​เสียงเพลงของสังคม


ถ้าพูดถึงงานแสดงดนตรี เชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะช่วงหลายปีมานี้กิจกรรมดูดนตรีตามงานคอนเสิร์ตกลายเป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เช่นเดียวกับงานแสดงดนตรีที่เรากำลังจะเล่าต่อจากนี้ ที่หากพูดในแง่มุมทางดนตรีเพียงอย่างเดียว คงต้องว่ากันตามตรงว่าอาจจะไม่ใช่แปลกใหม่-แตกต่างจากสิ่งที่มีมาแล้วก่อนหน้า แต่ถ้าลองพูดถึงในแง่มุมที่ต่างออกไป เช่น เนื้อหาของเพลง วิธีการนำเสนอ กระทั่งกระบวนการผลิตเพลง คงต้องบอกว่าน่าติดตามไม่แพ้ใคร "เพลงประกอบภาพยนตร์ ตอน ปลูกเสียงเพลงให้แผ่นดิน" คือชื่อที่พวกเขา นักดนตรีเยาวชนจากกิจกรรม"ดนตรีเพื่อการเรียนรู้ ปีที่4" ใช้เป็นตีมหลักของงาน เปรียบเสมือนการบอกเล่าเรื่องราวเพลงที่สะท้อนความเป็นไปในแผ่นดิน (สังคม) ที่ทุกคนอาศัย ซึ่งทั้งหมดกว่า 10 เพลง คือผลผลิตจากการลงพื้นที่ ทำกิจกรรมเกือบ 1 ปีในโครงการ ซึ่งกระบวนการในส่วนนี้ได้ทำให้พวกเขารู้จักการเลือกประเด็นสังคมมานำเสนอเป็นเพลง เปรียบเสมือนเป็นการสื่อสารเรื่องราวที่มีอยู่จริงในสังคมผ่านบทเพลงในแบบที่ผลงานเพลงกระแสหลักไม่ค่อยทำกันให้เห็นมากนัก ทั้งนี้พวกเขาเลือกใช้ พื้นที่โรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา กรุงเทพฯ ซึ่งได้กลิ่นอายของความขลัง และความสนุกตามสไตล์ของนักกิจกรรมทางสังคมที่มีความสามารถด้านดนตรี

ในช่วงเสวนาตอนหนึ่ง เฉื่อย- รัชพงศ์ โอชาพงศ์ สมาชิกกลุ่มดนตรี Triple H music ในฐานะพี่เลี้ยงและผู้จัดการโครงการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตขอนักดนตรีรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่จะเติบโตไปผลิตผลงานสร้างสรรค์ทางปัญญาสู่สังคมวงกว้างว่าพวกเขาเหล่านั้นเติบโตมากับอะไรบ้าง สิ่งที่เห็นคือสิ่งแวดล้อมเพียงไม่กี่อย่าง มหาวิทยาลัย ร้านเหล้า ห้องซ้อม อีกทั้งเมื่อนึกถึงตัวงานเพลงก็พบว่า ส่วนใหญ่เพลงที่เล่นกันอยู่มักมีแต่เพลงที่บอกถึงอารมณ์ความรัก ทั้งสมหวังและผิดหวัง ซึ่งนั้นก็หนีไม่พ้นความรู้สึกส่วนตัวอยู่ดี "โครงการนี้จึงเป็นการทดลองนำเอาค่ายดนตรีที่ทำกันมาทั้ง 3 ปี มาบวกกับกระบวนการค่ายอาสาฯ โดยพานักดนตรีออกจากสิ่งแวดล้อมที่เคยชินไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในสังคม ไปเห็นรอยยิ้ม เห็นน้ำตา เห็นความสุข ความเศร้าที่เป็นชีวิตจริงๆ ของคนในสังคมนี้ แม้พวกเขาจะเคยเห็นผ่านสื่อจนชินและมองเป็นเรื่องปกติมาแล้วก็ตาม แต่การพาไปสัมผัสจริงและใช้หัวใจ ความรู้สึกกลั่นกรองเรื่อราวเหล่านี้ออกมาเป็นผลงานเพลง ที่ผ่านกระบวนการ มาสังเคราะห์ บอกเล่าผ่านดนตรีซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขารักและถนัดอยู่แล้ว และแม้ผลงานเพลงที่ออกมาอาจจะไม่ใช่ที่ยอดเยี่ยม แต่มุมมองของเพลงจะมีความลึกขึ้น และบอกความเป็นจริงของสังคมได้มีมติมากกว่าเดิม มองถึงผลที่สังคมจะได้รับมากกว่าจะคิดแต่เรื่องตัวเอง"เขากล่าวถึงที่มาของผลงานเพลงในอัลบั้ม Sound of Silence ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานของเยาวชนทั้ง 10 กลุ่ม

พี-พีระศักดิ์ พันธ์ศรี" สมาชิกวง Hardware นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เจ้าของผลงานเพลง "ทางเลือก" ซึ่งศึกษาประเด็นคนไร้บ้าน กล่าวว่า โครงการนี้ได้มีขั้นตอนการฝึกทักษะด้านดนตรี รวมทั้งพบด้านที่ไม่เคยพบคือด้านที่เป็นอาสาสมัครไปทำงานกับสังคม เรียนรู้เข้าไปกับสังคมได้ โดยพื้นที่ที่ลงไปนั้นเป็นประเด็นคนไร้บ้าน เสาชิงช้า สนามหลวง ซึ่งเป็นเหมือนจุดรวมของปัญหา และพบว่าสังคมติดภาพลบกับคนไร้บ้านเหล่านี้ พอเข้าไปพบว่าภาพลบดังกล่าวเป็นการมองแบบเหมารวมเท่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ไร้บ้านจะมีแต่ด้านลบ เช่น บางคนเพียงเพราะเขาไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่มีโอกาสต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการอื่นๆ ของรัฐ เพลง "ทางเลือก"ที่พวกเขาทำขึ้นจึงเป็นเสียงสะท้อน และเป้นเพลงของสังคมว่าด้วยคนไร้บ้านบริเวณสนามหลวง ขณะที่ วีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะดนตรีและละคร งานวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่วัยรุ่นสนใจ การที่ให้นักดนตรีเกิดความคิดเข้าใจสังคม ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงและให้คนฟังได้ประทับใจ กระบวนการลงพื้นที่ก่อนนำมาเป็นผลผลิตงานเพลงจึงน่าสนใจ

ส่วนผลเพลงอื่นๆก็ล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น เพลง 'สักทองผืนสุดท้าย' จากวง SINCE 1992 จากการลงพื้นที่ประเด็นการต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ จ.แพร่ เพลง 'เขาเขียว' จากวง เยาวชนคนต้นน้ำ จกการลงพื้นที่ผลกระทบจากเหมืองแร่ บ้านเขาเขียว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพลง 'วาทประมาณคนดี' จากวง คันฉ่อง จากการลงพื้นที่ประเด็นที่ดินชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ บ้านโป่งปูเฟือง ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เพลง 'หลงบุญ' จากวง เติมเต็ม ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ Triple H music โดยไม่มีค่าใช้จ่าย งานเพลงในชุด Sound of Silence จึงมากไปด้วยเรื่องราวของสังคมที่พวกเราล้วนอาศัยอยู่ ในบริบทและแง่มุมต่างๆกัน นี่จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งว่าทำไมที่มาของผลงานเพลงในอัลบั้ม Sound of Silence ซึ่งถูกเล่นในการแสดง "เพลงประกอบภาพยนตร์ ตอน ปลูกเสียงเพลงให้แผ่นดิน" จึงต่างไปจากสิ่งที่งานดนตรีอื่น

รับฟังผลงานเพลงจากอัลบั้มนี้ได้ที่นี่จ้า

หมายเลขบันทึก: 583680เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2015 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท