วิถีนายฮ้อย..๑..


ทำงานรื้อห้องหนังสือแบบผมนี่หากเป็นองค์กรอะไรสักอย่างเขาคงไล่ผมออกไปแล้ว..

ก็แบบหยิบมาสองเล่มจากชั้นหนังสือที่สกปรกไปด้วยฝุ่น ก็มานั่งอ่าน นั่งดูไปอีกเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง อย่างเดิมคือมีหนังสือหลายเล่มที่เห็นชื่อหน้าปกก็โยนลงถุงดำไปเลย แต่บางเล่มนี่ พลิกเกือบทุกหน้า เช่น พบหนังสือที่ผมทำสำเนามาจากสำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทำงานเก่าผม เป็นรายงานสถิติการเกษตรของประเทศไทย ของกองเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร ตั้งแต่ปี 2497

มีท่านจอมพลผิน ชุณหะวัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

รายงานว่าสินค้าส่งออกทำเงินหลายล้านบาทสมัยนั้นอย่างหนึ่งคือ ครั่ง.. ทำให้ผมนึกถึงปัจจุบันที่ครั่งก็ยังเป็นสินค้าส่งออกที่ขาดตลาด เพราะในป่าลดลงมากมาย และพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่เช่นที่ลำปาง ก็ปรากฏว่าครั่งตายหมด เพราะมลภาวะนั่นเอง มีอาชีพหนึ่งที่คนไม่รู้คือเลี้ยงครั่งขาย มีการเช่าต้นก้ามปู หรือจามจุรี ต้นละ 5 พันบาทต่อปี เพื่อเลี้ยงครั่ง เอาครั่งไปขาย ผมทราบมาจากอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ครั่งเป็นสินค้าที่ต้องการมากเพราะเข้าไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออกผลไม้ เพราะเอาครั่งไปเคลือบผิวผลไม้ เพราะครั่งไม่ใช่สารเคมี เป็นอินทรีย์...

ที่ผมตื่นเต้นมากวันนี้คือ ผมพบพับกระดาษ A3 เมื่อผมคลี่ดู ตาผมลุกวาวเลย เพราะมันคือบันทึกเส้นทางนายฮ้อยที่ผมทำไว้ตั่งแต่ปี 2528 ก็ 30 ปีพอดี.....

ต้นฉบับหาไม่พบ แต่พบฉบับสำเนาครบถ้วน ผมคลี่ออกมาดูพบว่ามี 8 แผ่น A 3 บันทึกชื่อหมู่บ้านจาก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม และไปสิ้นสุดที่ พนัสนิคม ชลบุรี

ผมคิดทันทีว่านี่คือต้นเรื่องที่ผมต้องตามหาบุคคลเพื่อทำการบันทึกรายละเอียดทั้งเรื่อง ผมเคยทำไว้แต่ไม่สมบูรณ์และหายไปแล้ว มาพบบันทึก เรื่องนี้ก็ดีแล้ว จะใส่ตารางชีวิตที่ผมจะต้องเริ่มทำบันทึกใหม่ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันนายฮ้อยหมดไปแล้ว หรือเปลี่ยนสถานภาพไปแล้ว...

แต่นั่นคือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์สังคม ที่ผมสนใจ..

ผมวางทุกสิ่งทุกอย่างลง เปลี่ยนชุดแต่งตัวขับรถไปมหาสารคามทันทีเพื่อตามหานายฮ้อย ผมทราบดีว่านายฮ้อยใหญ่ที่ชื่อมานิตย์ ปัดทุมนั้นท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่เครือข่ายนายฮ้อยคงหลงเหลือบ้าง หรือลูกหลานท่านก็น่าจะมีชีวิตอยู่บ้าง เราเริ่มทันทีดีกว่า แกะรอยเสียแต่วันนี้ดีกว่า

เป้าหมายแรกคือตามหาบ้านนายฮ้อยมานิตย์ที่บ้านดอนกลอย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเมื่อสามสิบปีที่แล้วผมเคยขับรถมาที่บ้านนี้มาแล้ว แต่ความทรงจำลืมไปหมดแล้วว่าไปอย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ถามใครๆก็รู้ และผู้ที่รู้ดีที่สุดคือ ไปรษณีย์ เพราะเขามีแผนที่ทุกหมู่บ้านในประเทศไทย และมีบ้านเลขที่ที่ Update มากที่สุดในประเทศไทย ผมมีประสบการณ์สมัยทำงานวิจัยให้โครงการ SIF แน่นอนที่สุดผมไม่ลืมแผนที่ ข้อมูลต่างๆที่มีอยู่และเทปบันทึกเสียง สมุดบันทึก ปากกา ดินสอเพียบ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์

และจิตใจที่กระหายข้อมูลเต็มที่....

คำสำคัญ (Tags): #นายฮ้อย
หมายเลขบันทึก: 583681เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2015 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2015 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เอาใจช่วยให้พี่ทำได้สำเร็จนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท