จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ (การปฏิรูปการแรงงาน ตอน 2)


จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ (การปฏิรูปการแรงงาน ตอน ๒)

จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ (การปฏิรูปการแรงงาน ตอน 2) [1]

5 ธันวาคม 2557

สภาพปัญหาแรงงานต่างด้าว

จากการคาดการณ์ว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านคน เมื่อได้มีการเร่งรัดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ เพื่อจัดทำระบบการจัดการแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ (เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา) ในระหว่างวันที่ ๒๖ มิถุนายน - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว (One Stop Service : OSS) ทั่วประเทศ พบว่า มีจำนวนแรงงานต่างด้าว รวมผู้ติดตาม จำนวน ๑.๖ ล้านคน จังหวัดที่มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุดสามจังหวัดแรกคือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสมุทรสาคร [2] ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยหลายประการ ปัญหาแรงงานต่างด้าวในอนาคตจะเป็นปัญหาที่กระทบกับสังคมประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะลูกหลานแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่ โดยจรรยาบรรณแล้ว หากเจ็บป่วย รพ.ไทยก็ต้องรักษา สถานศึกษาก็ต้องสอนหนังสือให้ แม้ประชาชนคนไทยในปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมสมบูรณ์ทั้งด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา

แรงงานไทยเลือกงานไม่ต้องการงาน 3 D "สกปรก-ยาก-อันตราย" หรืองานเสี่ยง งานหนัก งานสกปรก ส่งผลแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนนับล้านคน [3] อาทิประเภทงานจ้างที่มีกลิ่นเหม็น สกปรก งานหนัก หรืองานที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง นายจ้างจึงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากกว่า เพราะการจ้างแรงงานต่างด้าวๆ มักไม่เกี่ยงงาน ไม่หยุดงาน ชอบการทำงานต่อเนื่อง และที่สำคัญการได้ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ต้องหลบหนีตำรวจ โดยไม่กล้าไปไหน และการที่นายจ้างจัดที่พักให้แรงงานอยู่พักในโรงงาน

ผู้ประกอบการในกิจการดังกล่าวจะกดดันมาทุกรัฐบาลว่า งานเหล่านี้ไม่มีแรงงานคนไทยทำ ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำเพื่อธุรกิจจะได้เดิน แต่ในความเป็นจริงนั้น เชื่อว่าหากเป็นงานที่เหม็น สกปรก หรือการทำงานไม่เป็นเวลา หากจ้างวันละ ๓๐๐ บาท คนไทยไม่ทำ หากลองจ้างวันละ ๕๐๐ บาท หรือ ๑๐๐๐ บาท เชื่อว่าต้องมีคนไทยทำ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างว่าต้องจ้างแรงงานต่างด้าว การให้ค่าจ้างล่วงเวลาแก่คนไทยก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าว

ผลกระทบทางสังคม อาทิ ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด

ผลกระทบทางด้านสาธารณสุข แรงงานต่างด้าวบางส่วน ได้เป็นพาหนะนาโรคใหม่ๆ เข้ามาในประเทศไทย ถึงแม้ว่าแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการตรวจสุขภาพและค้นหาโรคจากหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดและได้รับบัตรประกันสุขภาพ แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก

ผลกระทบด้านความมั่นคง การที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่ทราบจำนวนและที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่มีอยู่แท้จริง แต่มีการประมาณว่าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่อยู่ในประเทศไทยน่าจะมีไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านคน

การดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการแก้ไขแรงงานต่างด้าว ทั้งระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการ ลดผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและสังคม ครอบคลุมทั้งการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนแบบมาเช้า-เย็นกลับ แรงงานตามฤดูกาล แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และแรงงานต่างด้าวประเภทอื่นๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๙/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) ประกอบด้วย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ

พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เมื่อ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ [4] โดยมีตัวแทนระดับปลัดกระทรวง อธิบดี จากกระทรวงต่าง ๆ ร่วมประชุมเพื่อ หารือแนวทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ปัญหาค่าธรรมเนียม สาธารณสุข การใช้แรงงานเด็กเพื่อหาทางแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ที่เป็นธรรมกับนายจ้างและลูกจ้าง โดยจะต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำงานได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกหลักสุขอนามัย ซึ่งแรงงานที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนได้แก่ แรงงานประมง หรือทำงานทางเรือ ซึ่งยากต่อการควบคุม แรงงานทางบก รวมทั้งแรงงานสิ่งทอและไร่อ้อย นโยบายด้านความมั่นคง เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ๕ เรื่อง ประกอบด้วย (๑) ให้ดำเนินการแก้ไขแรงงานต่างด้าวให้ครอบคลุมทุกมิติ (๒) รวบรวมคณะกรรมการทุกคณะของรัฐบาลให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน (๓) จัดระเบียบแรงงาน-นายจ้าง (๔) ฟื้นฟู แก้ไข พิสูจน์สัญชาติ การขึ้นทะเบียนและส่งกลับ ดำเนินการให้ครบทั้งแรงงานประจำวัน (มาเช้า-เย็นกลับ) แรงงานที่เข้ามาตามฤดูกาล และแรงงานรายปี (๕) สร้างแรงจูงใจนายจ้างและผู้ประกอบการ อาทิ การลดภาษี และมาตรการเสริมอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) ซึ่งมีรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้ย้ำเจตนารมณ์ที่ดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ และแรงงานเด็กอย่างจริงจัง และ คสช. พร้อมพิจารณาปรับกฎระเบียบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความคล่องตัวในการดำเนินการเพิ่มขึ้นต่อไป อนึ่ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่อเน้นย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง และขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ พิจารณาจัดระดับไทยบนพื้นฐานของผลการดำเนินงานที่ไทยได้สร้างขึ้นเป็นรูปธรรม [5]

ปัญหาแรงงานต่างด้าวมีความเกี่ยวพันกับกระทรวงต่างทั้ง ๗ กระทรวง มีกฎหมายมากกว่า ๑๒ ฉบับ ซึ่งหลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้วนโยบายของหัวหน้า คสช.ได้เน้นให้บูรณาการทำให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้การจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีปัญหาสะสมมานานนับ ๑๐ ปี โดยต้องบูรณาการงานของกระทรวงต่างๆให้เป็นไปในแนวทางและหลักการเดียวกันให้ครอบคลุมทุกมิติ เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือการแก้ปัญหาแรงงานเด็ก หรือการดำเนินการใดๆ ที่นำไปสู่การค้ามนุษย์ [6]

จากคำสั่ง คสช. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน [7] เพื่อให้ไทยสามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาและผลกระทบทางการค้าอันเนื่องจากปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์อย่างรอบด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพ และสามารถสื่อสารต่อสาธารณะและผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะมีส่วนสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวที่จัดตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในภาพรวมของประเทศไทยต่อไปด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาแรงงานประมง [8] โดยการเข้มงวดสอดส่องดูแลการใช้แรงงาน

ผลการดำเนินการที่ผ่านมาด้านการคนต่างด้าว

(๑) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

คณะทำงานเดิมมี ๗ ยุทธศาสตร์ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕ และมีคำสั่งคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการใหม่ ๖ คณะให้มีผลในวันเดียวกัน คือ [9]

(๑) คณะอนุกรรมการป้องกันและสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

(๒) คณะอนุกรรมการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

(๓) คณะอนุกรรมการผลักดันและส่งกลับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

(๔) คณะอนุกรรมการบริหารจัดระบบการจ้างงานแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

(๕) คณะอนุกรรมการด้านสังคมและคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

(๖) คณะอนุกรรมการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจังหวัด

ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ๓ ล้านคน พร้อมจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล รับประชาคมอาเซียน ในการประชุม ครม.วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ สมช. ขอความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ มียุทธศาสตร์ย่อยรองรับ ๔ ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย [10]

๑.ยุทธศาสตร์การจัดการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ในไทย ครอบคลุม ๔ กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มที่อพยพเข้ามานานและกลับประเทศต้นทางไม่ได้ ๖.๘ แสนคน กลุ่มที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ คือแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านคน กลุ่มที่มีปัญหาความมั่นคงเฉพาะประมาณ ๑ แสนคน ได้แก่ ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยา ชาวเกาหลีเหนือ และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองอื่น ๆ

๒.ยุทธศาสตร์การป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้ามาใหม่

๓.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

๔.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ

โดยระยะเร่งด่วนต้องตั้งคณะกรรมการอำนวยการบริหารยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ (กอ.ปร.) มีนายกฯ เป็นประธาน เป็น คณะกรรมการระดับชาติภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ

(๒) กระทรวงแรงงาน

แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาบุคคลของกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๕๙) [11]

๑. การเสริมสร้างความสมดุลของตลาดแรงงาน และความยั่งยืนให้ภาคแรงงาน

๒. การเพิ่มขีดความสามารถของกำลังแรงงานและผู้ประกอบการในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

๓. การบริหารจัดการด้านแรงงานระหว่างประเทศ

๔. การเสริมสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กำลังแรงงาน

๕. การพัฒนาการบริหารจัดการของกระทรวงแรงงานให้มีความเป็นเลิศ

(๓) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ [12]

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการค้ามนุษย์ ๓ ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด และต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดกลไกประสานงานกลางด้านการค้ามนุษย์ บูรณาการข้อมูล บริการและความช่วยเหลือจากส่วนราชการทุกกระทรวง รวมทั้งเกิดระบบสนับสนุนข้อมูล เพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารในระดับนโยบายในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ปรับแก้ชื่อศูนย์ปฏิบัติการด้านการค้ามนุษย์ ระดับชาติ และระดับจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนี้

๑. ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ (ศปคม.แห่งชาติ) : National Operation Center on Prevention and Suppression of Human Trafficking (NOCHT)

๒. ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัด (ศปคม.จังหวัด) : Provincial Operation Center on Prevention and Suppression of Human Trafficking (POCHT)

เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ คือ ลาว กัมพูชา และพม่า ในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อปรับสถานะให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และเป็นแรงงานที่ได้รับรองสถานะจากประเทศต้นทาง สามารถทำงานในประเทศไทยต่อไป เป็น "บุคคลที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย" โดยให้ประเทศต้นทางเป็นผู้รับรองสถานะบุคคล รวมทั้งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง ครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้เปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่นอกระบบผ่อนผันซึ่งลักลอบทำงานในประเทศโดยไม่รวมบุตรและผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรเป็น การชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ

คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ [13]

คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

กลุ่มเป้าหมาย, เน้นหนัก : แรงงานประมง, การค้ามนุษย์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน, ปัญหาการท่องเที่ยวกับ การค้ามนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับธุรกิจบริการทางเพศ, การค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง, การบันทึกและการประมวลผลข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ภายใต้คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

กลุ่มเป้าหมาย, เน้นหนัก : การบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการค้ามนุษย์, การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑, การจัดระบบการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์, ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์, ระบบการให้บริการล่ามอาสาเพื่อการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์, ความร่วมมือไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์, ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กรุงเทพมหานคร, การบริหารจัดการรายกรณีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์

อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ๔ คณะ [14]

๑. คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม
๒. คณะอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม เพื่อการปฏิรูปแรงงาน
๓. คณะอนุกรรมาธิการศึกษาธนาคารแรงงาน สวัสดิการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์
๔. คณะอนุกรรมาธิการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย


[1] ต่อบทความ "จับกระแสการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวข้ามชาติ(๑)", (๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗), สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

[2] สรุปยอดรวมจดทะเบียนทั้งสิ้น ๑,๖๑๔,๐๔๕ คน (แรงงานต่างด้าว ๑,๕๒๑,๗๐๙ คน ผู้ติดตาม ๙๒,๓๓๖ คน) จำนวนนายจ้าง ๒๑๕,๐๓๒ ราย ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว (One Stop Service : OSS) ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ฐานข้อมูลของสานักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ปรับปรุงยอดวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

[3] วรางคณา อิ่มอุดม และคณะ ๒๕๕๔, "แบงค์ชาติเผยแรงงานไทย80%ไร้ฝีมือ", ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗,http://www.dailynews.co.th/Content/education/217325/index.html

[4] "อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าว", กรมประชาสัมพันธ์, ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗. http://hq.prd.go.th/ewt/PRTechnicalDM/ewt_news.php?nid=3186&filename=index

[5] "กระทรวงการต่างประเทศจับมือหน่วยงานไทยแถลงข่าวประเด็นรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี ๒๕๕๗ การดำเนินการและผลกระทบต่อไทย", ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗. http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/28/46694-กระทรวงการต่างประเทศจับมือหน่วยงานไทยแถลงข่าวประเด.html

[6] "คสช. เอาจริงจ่อไล่บี้นายจ้างแรงงานเด็ก-ต่างด้าว", เดลินิวส์, ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗. http://www.dailynews.co.th/Content/politics/245049/คสช.+เอาจริงจ่อไล่บี้นายจ้างแรงงานเด็ก-ต่างด้าว

[7] "พณ.ตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน", สำนักโฆษกกระทรวงพาณิชย์, ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗.

http://www2.moc.go.th/ewt_news.php?nid=7240

[8] "แผนแม่บทแก้ปัญหาแรงงานประมง", ข่าว ๗ สี, ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗.https://www.youtube.com/watch?v=VUXhwj3rvOs

[9] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๔๔ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ โดยมีการแก้ไข (ฉบับที่ ๒) ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ และแก้ไข (ฉบับที่ ๓) ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓, ดู ใน "รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเรื่อง บทบาทของกรมการปกครองกับการแก้ไขปัญหาแรงงงานต่างด้าว", http://sass.dopa.go.th/files/959478897.pdf

[10] "สมช.ชงยุทธศาสตร์แก้ต่างด้าวหลบเข้าเมือง รับประชาคมอาเซียน", ไทยรัฐออนไลน์, ๒๓ เมษายน ๒๕๕๕, http://www.thairath.co.th/content/255032

[11] "แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาบุคคลของกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๕๙)", ๒๕๕๕. http://www.mol.go.th/sites/default/files/downloads/pdf/Plan_PersonalMOL_2556-2559_for26Sep2013.pdf

[12] ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์, http://www.nocht.m-society.go.th/

[13] http://www.nocht.m-society.go.th/human-traffic/mechanisms/committee.php

[14] กรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านแรงงาน เดิมได้ร่างคณะอนุ กมธ.ไว้ ๕ คณะ คือ

๑. อนุกรรมาธิการ ปฏิรูปการแรงงานด้านจัดหางานเพื่อคนไทยและแรงงานต่างด้าว

๒. อนุกรรมาธิการ ปฏิรูปการแรงงานด้านสวัสดิการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์

๓. อนุกรรมาธิการ ปฏิรูปการแรงงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน

๔. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านประกันสังคม

๕. อนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานด้านการมีส่วนร่วมของแรงงาน

หมายเลขบันทึก: 581741เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2014 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท