KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 200. Measurement


         มีวิทยากร/ที่ปรึกษา และผู้บริหาร กลุ่มหนึ่ง มีศรัทธาแก่กล้าต่อการวัดและประเมิน     ยึดมั่นหลักการว่า ไม่ว่าทำอะไร ต้องสามารถวัดผลได้    วัดผลไม่ได้ก็ต้องวัดกิจกรรมหรือกระบวนการได้    ส่วนไหนที่ให้คะแนนโดยตรงไม่ได้ ก็ใช้วิธีกำหนดตัวชี้วัด แล้วให้เกรดของแต่ละตัวชี้วัดเป็นคะแนน ๑ - ๕

        ผมมีความเห็นว่า การวัดและประเมิน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย     ข้อดีก็คือ ทำให้เรารู้ว่ามาตรการ หรือปฏิบัติการแต่ละเรื่องนั้น ให้ผลตามที่คาดหมายหรือไม่     ยิ่งถ้าใจกว้าง ให้การวัดและประเมินมีส่วนที่เป็นการประเมินเชิงคุณภาพด้วย ก็จะยิ่งได้ข้อมูลรายละเอียด สำหรับนำมาใช้ปรับปรุงงาน     ช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้มุมมองที่กว้างขึ้น    เห็นภาพจากมุมที่ตนมองไม่เห็นได้ด้วย      การวัดและประเมินจะมีคุณค่ามากต่อเมื่อทุกฝ่ายมีทัศนะเชิงบวกต่อการประเมิน

        ข้อเสียของการวัดและประเมินผล เกิดขึ้นจาก  (๑) วัดผิดที่ แล้วเอาไปตีความผิด   (๒) วัดได้ไม่แม่นยำ เกิดความเข้าใจผิด  (๓) ใช้ทัศนะเชิงลบต่อการประเมิน

        แต่ในการทำ KM เราวัดและประเมินกันอย่างมีสุนทรียมากกว่าการวัดและประเมินในตำรา      เราวัดและประเมินกันอยู่ทุกขณะจิต     เพราะ "คุณกิจ" และ "คุณอำนวย" จะประเมินผลงานหรือกิจกรรมที่ตนทำอยู่ทุกขณะจิต     นอกจากประเมินด้วยตนเองแล้ว เพื่อนร่วมงานก็ช่วยประเมินด้วย ในกิจกรรม AAR  และกระบวนการ ลปรร. อื่นๆ

        ในการทำ KM มีการวัดและประเมินผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง     คือการวัดผลลัพธ์ของงาน     ถ้าทำ KM แล้วผลลัพธ์ของงานไม่ดีขึ้น  หรือกลับแย่ลง     เราก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าเราทำ KM ผิดทางหรือเปล่า     เราอาจทำ KM ผิดประเด็นก็ได้    คือไปเน้นเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญของงาน     เข้าภาษิตจีนว่า "โง่แล้วยังขยัน"   

         การวัดผลของ KM ควรวัดแบบ Balanced Score Card     คือวัดหลายปัจจัย ที่บางปัจจัยอาจจะดูขัดแย้งหรือถ่วงดุลกัน     สิ่งที่ควรวัดได้แก่   วัฒนธรรมองค์กร ว่าเป็นวัฒนธรรมแนวราบมากขึ้นหรือไม่    สมาชิกมีความสามัคคีรักใคร่กันมากขึ้นหรือไม่     สมาชิกเป็นบุคคลเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่     เกิดการเรียนรู้เป็นที่มีการ ลปรร. ภายในสมาชิกขององค์กรมากขึ้นหรือไม่     มี "คลังความรู้ปฏิบัติ" ที่ "มีชีวิต" หรือไม่    

วิจารณ์ พานิช
๒ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 58317เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์คะ เผลอกระพริบตาแค่นิดเดียวมาเป็นตอนที่ 200 แล้ว ได้รับเป็นเอกสารรวมเล่มจาก มน. ได้ถึงตอนที่ 190 ห่างแค่ไม่กี่วัน หนูได้ประโยชน์จากบันทึกนี้มากค่ะการทำ KM เราวัดและประเมินกันอย่างมีสุนทรียมากกว่าการวัดและประเมินในตำราเราวัดประเมินกันอยู่ทุกขณะจิตเพราะ "คุณกิจ" และ "คุณอำนวย" จะประเมินผลงานหรือกิจกรรมที่ตนทำอยู่ทุกขณะจิต
สิ่งที่ควรวัดได้แก่  
1.วัฒนธรรมองค์กรว่าเป็นวัฒนธรรมแนวราบมากขึ้น
2.สมาชิกมีความสามัคคีรักใคร่กันมากขึ้น  
3.สมาชิกเป็นบุคคลเรียนรู้มากขึ้น   
4.เกิดการเรียนรู้เป็นทีม
5.มีการ ลปรร. ภายในสมาชิกขององค์กรมากขึ้น
6.มี "คลังความรู้ปฏิบัติ" ที่ "มีชีวิต"  
จะลองนำมาเป็นโจทย์ วัด ใน มอ.ดูค่ะ
ด้วยความเคารพ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท