นิยามความหมายของ "Contract Farming"


นิยามความหมายของ “Contract Farming”

4 มกราคม 2558

นิยามความหมายของ "Contract Farming"

ผู้เขียนเคยศึกษาเรื่อง การลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) หรือ การเกษตรแบบพันธสัญญา ไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว [1] เพื่อเตรียมการรองรับ "การค้าและการลงทุน" AEC "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ของประเทศไทยในปี 2558 (2015) โดยได้ศึกษาในหัวข้อ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ระหว่าง 5 ประเทศขึ้น ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม

นิยามศัพท์ความหมายของสหประชาชาติ [2]

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) นิยามการเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ว่า "เป็นการตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับบริษัทแปรรูป หรือค้าขายสินค้าเกษตรเพื่อที่จะทำการผลิตและจัดหาผลิตภัณฑ์เกษตรภายใต้ข้อ ตกลงซื้อ-ขายล่วงหน้า ซึ่งมักจะกำหนดราคาไว้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับการที่ผู้ซื้อจัดหาปัจจัยมาสนับสนุนการ ผลิตในระดับหนึ่ง เช่น ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และคำปรึกษาทางด้านเทคนิค"

ด้วยปัจจุบันรูปแบบการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีการพัฒนารูปแบบไปสู่ "Contract Farming" กันอย่างกว้างขวาง นักลงทุนชาวไทยมีการลงทุนทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศในภูมิภาค รวมทั้งมีนักลงทุนต่างชาติในภูมิภาคก็มีการลงทุนธุรกิจเกษตรในรูปแบบนี้ด้วย

ณรงค์ เจียมใจบรรจง (2554) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ได้รวมสรุปความหมายของ การลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) ไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ในการทำความเข้าใจความหมาย ดังนี้

1. มติคณะรัฐมนตรี ปี 2548

การลงทุนทำการเกษตรแบบมีสัญญา การทำสัญญาระหว่างบริษัทเอกชน เรียกว่าผู้รับซื้อผลผลิต หรือผู้ซื้อ กับเกษตรกร เรียกว่า ผู้ผลิต หรือผู้ขาย โดยทั้งสองฝ่ายทำสัญญากันทั้ง 2 ฝ่ายก่อนการผลิต และเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับราคาของผลผลิต และปริมาณของผลผลิตที่รับซื้อ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผู้ซื้อมีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการลงทุน ตลอดจนการส่งเสริม ส่วนผู้ขายมีหน้าที่ดำเนินการผลิตให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้อาจมีเงื่อนไขอื่นอีกตามแต่ตกลงกัน [3]

2. สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

การทำฟาร์มสัญญา หมายถึง การเลี้ยงปศุสัตว์หรือเพาะปลูกพืชที่มีการทำสัญญาซื้อขายกัน โดยส่วนใหญ่จะมีการกำหนดราคาผลผลิตไว้ตายตัว ซึ่งมักเรียกว่า ฟาร์มประกันราคา หรือ "ฟาร์มประกัน" แต่ก็มีบางกิจการทำสัญญาผูกพันเพียงการรับซื้อผลผลิตกลับคืน โดยไม่ระบุราคาไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งแบบนั้นเราไม่ถือว่าเป็นฟาร์มประกันราคา สัญญาทำฟาร์มประกัน มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเป็นฝ่ายฟาร์ม เรียกว่า " ฟาร์มประกัน" ซึ่งก็คือฝ่ายเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ส่วนฝ่ายที่สองเป็นคู่สัญญาที่สัญญาจะซื้อผลผลิตกลับคืนในราคาประกัน เรียกว่า "ผู้รับประกัน" ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปบริษัท เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท เบทาโกร บริษัทแหลมทองสหการ เป็นต้น [4]

3. จากนักธุรกิจ นักวิชาการ

ในมุมมองของสายธุรกิจครบวงจรภูมิภาค บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด

โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ โดยการทำระบบฟาร์มข้อตกลง หรือระบบฟาร์มสัญญากันไว้ล่วงหน้า เพื่อส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรและบริษัทร่วมลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทั้งหมด หรือบางอย่างตามข้อตกลงที่ได้กำหนดไว้ และบริษัทจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตคืนกลับจากเกษตรกรตามมาตรฐานคุณภาพ และผลตอบแทนที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งนี้บริษัทจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านการผลิตและ การตลาด [5]

ในอเมริกา ใช้รูปแบบ Contract Farming ซึ่งภาคเอกชนดำเนินการร่วมกับเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งรูปแบบ Contract Farmingนั้นเกษตรกรไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเป็นการแบ่งหน้าที่ แบ่งความรับผิดชอบตามความสามารถ หรือตามศักยภาพที่มีซึ่งการทำ Contract Farming นั้นมีการนำไปใช้หลายประเทศทั่วโลกและในประเทศไทยก็มีภาคเอกชนหลายรายนำมาใช้ส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นทาง เลือกที่ดีของเกษตรกรไทยทางหนึ่ง รูปแบบของ Contract Farming มีด้วยกัน 3 แบบ คือ 1. แบบประกันรายได้ 2. แบบประกันราคา 3. แบบประกันตลาด [6]

ในมุมมองของนักวิชาการเกษตร

อันที่จริง contract farming ก็เปรียบเหมือน ตลาดซื้อ–ขายล่วงหน้า ที่มีการตกลงราคาและเวลารับมอบสินค้ากันชัดเจน ซึ่งบริษัทคู่สัญญาก็เป็นเหมือนผู้เข้ามารับความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของราคา ผลผลิตและปัจจัยการผลิต เกษตรกรจึงมีผลตอบแทนเป็นรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน และสูงกว่าเมื่อเทียบกับการที่ต้องแบกรับภาระทั้งการผลิตและการขาย เอง [7]

ในมุมมองของนักวิจัยการค้า [8]

"In today's world, policies aimed at improving the integration of developing economies into global value chains must look beyond FDI and trade. Policymakers need to consider non-equity modes (NEMs) of international production…"

NEMs หมายถึง การทำสัญญาระหว่างบริษัทที่เป็นนายจ้างกับบริษัทคู่สัญญาโดยที่ไม่มีเรื่องการถือครองหุ้นเข้าไปเกี่ยวข้องNEMs สามารถทำได้หลายลักษณะด้วยกัน โดยรูปแบบที่จะพบเห็นได้บ่อย อาทิการจ้างผลิต การจ้างบริการ การขายแฟรนไชส์ การขายไลเซนส์ และการบริหารตามสัญญา เป็นต้น

การทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing) คือ การที่กิจการหนึ่งทำสัญญาจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ทำการผลิต ให้บริการ (Services Outsourcing) และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของกิจการนั้นๆ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการ outsourcingNEMs รูปแบบนี้มีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์เครื่องนุ่งห่ม โรงแรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางธุรกิจต่างๆการลงทุนในรูปแบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในภาคการเกษตรหรือที่รู้จักกันกว้างขวางในอีกชื่อเรียกว่า การเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) นั่นเอง

ขายแฟรนไชส์ (Franchising) คือ การที่เจ้าของสิทธิ์ (Franchisor) อนุญาตให้คู่ค้าทางธุรกิจหรือผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) สามารถประกอบธุรกิจโดยใช้ชื่อการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ์พัฒนาขึ้น โดยผู้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือค่าสิทธิ์ (Franchise Fee) และค่าตอบแทนตามผลประกอบการ (Royalty Fee) ให้กับเจ้าของสิทธิ์

การขายไลเซนส์(Licensing) คือ การที่ผู้ให้สิทธิ์ (Licensor) ขายสิทธิ์ในการผลิตสินค้า โดยใช้เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิทางการตลาดอื่นๆ ให้แก่ผู้รับสิทธิ์ (Licensee) โดยที่ผู้รับสิทธิ์ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้สิทธิ์ตามที่ได้ตกลงเป็นกรณีไป

การบริหารตามสัญญา (Management Contract) คือ การที่บริษัทหนึ่งรับจ้างบริหารจัดการตามความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับอีกบริษัทหนึ่ง โดยผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างบริหารให้กับบริษัทผู้รับจ้าง โดยตัวอย่างการทำธุรกิจในลักษณะนี้ เช่น โรงแรมที่เจ้าของธุรกิจมีเงินทุนแต่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารและไม่มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของตนเองมากนัก จะนิยมจ้างบริษัทที่เป็นนักบริหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเข้ามาบริหารโรงแรมให้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปการเข้า chain โรงแรมก็ได้


[1] "การลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) : ศึกษากรณีโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS)", 25 กรกฎาคม 2554. https://www.gotoknow.org/posts/450844

[2] FAO suggests the following definition for contract farming:

"…an agreement between farmers and processing and/or marketing firms for the production and supply of agricultural products under forward agreements, frequently at predetermined prices. The arrangement also invariably involves the purchaser in providing a degree of production support through, for example, the supply of inputs and the provision of technical advice."

(Eaton and Shepherd, 2001, p.2))

[3] ณรงค์ เจียมใจบรรจง,รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจครบวงจรภูมิภาค บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)."โครงการ Contract Farming : ในมุมมองของผม." 17 ตุลาคม 2554. [Online]. Available URL : http://www.cpthailand.com/รวมคอลมน/tabid/129/articleType/ArticleView/articleId/234/-Contract-Farming--.aspx

[4] ณรงค์ เจียมใจบรรจง, อ้างแล้ว.

[5] ณรงค์ เจียมใจบรรจง, อ้างแล้ว.

[6] ณรงค์ เจียมใจบรรจง, อ้างแล้ว.

[7] สุทิน คล้ายมนต์. "มั่นใจ…ด้วยเกษตรพันธสัญญา." โดย ดอกสะแบง ใน หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน, ไทยรัฐออนไลน์ 9 มิถุนายน 2554, [Online]. Available URL : http://www.thairath.co.th/content/177423

[8] จิตติกานต์ วงษ์กำภู, นักวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา, "NEMs" เทรนด์ใหม่ที่ครองใจนักลงทุน, Business One ปีที่ 1 ฉบับที่ 20, วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554,

https://mbasic.facebook.com/notes/itd-international-institute-for-trade-and-development/nems-เทรนด์ใหม่ที่ครองใจนักลงทุน/10150839446910314/

หมายเลขบันทึก: 583383เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2015 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท