สถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย ปี 2557(ตอนที่ 1)


สถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย ปี 2557(ตอนที่ 1)

สถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย ปี 2557(ตอนที่ 1)

3 มกราคม 2558

นับตั้งแต่ พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2551 เป็นต้นมา สถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในด้านแรงงาน ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง ฯ ของประเทศไทยมีอันดับที่ตกต่ำลงเป็นลำดับจากการจัดระดับสถานการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี หรือ Trafficking in Persons Report (TIP Report) ซึ่งได้จัดทำมาต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว แบ่งสถานการณ์เป็น 4 ระดับ (Tier) คือ "ระดับ 1" (Tier 1) ประเทศที่รัฐบาลทำได้ดีในการป้องกันและการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ "ระดับ 2" (Tier 2) ประเทศที่ยังทำไม่ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่กำลังใช้ความพยายาม ต่อไปคือ "ระดับ 2 ขึ้นบัญชีจับตามอง" (Tier 2 Watch list) ถือเป็นประเทศในระดับ 2 ที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์มีสูงมากหรือกำลังเพิ่มสูง สุดท้ายคือ "ระดับ 3" (Tier 3) หมายถึงประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันช่วยเหลือเหยื่อหรือจับกุมผู้ ค้ามนุษย์

ในปี 2554 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน "ระดับ 2 บัญชีต้องจับตามอง" เช่นเดียวกับปี 2553 หมายความว่า ยังมีการค้ามนุษย์อยู่มากและรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจแก้ปัญหามากเท่าที่ควร ในปี 2554 ตัวเลขเหยื่อแก๊งการค้ามนุษย์ทั่วโลกมีสูงกว่า 12 ล้านคน ตามรายงาน TIP Report "ระดับ 1" (Tier 1) เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ฯลฯ "ระดับ 2" (Tier 2) เช่น มาเลเซีย "ระดับ 2 บัญชีจับตามอง" (Tier 2 Watch list) มี 58 ประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม ลาว บรูไน อัฟกานิสสถาน จีน อินเดีย ฯลฯ สุดท้ายคือ "ระดับ 3" (Tier 3) มี 13 ประเทศ เช่น พม่า ปาปัวนิวกินี อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ [1]

ปี 2555 รายงาน TIP Report ยืนยันว่าประเทศไทยถูกประเมินโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 2-Watch List คือ เป็นประเทศที่ถูกจับตามองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ รัฐบาลไทยถูกเตือนว่ายังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลขั้นต่ำว่าด้วยการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ [2]

ปี 2555 [3] พบว่าประชากรราว 27 ล้านคน จาก 185 ประเทศทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อการใช้งานเยี่ยงทาส รวมถึงถูกทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวและถูกบังคับให้ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องโดยไม่จ่ายค่าแรง โดยประเทศที่ปฏิบัติต่อแรงงานเยี่ยงทาสติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ แอลจีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ลิเบีย เกาหลีเหนือ ซาอุดีอาระเบีย และซีเรีย โดยมีประเทศที่มีพัฒนาการในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา (2554-2555) มี 2 ชาติ ได้แก่ พม่าและเวเนซุเอลา ขณะที่สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหาค้ามนุษย์ มีจำนวนทั้งหมด 42,291 รายทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสถิติที่สำรวจได้เมื่อปี 2553 แต่มีผู้ต้องหา 3,969 รายเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปี 2556 รายงาน TIP Report ประเทศไทยยังถูกประเมินให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 2-Watch List

สิ้นปี 2557 ประเทศไทยถูกลดระดับ (Tier) สถานการณ์ TIP Report จากระดับบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งหมายถึง ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี [4] ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด ในกลุ่มที่ 3 จากที่มีอยู่ 23 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัว นิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ซีเรีย, ไทย, อุซเบกิซสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว เนื่องจากไทยอยู่ในบัญชีที่ 2 จับตามอง ติดต่อกันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 และในปี 2556 - 2557 ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาบริหาร ไทยไม่สามารถปรับขึ้นมาอยู่ในอันดับ เทียร์ 1 ส่งผลให้ตกอยู่ในเทียร์ 3 โดยอัตโนมัติทันที ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวเนซุเอลา [5] อันมีผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจค้าขายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ [6]

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติไทย-สหรัฐ ว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งการลดระดับความน่าเชื่อถือของเทียร์ 3 ในปัจจุบัน เรื่องของรายงานการประมงผิดกฎหมายที่หลายเรื่องต้องเร่งดำเนินการภายในต้นปีนี้ให้ได้ แต่ไม่ใช่เริ่มใหม่ทั้งหมด เพียงแต่บูรณาการทุกอย่างให้ได้เพียงแต่บูรณาการทุกอย่างให้ได้ และสร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มีส่วนร่วม เพราะมีผลกระทบทั้งสิ้น ทั้งเรื่องการค้าการลงทุน [7]

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าววิตกห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" [8] เพราะประเทศไทยถูกลดอันดับ TIP Report ลง พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า การแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ทบทวนประสิทธิภาพของกลไกการทำงานที่มีอยู่ สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการหารือ และวางแผนการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นรายเดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งที่ประชุมรับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่หน่วยราชการต่าง ๆ ประสบ ที่จะต้องดำเนินการในปี 2558 สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อการค้ามนุษย์และพยาน การป้องกันการค้ามนุษย์ และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ องค์กรอิสระ และสื่อมวลชนพร้อมได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ ประกอบด้วย [9]

(1) คณะอนุกรรมการเรื่องค้ามนุษย์

(2) คณะอนุกรรมการเรื่องประมง และ IUU

(3) คณะอนุกรรมการเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับและแรงงานต่างชาติ

(4) คณะอนุกรรมการสตรี และ

(5) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า ทุกคณะต้องมีเป้าหมายและแผนงานอย่างชัดเจน พร้อมรายงานผลการดำเนินการให้ทราบทุกเดือน โดยในวันที่ 7 มกราคม 2558 จะกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวและกำหนด Road Map ในการแก้ปัญหาในการรับรู้ให้กับองค์ระหว่างประเทศ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อการค้าขาย เศรษฐกิจ การส่งออกเกี่ยวกับเรื่องประมง สินค้าทางประมงที่มีมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท นอกจากนี้ การจดทะเบียนเรือประมงไทยเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการต้องจดทะเบียนเรือทุกลำ ติด GPS ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2558 ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้นานาชาติได้รับรู้ถึงการแก้ไขปัญหา เพื่อจะลดระดับในเรื่องของ ความเป็น Tier 3 ลงและในเรื่องของกติกา (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) เรื่องประมงด้วย จะมีผลต่อเสถียรภาพ ซึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหา Tier 3 ให้ได้โดยเร็ว [10]

การแต่งตั้งคณะคณะอนุกรรมการทั้ง 5 คณะดังกล่าวของ คสช. ถือว่าเป็นการเสริมกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านแรงงาน ซึ่งได้แต่งตั้งอนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานสภาปฏิรูปแห่งชาติไว้แล้วรวม 5 คณะ คือ [11]

1. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านจัดหางานเพื่อคนไทยและแรงงานต่างด้าว

2. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านสวัสดิการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์

3. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน

4. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านประกันสังคม

5. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านการมีส่วนร่วมของแรงงาน

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางด้านการแรงงาน และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มีสภาพปัญหาที่เกี่ยวพันกัน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ต้องมีการประสานบูรณาการแก้ไขปัญหาทั้งสองมาตรการให้สอดคล้องควบคู่ไปด้วยกัน

นับจากปี 2554 เป็นต้นมาประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ TIP Report อยู่ที่บัญชีระดับ 2 "จับตามอง" (Tier 2 Watch List) แต่อีกสามปีต่อมาในปี 2557 ถูกลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่สถานการณ์ค้ามนุษย์อยู่ในระดับเลวร้ายที่สุด แม้ว่าก่อนหน้านั้นในปี 2555 [12] ก็ได้วิตกกันมาแล้วว่าอาจถูกปรับลดระดับลงมาในระดับ 3 เพราะประเทศไทยถูกจัดไว้ในกลุ่มประเทศที่ถูก "จับตามอง" ในเรื่องนี้เป็นพิเศษมาสามปีติดต่อกัน คือ ตั้งแต่ปี 2553, 2554 และ 2555 การถูกปรับลดระดับลงในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการลดอันดับลงครั้งสำคัญ เพราะมีการรักษาระดับที่ 2 มาเป็นเวลานานถึง 3 ปี จึงมีคำถามว่า ข้อเท็จจริงในสถานการณ์การค้ามนุษย์ได้ตกต่ำลดลงจริงหรือไม่ในสายตาของสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง คงต้องหันมาตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินการของประเทศไทยในรอบก่อนปี 2554 และผลการดำเนินการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2554 - 2557) [13]


[1] "ขึ้นบัญชีไทย'เสรีอาเซียน-เสรีค้ามนุษย์' : โต๊ะรายงานพิเศษ", คมชัดลึก, 26 ธันวาคม 2554,

http://www.komchadluek.net/detail/20111226/118710.html

[2] สุชาดา ทวีสิทธิ์, "สถานะของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์", จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา, ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2556, [email protected] , http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/newsletter/index.php/2012-11-08-03-49-15/mnu-vol33-no4/86-vol33-no3/99-vol33-no3-03.html

[3] "มะกันเผยรายงานค้ามนุษย์ 27 ล้านคนทำงานเยี่ยงทาส", ไทยรัฐออนไลน์, 21 มิถุนายน 2555,

http://www.thairath.co.th/content/oversea/269929

[4] สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย, "รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2557", ประเทศไทย บัญชีกลุ่มที่ 3 (ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา), http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport14-t.html

[5] กระทรวงการต่างประเทศผิดหวัง-สหรัฐลดอันดับในรายงานค้ามนุษย์, 22 มิถุนายน 2557, http://www.prachatai.com/journal/2014/06/54163 & "รายงานค้ามนุษย์ปี 57 สหรัฐอเมริกาลดอันดับไทยอยู่บัญชีรั้งท้าย", 21 มิถุนายน 2557, http://www.prachatai.com/journal/2014/06/54150

[6] "พิชัย เผย 5 กลจักร ทำเศรษฐกิจไทยมีปัญหา", ข่าวกระปุกดอทคอม, 2 มกราคม 2558,

http://hilight.kapook.com/view/113569

[7] สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, "นายกฯเร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ตั้งเป้าขึ้นเทียร์ 2",http://www.nocht.m-society.go.th/news/newsdetail.php?news=267&type=2

[8] "นายกฯย้ำรบ.ยึดโรด แมปลุยสร้างมั่นคง ปท.-เร่งแก้ค้ามนุษย์", ข่าวสนุกดอทคอมและINN, 26 ธันวาคม 2557, http://news.sanook.com/1721533/&http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=588301

[9] ข่าวสนุกดอทคอมและINN, 26 ธันวาคม 2557, อ้างแล้ว.

[10] ข่าวสนุกดอทคอมและINN, 26 ธันวาคม 2557, อ้างแล้ว.

[11] กรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านแรงงาน, https://www.gotoknow.org/posts/581741

[12] "หวั่นไทยถูกลดลำดับ ชาติค้ามนุษย์กลุ่ม 'เลวสุด'", ไทยรัฐ, 16 มีนาคม 2555,

http://www.thairath.co.th/content/oversea/245776

[13] ลองดูสถิติรายงานสถานะการและดำเนิการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ย้อนหลังจาก ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปี 2552 - 2555 ใน http://www.nocht.m-society.go.th/download/

หมายเลขบันทึก: 583378เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2015 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

... น่าจะมีรายงานว่ากลุ่มนายทุนคือใครบ้าง?ที่ใช้แรงงานต่างชาติ...มีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมากน้อยเพียงใด? ขึ้นทะเบียนแรงงานถูกต้องหรือไม่?ใครดูแลในเรื่องนี้...และมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?...ประเทศชาติเสียหายมากมายนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท