หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : คราม (ความสำเร็จ ๒ In ๑ ของศูนย์นวัตกรรมไหม)


เป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่มีพลังอัดแน่นอยู่ในการเรียนรู้ของงานบริการวิชาการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามบนฐานการเรียนรู้คู่บริการ หรือการบริการวิชาการบนฐานศิลปวัฒนธรรมแบบ ๒ In ๑ ที่ยืนยันศักยภาพหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอนว่ามีตัวตนอย่างสง่างามในวิชาชีพของตัวเอง.....

ถึงแม้ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน จะวาดฝันสุดขอบฟ้าด้วยการบูรณาการภารกิจ In ๑ เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะนั่นคือหัวใจของการจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือการจัดเรียนการสอนเพื่อการรับใช้สังคม แต่หากหลักสูตรใดยังไม่สามารถบูรณาการภารกิจทั้ง ๔ อย่างเข้าด้วยกันได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลว เพียงแค่อาจารย์และนิสิตตระหนักในแนวทางการ "เรียนรู้คู่บริการ" เชื่อมั่นหลักคิดการ "เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม" ตลอดจนการศรัทธาว่า "ชุมชนห้องเรียน" และห้องเรียนที่ว่านี้เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นหลักของการพัฒนาชาติที่ต้องอาศัยระบบและกลไกทางการศึกษาเข้าไป "เกื้อหนุน" และ "ปฏิบัติการจริง" ร่วมกันระหว่าง "มหาวิทยาลัยกับชุมชน" ย่อมถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดแล้ว




เช่นนี้แล้วหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอน จึงนับเป็นหน่วยงานที่น่าจับตามองเป็นที่สุด เพราะหลายหน่วยงานยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอนได้ ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่าจะสามารถบูรณาการภารกิจเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้สักกี่เรื่อง แต่ที่แน่ๆ ในวิถี ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน หน่วยสนับสนุนการเรียนการสอนย่อมหยัดยืนขั้นต่ำ In ๑ เป็นอย่างน้อยคือ การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม หรือ "บริการบนฐานวัฒนธรรม"


โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์การย้อมสีครามบ้านหนองบัวน้อยฯ ของศูนย์นวัตกรรมไหมที่คุณสุชญา โครตวงษ์ รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนในบ้านหนองบัวน้อย ต.ดงดวน อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เป็นโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนอีกโครงกาหนึ่งที่มีความเด่นชัดในเรื่องการบูรณาการภารกิจ ๒ In ๑ อย่างน่าสนใจ โดยจัดกระบวนการเรียนรู้คู่บริการผ่านประเด็นสำคัญๆ คือ

๑.ศึกษาสถานการณ์การย้อมสีครามในชุมชน

๒.ถ่ายทอดเทคนิคการย้อมสีครามที่เหมาะสมกับชุมชนแบบมีส่วนร่วม

๓.ฟื้นฟูและอนุรักษ์การปลูกคราม

๔.สกัดความรู้ว่าด้วยการย้อมคราม



จะว่าไปแล้วโครงการดังกล่าวก็เคลื่อนตัวไปบนฐานวัฒนธรรมล้วนๆ เพราะความรู้ที่นำไปถ่ายทอดก็เหยียบยืนอยู่บนความเป็นวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาของชุมชนโดยแท้ เพราะ "คราม" หรือการย้อมครามถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน หรือมนุษยชาติที่ปรากฏเด่นชัดมายาวนาน

การขับเคลื่อนครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การปลูกคราม (นับตั้งแต่การเลือกเมล็ด การเตรียมดิน การดูแลรักษา) การเก็บเกี่ยวคราม การสกัดเนื้อคราม ไปจนถึงการย้อมคราม ซึ่งจุดแข็งโครงการนี้มีหลายประเด็น เช่น เป็นโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ดังเช่นที่ชาวบ้านได้เกาะติดและเรียนรู้ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมไหมในเรื่องการ "ผลิตสีผงธรรมชาติ" ต่อเนื่องมาเป็นเวลาสองปีเต็มๆ โดยเวทีเหล่านั้นจัดขึ้นในเขตอำเภอนาดูน-นาเชือก-วาปีปทุม

เวทีการถ่ายทอดเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็มีเรื่อง "คราม" เป็นประเด็นของการเรียนรู้คู่บริการอยู่ด้วย ต่อเมื่อชาวบ้านถูกชักชวนมาพัฒนาโจทย์เรื่องของครามร่วมกันอีกครั้ง ชาวบ้านจึงไม่ลังเลที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมที่จะจัดขึ้น



นอกจากนี้แล้วจุดแข็งข้างต้นยังพบว่าชาวบ้านมีการรวมกลุ่มอย่างแน่นเหนียว โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน (ทอผ้าไหม) มีผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นที่ประจักษ์ ได้รับรางวัลจากในหลายๆ เวที ทั้งยังเป็นชุมชนที่ผลิตผ้าไหมอย่างครบวงจรนับตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปจนกระทั่งทอผ้าไหม และย้อมผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ เพียงแต่ยังประสบปัญหาในเรื่องของการแปรรูป หรือออกแบบลวดลาย

การขับเคลื่อนโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนครั้งนี้ทำให้รู้ว่าชาวบ้านมองว่า "การย้อมผ้าไหมด้วยคราม" ถือเป็นความท้าทายที่ชาวบ้านอยากจะเรียนรู้พอๆ กับการ "ย้อมผ้าฝ้ายด้วยคราม" เหมือนเช่นที่บรรพบุรุษเคยทำมา จากนั้นจึงนำผ้าครามมา "เย็บมือ" เป็นเสื้อ หรืออื่นๆ อีกหลากรูปแบบก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ชาวบ้านอยากเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งความท้าทายที่ว่านั้น คงไม่ได้เป็นความท้าทายแต่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยฯ ด้วยเช่นกัน



ในทำนองเดียวกันนี้ จากข้อมูลอันเป็นปากคำของชาวบ้านได้บอกเล่าตรงกันว่าเรื่องการ "ย้อมคราม" ได้หายสาบสูญไปจากหมู่บ้านในราวๆ เกือบ ๕๐-๖๐ ปีแล้ว ปัจจุบันแทบไม่เหลือใครบอกเล่าเทคนิคและองค์ความรู้ในเรื่องการย้อมครามได้เลยก็ว่าได้ ทุกอย่างจึงเหมือนต้อง "เริ่มต้นใหม่" ร่วมกับมหาวิทยาลัย เริ่มต้นตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการย้อมเลยก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนดังกล่าวจึงกลายเป็นกระบวนการเติมเต็ม "พลังชีวิต" ให้ชาวบ้านอย่างน่ายกย่อง เนื่องเพราะชาวบ้านได้หวนกลับไปทบทวนความทรงจำเรื่อง"คราม"ของชุมชนตนเอง ซึ่งจากหายไปจากชุมชนร่วมๆ ๕๐-๖๐ ปี และที่สำคัญคือชาวบ้านที่หลงเหลืออยู่ในชุมชนก็ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องของ "คราม" เพราะไม่เคยได้เรียนรู้อย่างจริงจังกับพ่อแม่ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ จึงกลายเป็นพลังการเรียนรู้ที่ช่วยให้ชาวบ้านได้ทั้ง"ความรู้และพลังชีวิต" ทั้งในเชิงบุคคล และกลุ่มทีมในชุมชนอย่างมหัศจรรย์

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จึงนับได้ว่าโครงการ "ฟื้นฟูและอนุรักษ์การย้อมสีครามบ้านหนองบัวน้อยฯ" ประสบความสำเร็จในมิติการเรียนรู้คู่บริการในแบบ "๒ In ๑" อย่างน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องของการบูรณาการระหว่างการบริการวิชาการกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมประสานระหว่าง "เทคโนโลยีกับภูมิปัญญาท้องถิ่น" ที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงวิถีดั้งเดิมของการใช้ชีวิตของผู้คนที่ร้อยรัดอยู่กับ "คราม" อย่างหลากเรื่องราว อาทิ ความเป็นอัตลักษณ์ หรือคุณสมบัติอันงดงามของผู้หญิงที่ผูกโยงไว้กับภารกิจ "งานบ้านงานเรือน" (ทอผ้า) ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อมที่หมายถึงป่าเขาลำเนาไพร หรือกระทั่งการใช้ประโยชน์จากครามที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น "ยารักษาโรค" เช่น ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ปวดศีรษะ

นอกจากนี้หมายรวมถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาที่ผนึกแน่นหนาเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวกับการ "สกัดเนื้อคราม" ที่ต้องผ่านกระบวนการผสมกันระหว่าง "น้ำคราม" กับปูขาว หรือ "ปูนแดง" รวมถึงการนำเอาเปลือกไม้ ผลไม้อันเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผสมกับเนื้อครามเพื่อให้เกิดสีต่างๆ ตามรสนิยม หรือความต้องการ กระทั่งความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อว่า "ครามมีชีวิต" ต้องใส่ใจ ให้ความรัก ให้เวลาและให้อาหาร ให้การประคบประหงมอย่างจริงใจ มิเช่นนั้นก็จะได้ผลผลิตที่ไม่ดี



นี่จึงนับเป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่มีพลังอัดแน่นอยู่ในการเรียนรู้ของงานบริการวิชาการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามบนฐานการเรียนรู้คู่บริการ หรือการบริการวิชาการบนฐานศิลปวัฒนธรรมแบบ In ๑ ที่ยืนยันศักยภาพหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอนว่ามีตัวตนอย่างสง่างามในวิชาชีพของตัวเอง หรืออื่นๆ ทั้งที่เป็นกระบวนการของการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย นักวิชาการ ไม่ให้จ่อมจมอยู่แต่ในสำนักงาน หรือห้องแล็ป หรือสถานีทดลองที่อยู่แต่เฉพาะในมหาวิทยาลัยฯ แต่มีการลงชุมชน สร้างทักษะการเรียนรู้กับชุมชน สร้างเครือข่าย และร่วมเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน นำข้อมูลอันเป็นทุนทางสังคม หรืออื่นๆ ของชุมชนมาเผยแพร่ต่อยอดในภารกิจด้านบริการวิชาการ การทำนุบำรุงฯ การสอน และการวิจัย ซึ่งอาจลงมือทำกันเอง หรือไม่ก็ส่งมอบไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ลงไปเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับชุมชน

เช่นเดียวกับการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการผลักดันให้องค์กรในท้องถิ่นเห็นความสำคัญและหยิบจับไปเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่น นั่นคือความสำเร็จ หรือความท้าทายที่ไม่สมควรมองข้ามอย่างยิ่ง

ที่สุดแล้วผลพวงของการเรียนรู้ในครั้งนี้ ยังมีผลพวงอื่นๆ ตามมาอีกหลายประเด็น เช่น การจำหน่ายเมล็ดคราม การจำหน่ายเนื้อคราม-น้ำคราม ฯลฯ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการอย่างมหาศาล ซึ่งทุกอย่างยังต้องเรียนรู้คู่บริการร่วมกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

หมายเลขบันทึก: 583440เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2015 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2015 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

-สวัสดีครับครู

-คราม..สีธรรมชาติ

-สร้างแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้

-ภูมิปัญญา..ที่ควรแก่การถ่ายทอดและสืบไว้..

-สวัสดีปีใหม่นะครับ

จำได้ว่ามีแม่ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า

กว่าจะได้ต้นครามมาปลูกนานมาก

ดีใจที่พบงานบูรณาการกับภูมิปัญญท้องถิ่นช่วยกันอนุรักษ์สิ่งดีๆไว้นะครับ

สวัสดีปีใหม่ นะคะ .....


สวัสดีปีใหม่ครับ คุณมะเดื่อ

ขอให้มีความฝันที่เป็นจริง นะครับ

ครับ คุณ เพชรน้ำหนึ่ง

ตอนนี้กำลังกระตุ้น และสร้างกระแสให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยหนมาเล่นเรื่องครามกันอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่อยากให้หลุดลอยไปจากรากเหง้าเหล่านี้ เป็นความท้าทายที่จะร่มเรียนรู้และพัฒนาร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง..

ขอบพระคุณครับ

ใช่ ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ยาย- เก็บมาจากมุกดาหาร แต่สุดท้ายก็ลืมเอามาด้วย

แต่ยังดีครับ ผ่านไปสิบปี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เอาเมล็ดครามมาให้ปลูกและทำกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน...

สวัสดีปีใหม่ครับ พี่ Dr. Ple

... ขอให้ สุข สมหวัง..และเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์เช่นผ่านมา นะครับ.......

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท