สังคมเน้นเป้าหมาย ระวังตกเหว!!


ในวงการศึกษานั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใหม่ๆค่อนข้างเร็ว (เพราะการศึกษานั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นนัยยะสำคัญ) ปรัชญาและเครื่องมือในการเรียนรู้มีของใหม่ๆมาให้ลองคิด ลองทำ และลองดูเยอะแยะ เช่น การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) การเรียนโดยใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centred learning) การเรียนโดยใช้ทีม ใช้ชุมชน ใช้เป้าหมายเป็นศูนย์กลาง (team-based learning, community-based learning and outcome-based learning) การที่เรามีอะไรออกมาเยอะแยะนั้นมีความหมายโดยนัยซ่อนไว้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ การที่เราไม่สามารถจะ "ฟันธง" ว่าอะไรดีที่สุด แสดงถึงความหลากหลายแห่งปัจจัยในเรื่องนี้ ที่สัมฤทธิผลนั้นไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยวิธีใด วิธีหนึ่ง เพียงวิธีเดียว เพราะกลุ่มเป้าหมายนั้นคือนักเรียนเองก็มีความหลากหลายมากมาย มีความถนัด มีความชอบ และความต้องการในการเรียนรู้คนละอย่างกัน

ผมชอบฟังเรื่องเล่า ใครๆก็ทราบว่าผมชอบ ดังนั้นก็เลยได้ยิน ได้ฟังเรื่องที่คนเล่าชอบเอามาเล่า (เพราะการเล่านั้นจะได้อรรถรสมากขึ้น ถ้ามีคนที่ชอบฟัง) เวลาหมอคุยกันเราก็อดไม่ได้ที่จะคุยกันเรื่องคนไข้ เวลาครูคุยกันก็อดไม่ได้ที่จะคุยกันเรื่องนักเรียน เนื่องจากเป็นทั้งหมอและครู ก็เลยคุยไปคุยมาเรื่องคนไข้กับเรื่องนักเรียน

กรณีที่หนึ่ง: ส่งงาน

ครูคนหนึ่งเล่าว่า วันก่อนได้มอบหมายงานให้นักเรียนในชั้น มีกำหนดเวลาส่ง และมาตรการต่างๆนานาในกรณีที่ส่งงานช้า ก็มีนักเรียนที่ทำไม่เสร็จอยู่กลุ่มหนึ่ง ขณะที่ครูกำลังนั่งอยู่ในห้องพักก็มีนักเรียนคนหนึ่งนำรายงานมาส่งแล้ว ครูก็เช็คชื่อให้ เสร็จแล้วก็เดินจากไป พอครูมองไปที่สมุดปรากฏว่ารายงานนั้นเป็นรายงานของเพื่อน ไม่ใช่ของเด็กคนนั้น พอถึงชั่วโมงที่ครูสอน ครูก็ประกาศชื่อคนที่ยังไม่ส่งรายงาน ก็มีชื่อเด็กคนนั้นด้วย เด็กคนนั้นแสดงอาการประหลาดใจ
"ครูครับ ผมส่งรายงานให้ครูแล้วนี่ ทำไมมีชื่อผม?"
"ใช่ เธอส่งรายงาน แต่รายงานนั้นไม่ใช่ของเธอ เป็นของเพื่อนเธอ ครูจำชื่อพวกเธอได้นะ"
"แต่ครูแค่บอกว่าให้นักเรียนส่งรายงาน ผมก็ส่งนี่ครับ?" เสียงประหลาดใจ....
ครูก็ถึงกับอึ้ง มาเจอศรีธนญชัยกลับชาติมาหรืออย่างไรนี่...
"การบ้าน หรืองานที่มอบหมาย เป็นงานของนักเรียนแต่ละคน ไม่ได้อยู่ที่การส่งนะ" ครูตอบ
"ก็ครูกำหนดเป้าหมายไว้ว่าให้นักเรียนเอารายงานมาส่ง ผมก็ส่ง ทำตามทุกอย่างที่ครูบอกแล้วนี่" เสียงไม่พอใจอย่างมาก
"ไปเอารายงานของตัวเองมาส่ง ครูถึงจะให้คะแนน"
"ก็ได้ ก็ได้" หายไปพักนึง เด็กคนนี้ก็ไปค้นเอารายงานของตัวเองที่ยังไม่เรียบร้อยมาส่ง "ส่งแล้วนะครู" แล้วก็เดินจากไป
หมายเหตุ นี่คือเด็กมัธยมปลาย กำลังจะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว!!!

กรณีที่สอง: งั้นไม่ส่งก็แล้วกัน

การปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย นักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้ดูแลคนไข้ และนำเอาข้อมูลไปเขียนเป็นรายงานและส่งให้อาจารย์พิจารณาตรวจดูว่าสามารถ ดูแลคนไข้ได้ดีพอหรือไม่ ปกติจะมีคนไข้ใหม่เข้ามานอนใน รพ.ทุกอาทิตย์ นักเรียนก็จะได้รับ case ใหม่ประมาณอาทิตย์ละหนึ่งคนบ้าง สองสามคนบ้าง พอจะลงกอง (หมายถึงจบการปฏิบัติงานในแผนก และจะเปลี่ยนไปอยู่แผนกอื่น) ก็จะมีสอบลงกอง คะแนนจะได้จากการสอบข้อเขียน พฤติกรรมขณะปฏิบัติงาน และคะแนนรายงาน อาจารย์ได้สังเกตพบว่ามีนักเรียนคนหนึ่งยังส่งรายงานไม่ครบ จึงเรียกมาพบ
"เธอยังส่งรายงานไม่ครบนะ จะส่งเมื่อไร"
"เอ่อ.. ทำไมทันครับ"
"แล้วจะทำเมื่อไร?"
"คะแนนรายงานนี่กี่เปอร์เซนต์นะครับ?" นักเรียนถาม
"5% ของทั้งหมด"
นักเรียนนิ่งคำนวณในใจอยู่พักนึง แล้วก็ตอบ "งั้นผมไม่ส่งก็แล้วกัน แค่ห้าเปอร์เซนต์ คำนวณแล้วคะแนนรวมผมน่าจะผ่าน"

กรณีที่สาม: ก็หาไม่เจอนี่ครับ

การเข้าห้องปฏิบัติงานบางห้องจะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าห้อง พอเรียนเสร็จ นักเรียนก็ออกมาเอารองเท้าของตัวเองใส่ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งพอนักเรียนเรียนเสร็จและแยกย้ายกันจะกลับบ้านเพราะเป็น ชั่วโมงสุดท้าย ก็มีนักเรียนคนหนึ่งเดินเข้ามาหาครู และบอกว่า "ครูครับ ผมหารองเท้าผมไม่เจอ เจอแต่ของนาย A เหลือไว้คู่เดียว"
"อ้าว เหรอ เดี๋ยวครูไปช่วยหา"
ทั้งสองคนช่วยกันเดินหาอีกรอบก็ไม่เจอ พอด๊นาย A เดินกลับเข้ามา ครูก็ถามว่า "อ้าว นั้นไง A มาแล้ว มีอะไรไหม?"
A ตอบว่า "อ้อ ผมลืมกุญแจรถครับ เลยกลับมาเอา"
"กุญแจรถอย่างเดียวเหรอ?" ครูถาม
"ครับ เจอแล้วครับ อยู่ที่โต๊ะ"
"แล้วรองเท้าล่ะ?"
"รองเท้าเหรอครับ?" A งงๆ
"ใช่ เธอหยิบรองเท้าเพื่อนไปรึเปล่า"
"อ๋อ รองเท้า พอดีผมหารองเท้าผมไม่เจอ ผมก็เลยใส่รองเท้าแถวนั้นไปก่อนน่ะครับ" A ตอบหน้าตาเฉย
"อ้าว! แล้วเพื่อนจะใส่อะไรล่ะเธอ"
"ก็ผมหาไม่เจอนี่ครับ ครูจะให้ผมทำยังไงล่ะเออ..." A ตอบ

ผมไม่อยากจะเรียกสามกรณีนี้ว่าเป็น outcome-based หรือ "เป้าหมายเป็นฐาน" แต่มันมีนัยยะทะแม่งๆทำนองเน้นที่ว่าตัวเองอยากจะได้อะไรก็จะทำ โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ อาการประหลาดใจของผู้กระทำผิดทั้งสามคน ที่ไม่คิดแม้แต่น้อยว่าได้ทำอะไรผิดไป และดูเหมือนสิ่งที่ได้ทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เรียกว่า insight เสียอย่างมโหฬาร

มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

คนแรกเอารายงานเพื่อนมาส่งแทนของตัวเองและ "เข้าใจ" ว่านี่คือสิ่งที่ครูต้องการ และเค้าน่าจะได้คะแนนตอบแทน เพราะครูบอก "แค่ให้ส่งรายงาน" นี่ไม่ใช่เด็กประถม หรืออนุบาลไร้เดียงสาแล้ว กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยอยู่รอมมะร่อ

คนที่สองยิ่งน่ากลัว เอา "คะแนน" เป็นเป้าหมาย สติปัญญาฉลาดเฉลียว แต่ขาดความรับผิดชอบ ขาดความเข้าใจในการเรียน ขาดสิ่งที่ต้องมีในการจะเป็นแพทย์ในอนาคต

คนที่สามอยู่ใน borderline ของ anti-social เลยทีเดียว ไม่เข้าใจเรื่องการขโมยของ การแก้ปัญหาไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่น คนแบบนี้คือประเภทเดียวกับพวกจอดรถขวางเลน จอดรถซื้อของ 7/11 มันกลางถนน เปิดไฟกระพริบปริบๆ จอดมันตรงสี่แยกไฟแดง ขอให้ได้ทำสิ่งที่ตนเองต้องการให้ได้เท่านั้น

รากของพยาธิกำเนิดในเรื่องนี้ถ้าไม่แก้ไข สังคมจะค่อยๆ shift ไปในทิศทางไหน?

ลงเหวลึกสักเพียงไร?

สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๙ นาฬิกา ๓๗ นาที
วันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 583682เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2015 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2015 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คนกลุ่มนี้ก็จะสร้างผลผลิตในลักษณะเดียวกันต่อๆไป เพราะพวกเขาก็คือผลผลิตมาจากคนลักษณะนี้แหละนะคะ เราคงต้องค่อยๆช่วยกันปรับคนกลุ่มที่จะสร้าง generation ใหม่ให้มีคนลักษณะนี้ให้น้อยๆลง ถ้าเราพูดคุยกับคนที่คิดลักษณะนี้ เราจะพอเข้าใจได้เหมือนกันนะคะว่า ทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ และการจะทำให้เขาตระหนักถึงสิ่งที่สมควรทำ สมควรเป็นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังไงก็ตาม พวกเราทุกคนที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้และมีคนวัยที่ยังปรับเปลี่ยนได้อยู่รอบๆตัวต้องช่วยกันค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท