีผลกระทบต่อด้านธุรกิจ

ออสเตรเลีย เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดและเป็นทวีปที่เล็กที่สุดในโลกมีประชากร 22.5 ล้านคน คิดเป็น 0.3% ของพลเมืองโลก ฝ่ายบุคคลมีการศึกษาสูง ส่วนมากเป็นเพศหญิง นิวซีแลนด์ บุคลากรที่ทำงาน 33% เป็นต่างชาติ และ 71% อยู่ภาคบริการ ฝ่ายบุคคลเริ่มมีการพัฒนา

  • ฝ่ายบุคคลทั้งสองประเทศไม่มีความแตกต่าง แต่องค์กรในออสเตรเลียมีขนาดใหญ่กว่า
  • จุดแข็งคือ การสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ การสร้างกลยุทธ์ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง ส่วนโอกาสพัฒนาของฝ่ายบุคคลคือ การใช้เทคโนโลยี การจัดการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการนำกลยุทธ์ไปสู่แผนปฏิบัติการ

ประเทศจีน มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีปัญหาเรื่องมลภาวะ มีการบริโภคพลังงานและวัตถุดิบสูง มีค่าแรงถูก สวัสดิการแรงงานต่ำ ทำให้การเจริญเติบโตไม่ยั่งยืน

  • สิ่งที่จีนต้องการคือ แรงงานที่มีความรู้ และเป็นคนเก่ง เพื่อเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าราคาถูก เป็นสินค้าเทคโนโลยีที่มีคุณค่า
  • ดังนั้น ฝ่ายบุคคลของจีนต้องเร่งพัฒนาตนเองใน 3 ด้านคือ การสร้างขีดความสามารถ แชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง และการบริหารและพัฒนาคนเก่ง
  • ข้อเสนอแนะให้ฝ่ายบุคคลคือ การเรียนรู้เรื่องธุรกิจและออกแบบฝ่ายบุคคลให้สอดคล้อง เรียนรู้เรื่องการคิดอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ

สหภาพยุโรป มีชาติสมาชิก 27 ประเทศ ประชากร 500 ล้านคน พื้นที่รวมใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา ภาษาราชการ 23 ภาษา มีอัตราคนว่างงานสูง มีเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน มีความเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวของสินค้า บริการ บุคคล และเงินทุน

  • ฝ่ายบุคคลมีลักษณะเฉพาะและหลากหลาย มีขีดสมรรถนะทั้ง 6 ประการต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของโลก เป็นเพราะฝ่ายบุคคลมองเฉพาะภายในองค์กรไม่ได้มองโลกภายนอก
  • ดังนั้นฝ่ายบุคคลในยุโรปควรรีบปรับปรุงในเรื่อง การใช้เทคโนโลยี มีความรับผิดชอบ การสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ และแชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง

อินเดีย เป็นประเทศที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากตั้งแต่ ค.ศ. 1992 เป็นต้นมา มี GDP เป็นลำดับที่ 9 และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นลำดับที่ 2 ของโลก

  • จากการประเมินฝ่ายบุคคล พบว่ามีคะแนนสูงโดยเฉพาะความรับผิดชอบ การสร้างขีดความสามารถ การเป็นแชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง และการมีนวัตกรรม
  • ส่วนการมีส่วนร่วมในการวางแผนกลยุทธ์ และการใช้เทคโนโลยี ยังมีโอกาสปรับปรุง

กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ประกอบด้วย 20 ประเทศเอกราช ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสมาก่อน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ส่งออกแร่ธาตุต่าง ๆผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร น้ำมันและก๊าซ มีเศรษฐกิจที่ผันผวน การคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหา แรงงานมีมากแต่คนเก่งมีน้อย

  • ฝ่ายบุคคลมีจุดเด่นคือ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง (ในลาตินอเมริกา ความสัมพันธ์ส่วนตัวมีอิทธิพลสูงในการทำงาน) แต่ด้านการสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ ในงานฝ่ายบุคคลเป็นโอกาสในการพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีต้องรีบปรับปรุง

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนัก มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เกิดความไม่สงบทางการเมืองในหลายประเทศ รวมถึงการเกิดเศรษฐกิจถดถอยของโลก ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐานะของประเทศ ที่รัฐบาลต้องจัดงบประมาณเข้ามาสนับสนุนทางธุรกิจ

  • มีการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะด้านการบิน 35,000 คน การดูแลรักษาสุขภาพ 1,500,000 คน จึงต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก คนงาน 2 ใน 3 เป็นชาย
  • ความท้าทายของฝ่ายบุคคลจึงมีสูงในทุกด้าน โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ และการใช้เทคโนโลยี

อเมริกาเหนือ การถดถอยทางเศรษฐกิจของอเมริกา เริ่มในปี ค.ศ. 2007 ทำให้รัฐบาลกลางของอเมริกา ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก แรงงานมีหลายรุ่น ตั้งแต่ Mature, Baby Boomer, Gen X, Gen y และประชากรสูงอายุมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพศหญิงมีบทบาทในการบริหารองค์กรเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจปรับตัวจากการเป็นผู้ผลิต มาเป็นเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน

  • ฝ่ายบุคคลในอเมริกาแนวโน้มเข่นเดียวกับระดับโลก โดย 6 ปัจจัยที่ใช้ประเมิน มีค่าของความสัมพันธ์กับผลงานทางธุรกิจ (R2 = .479) สูงกว่าของระดับโลก (R2 = .425)
  • สิ่งที่ฝ่ายบุคคลทำได้ดีคือ แชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง การใช้เทคโนโลยี และ การสร้างขีดความสามารถ สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ การมีส่วนในการวางกลยุทธ์ การสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ และการเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ

ตุรกี เคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่คือ อาณาจักรออตโตมัน เป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการเลือกทางเดินที่มีทั้งความเป็นตะวันตกและตะวันออก มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีประชากร 75 ล้านคน เป็นมุสลิม 99.8% และเป็นชาติมุสลิมชาติเดียวใน NATO

  • ฝ่ายบุคคลขึ้นกับขนาดของบริษัท เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีการสร้างขีดความสามารถ แชมป์บริหารการเปลี่ยนแปลง และการสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ
  • จากข้อมูลและการสัมภาษณ์ ฝ่ายบุคคลในตุรกี มีส่วนในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศตุรกี ที่มีความหลากหลาย เป็นพลวัต และมีการขยายตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นความท้าทายที่น่าสนใจ

ตอนที่ 3 การบูรณาการของความแตกต่าง

  • เป็นความท้าทายของฝ่ายบุคคล ในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ การนำ การประสานงาน การกระตุ้น การวางแนวทางให้สอดคล้อง การฝึกอบรม การพัฒนา การประเมิน และการมอบอำนาจ
  • งานบริหารบุคคล ไม่ใช่งานตรงไปตรงมาเหมือนการสร้างจรวด แต่เป็นงานที่ซับซ้อน มีความท้าทาย เพราะธรรมชาติของบุคคลที่มีความหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมและความเชื่อ
  • สมรรถนะของฝ่ายบุคคล 6 ประการที่รวบรวมมาจากการวิจัย จะช่วยยกระดับบทบาทของฝ่ายบุคคลที่มีต่อองค์กร ในการมีส่วนช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้

แนวโน้มระดับโลก

  • โลกในปัจจุบัน ไม่มีการแบ่งแยกระดับของประเทศอีกต่อไป (The World is Flat) ทุกองค์กรมีโอกาสในการเสาะหาคนเก่งเข้ามาร่วมงาน
  • Thomas Friedman กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่คนเก่ง (Talent) มีความสำคัญกว่าภูมิภาค องค์กรพยายามหาคนเก่งในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน
  • ฝ่ายบุคคลจึงมีบทบาทในการหาคนเก่งเข้ามาทำงานให้กับองค์กร และฟูมฟักให้ทำงานได้เข้ากับองค์กร

สมรรถนะฝ่ายบุคคลแบบทั่วไปและแบบเฉพาะเป็นรายบุคคล

  • สมรรถนะของฝ่ายบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด จากผลการวิจัยพบว่า มี 6 ประการที่สำคัญ ซึ่งฝ่ายบุคคลในทุกธุรกิจ ที่มีความเป็นเลิศระดับโลกให้ลำดับความสำคัญดังนี้
  • 1. Credible Activist
  • 2. HR Innovator and Integrator
  • 3. Strategic Positioner
  • 4. Capacity Builder
  • 5. Change Champion
  • 6. Technology Proponent
  • ดังนั้น สมรรถนะระดับบุคคล ของฝ่ายบุคคลที่มีผลกระทบกับผลงานคือ การเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ การสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ และการมีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์

ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกันออกไป

  • เมื่อถามถึงสมรรถนะของฝ่ายบุคคล ที่มีผลกระทบกับผลลัพธ์ขององค์กร ว่าข้อใดมีความสำคัญ ซึ่งผลปรากฏออกมาตามลำดับคือ
  • 1. HR Innovator and Integrator
  • 2. Technology Proponent
  • 3. Capacity Builder
  • 4. Change Champion
  • 5. Strategic Positioner
  • 6. Credible Activist
  • หมายถึงเพื่อผลลัพธ์ที่ออกมาดี ควรมุ่งเน้นสมรรถนะของฝ่ายบุคคลเรื่องการสร้างนวัตกรรมและการบูรณาการ การใช้เทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถ

ฝ่ายบุคคลในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับ

  • แรงผลักดันระดับโลก ของบริษัท 4 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ระหว่างชาติ และระดับโลก
  • ความหลากหลายของประชากร ขึ้นกับภูมิภาคที่ต่างกันไป
  • การเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี ทำให้บุคคลมีการคิดและการกระทำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • การปรับตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการเปลี่ยนแปลงในแต่ละภูมิภาคที่ไม่เท่ากัน
  • ดังนั้นฝ่ายบุคคลอาจต้องปรับตัวเป็นแบบ หน่วยเล็ก ๆ (Granular) แบ่งไปตามหน่วยงานขององค์กร หรือแบ่งไปตามตลาด โดยมีจุดเน้นที่ คนเก่ง ขีดความสามารถองค์กร และภาวะผู้นำ (Talent, Organizational Capabilities, and Leadership)

คนเก่ง (Talent)

  • คนเก่งมีความสำคัญต่ออนาคตขององค์กร การบริหารคนเก่งจะส่งผลต่อผลิตภาพขององค์กร ด้านการเงิน และด้านลูกค้า
  • การบริหารคนเก่งของฝ่ายบุคคล แทนที่จะกระทำนาน ๆ ครั้ง ต้องปรับให้เป็นวินัยและกระทำอย่างสม่ำเสมอ ควรมีแผนระยะยาว มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือองค์กร เปลี่ยนจากสมดุลระหว่างงานกับชีวิตเป็นการบูรณาการงานกับชีวิต จากในประเทศเป็นระดับโลก และจากความมั่นคงของอาชีพเป็นความยืดหยุ่นในอาชีพ
  • ฝ่ายบุคคลมีส่วนช่วยบริหารคนเก่ง เพื่อความยั่งยืนขององค์กร

ขีดความสามารถขององค์กร (Organizational Capabilities)

  • เป็นสิ่งที่องค์กรทำได้ดี เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ในการส่งมอบคุณค่า
  • องค์กรในอนาคตจะมีขีดความสามารถคือ ความอ่อนตัว (Flexibility) ความร่วมมือ (Collaboration) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ความซับซ้อน (Complexity) ความมีคุณธรรม (Integrity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)
  • ซึ่งฝ่ายบุคคลต้องให้ความสนใจ

ภาวะผู้นำ (Leadership)

  • การสร้างผู้นำและวางระบบการนำทั้งองค์กร เป็นบทบาทที่มีความสำคัญของฝ่ายบุคคล เพื่อความยั่งยืนอย่างยาวนานขององค์กร คือ
  • การปรับเปลี่ยนจากวิธีสั่งการแล้วควบคุม (Command and Control) มาเป็นโค้ช สร้างความร่วมมือ และมีการสื่อสาร (Coach, Collaboration and Communication)
  • จากเพราะเหตุใดและอะไร (Why and What) เป็นอย่างไร (How)
  • จากผู้นำ (Leader) เป็นภาวะผู้นำ (Leadership)

สมรรถนะของฝ่ายบุคคลในอนาคต จากผลการวิจัย คาดว่าสมรรถนะในอนาคตของฝ่ายบุคคลอาจจะปรับเปลี่ยนเป็น

  • การเปลี่ยนแปลงบริบทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Context and Stakeholder Changes)
  • การปรับเป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ ตามสายงาน (HR Granularity)
  • คนเก่ง (Talent)
  • การสร้างขีดความสามารถขององค์กร (Organizational Capabilities)
  • ภาวะผู้นำ (Leadership)

สรุป

  • จากผลการวิจัย ฝ่ายบุคคลควรมีการเรียนรู้โดยมีมุมมองจากภายนอกเข้ามาภายในองค์กร นั่นคือ มีความเข้าใจในเรื่องสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และแนวโน้มของประชากร รวมถึงลูกค้า นักลงทุน กฎหมาย และชุมชน
  • สมรรถนะของฝ่ายบุคคลพึงมี 6 ประการคือ เป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ นักสร้างนวัตกรรมและบูรณาการ นักวางกลยุทธ์ ผู้สร้างขีดความสามารถ แชมป์การบริหารการเปลี่ยนแปลง และผู้ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี

**************************

หมายเลขบันทึก: 583960เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2015 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2015 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท