วิถีนายฮ้อย..๒


ผมลากเจ้า กน 3456 ขอนแก่น ไปเรื่อยๆบนถนนขอนแก่น-ท่าพระ-โกสุมพิสัย ถนนดีมาก รถมีพอสมควร ไม่มากไม่น้อย อากาศดีมาก ผมเปิดกระจก แม้ว่าจะมีฝุ่นละอองเล็กๆเข้ามาบ้างก็ไม่เป็นไร อยากได้บรรยากาศธรรมชาติมากกว่า ที่ท่าพระ ผมแวะไปที่สถานีรถไฟเพื่อซึมซับบรรยากาศเก่าๆที่เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ผมเห็นควายมากมาย มากมายจริงๆถูกกลุ่มคนไล่เลาะถนนมาหยุดที่บริเวณว่างชานชลาของสถานีรถไฟท่าพระ เพื่อเอาควายทั้งหมดขึ้นรถไฟไปลงปลายทางตามแผนงานของนายฮ้อย สมัยนั้นผมยังไม่รู้จักนายฮ้อย แต่ตื่นตาตื่นใจกับควายจำนวนมากมาย ตั้งคำถามในใจว่าจะเอาไปไหนกัน

สมัยนั้นผมทำงานกับโครงการพัฒนาเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกย่อๆว่า NERAD ของกระทรวงเกษตรฯ สมัยนั้นคือยุค อีสานเขียว โครงการนี้สนับสนุนงบประมาณโดย USAID ผมสังกัดกรมวิเทศสหการ เป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรม มีค่าตัวถูกมากๆ แค่ 15,000 บาท ฝรั่งที่มาทำงานในโครงการนี้ ส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัย Kentucky อเมริกา มีคุณ Iain A Craig คนเดียวที่เป็นชาวสก๊อต

ที่โครงการ NERAD นี้ ผมมีเรียนรู้เพิ่มขึ้นมากมายจากการปฏิบัติงานร่วมมือกับฝรั่งและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นวัตกรรมที่กระฉ่อนไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้คือ เทคนิค PRA หรือ Participatory Rapid Appraisal ในเมืองไทยนั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่ขอนแก่น โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการ FSR/E หรือ Farming System Research and Extension ความรู้นี้ถูกผลิตซ้ำที่โครงการที่ผมทำอยู่ จริงๆเดิมทีเทคนิคนี้เรียก RRA หรือ Rapid Rural Appraisal ต่อมาปรับเปลี่ยนชื่อเป็น PRA และมีการสัมมนาเรื่องนี้ระดับโลกครั้งหนึ่งที่ขอนแก่น เพราะเทคนิคนี้ถูกนำมาปฏิบัติมากมายในโครงการที่ผมทำอยู่นั่นเอง จึงมีประสบการณ์ในเมืองไทยและมีการปรับให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และเทคนิค PRA ก็ถูกบรรจุไว้ในกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมตั้งแต่นั้นมา

ที่โครงการนี้ยังมีเทคนิคทางวิชาการอีกมากมาย วันหลังคงเขียนเรื่องนี้เฉพาะ

กลับมาที่นายฮ้อย... ที่ทำงานผมติดกับถนนสายท่าพระ-โกสุมพิสัย จึงเห็นฝูงควายมากมายครั้งนั้น ทำให้ผมสนใจเรื่องราวขึ้นมา จึงเป็นต้นเหตุให้ผมสอบถามความรู้ความเข้าใจ ทราบว่านั่นคือกระบวนนายฮ้อยควาย มาขึ้นรถไฟไปขายทางภาคกลาง โดยมีนายฮ้อยใหญ่ชื่อมานิตย์ ปัดทุม เป็นผู้คุมกิจการนี้ทั้งหมด ผมถามหาที่อยู่ทันทีว่านายฮ้อยมานิตย์อยู่ที่ไหน บ้านอะไร ตำบล อำเภอ จังหวัดอะไร เมื่อจังหวะช่วงที่เหมาะสมเมื่อปี 2528 ผมเดินทางไปตามหานายฮ้อยใหญ่ท่านนี้จนพบ

นายฮ้อยใหญ่มานิตย์ ปัดทุม บ้านดอนกลอยหมู่ที่ 14 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ท่านมีฟันเลี่ยมทองมากกว่า สองซี่ บุคลิกจริงจัง แต่แววตาท่านโอนอ่อน แล้วบันทึก Flowchart เส้นทางเดินทางของนายฮ้อยแบบกองคาระวานก็เกิดขึ้น แต่เสียดายจริงๆที่ผมโยกย้ายที่ทำงานไปหลายที่ เอกสารต่างๆถูกนำกลับเข้ามากองในห้องทำงานที่บ้าน จนฝังเอกสารและเรื่องราวนายฮ้อยไปหมดสิ้น หากวันนี้ผมไม่มารื้อห้อง เรื่องนี้ก็คงยังถูกฝังเงียบไปอย่างเดิม

ฝอยเยอะไปหน่อย ยังเดินทางไม่ถึงบ้านดอนกลอยเลย อิอิ อิอิ

คำสำคัญ (Tags): #นายฮ้อย#NERAD
หมายเลขบันทึก: 583707เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2015 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2015 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังค่ะที่อย่างน้อยตอนนี้เรื่องนี้ก็มีที่เก็บที่สามารถสืบค้นได้แล้วนะคะ ขอบคุณทั้งเจ้าของเรื่องราวที่บันทึกและ GotoKnow พื้นที่ดีๆสำหรับเก็บเรื่องราวให้เป็นประโยชน์ไปได้อีกนานๆนะค

จ้าน้องโอ๋..พี่ตั้งใจจะใช้เวลาที่เหลือของชีวิตทำการบันทึกในหลายเรื่องอยู่ครับ เช่น
ตามเก็บประวัติอดีตสหาย ผกค.ที่ดงหลวงที่พี่เคยทำงาน
ย้อนรอยไปบันทึกพื้นที่ที่พี่เคยทำงานพัฒนาชนบทมา ว่าสภาพปัจจุบันเป็นเช่นไร เป็นการย้อนสรุปงานพัฒนาชนบทของไทย เสนอเรื่องขอปรึกษา สกว เพื่อขอรับการสนับสนุนเล็กๆน้อยท่านไม่ตอบกลับมาเลย แสดงว่าท่านไม่สนใจ ก็ไม่เป็นไรเราก็ทำเอง
และเรื่องที่มาพบปัจจุบันนี่คือนายฮ้อย ซึ่งเคยทำบันทึกไว้บ้างแล้วแต่ไม่มีระบบที่ดีพอ เรื่องราวเลยเหลือแค่ Flowchart เส้นทาเดินทัพควายนี่เอง แต่ก็ดีที่มีต้นฉบับให้สืบสาวราวเรื่องย้อนรอยต่อไปได้อีก

ตั้งใจไว้เช่นนั้นครับ และตั้งใจจะเอามาเขียนใน G2K นี่แหละครับ

ส่วนตัวเองสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน ท้องถิ่น วิถีชีวิตเช่นนี้ครับ เพราะเป็นรากเหง้าของสังคมเรา ให้เด็กรุ่นหลังได้ศึกษาบ้างครับ

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/583707

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท