ถอดบทเรียน - เด็กพิเศษที่วิเศษ


ของขวัญวันคริสต์มาสอีฟคือการทำงานเป็นทีมร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาวะ (คศน.) กับสมัชชาสุขภาพ (สช.) ด้วยความขอบพระคุณพี่จารึก พี่เฮ้าส์ พี่ประสาน น้องเจี๊ยบ น้องมินท์ น้องนุ้ย และน้องเบญ รวมทั้งวิทยากรและผู้ร่วมประชุมทุกท่าน

ผมทำหน้าที่เป็นกระบวนกรเน้นการถอดบทเรียนด้วยแผนที่ความคิด และอ้างอิงกรอบการทำงานเพื่อเด็กพิเศษของประเทศแคนาดา

จึงขอสรุปความรู้ความเข้าใจในโจทย์ "การพัฒนาเด็กพิเศษ...สร้างสรรค์หรือสงเคราะห์" ณ เวทีสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2557 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดสูจิบัตรงานได้ที่นี่ ดังประเด็นที่น่าสนใจต่อไปนี้:-

ประเด็นที่ 1: ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กพิเศษ

ระดับสร้างสรรค์ คือ บุคลากรทางการแพทย์และทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะความสามารถในการพัฒนาเด็กพิเศษและครอบครัวของเด็กพิเศษทุกคนในประเทศไทยให้มีสุขภาพดีหรือสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคม (ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก) โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมสนับสนุนให้เกิดการกระจายต้นแบบของศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษครบวงจรและผู้ปกครองของเด็กพิเศษมีบทบาทหลักในการพัฒนาเด็กพิเศษ รวมทั้งเกิดการวิจัยอย่างเป็นระบบในการพัฒนาเด็กพิเศษตามบริบทไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ระดับช่วยเหลือ คือ บุคลากรทางการแพทย์และทางการศึกษาในบางพื้นที่ตามสามัญสำนึกในหน้าที่และแรงบันดาลใจ เช่น เชียงใหม่โมเดลเริ่มจากปรับทัศนคตินศ.ทันตแพทย์ผ่าน social story ของผู้ปกครองร่วมกับทันตแพทย์ในการช่วยเหลือเด็กพิเศษมิให้กลัวการทำฟัน การทำงานเชิงรุกของแพทย์ ครู และครูการศึกษาพิเศษ ณ รร.สาธิต ม.เกษตรฯ การทำงานอย่างเสียสละของทีมครูบ้านเรียนชวนชื่น การทำงานภาคเอกชนให้เด็กพิเศษแทนที่จะรอคิวภาครัฐที่นานเกินรอ สภาบ้านเรียนที่กำลังสร้างเครือข่ายกับนักกิจกรรมบำบัดให้เด็กพิเศษมีโอกาสเรียนหนังสือได้ ทีมวิศวกรชีวการแพทย์-นักกิจกรรมบำบัด-นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายในโครงการหุ่นยนต์เพื่อเด็กพิเศษ ม.มหิดล ฯลฯ เป็นต้น และอยากขับเคลื่อนให้เกิดระบบการพัฒนาเด็กพิเศษอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งควรริเริ่มให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (เน้นสื่อสารบวก บวก มากกว่า สื่อสารตำหนิแบบไม่มีทางออก-ยกตัวเอง/มีอัตตา) ในเวทีสาธารณะและค่อยๆพัฒนานโยบาย กฎหมาย แนวทาง ระบบ และรูปแบบการพัฒนาเด็กพิเศษให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทย

ระดับสงเคราะห์ คือ บุคลากรทางการแพทย์และทางการศึกษาต่างฝ่ายต่างทำงานและขาดการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ ทำให้เกิดคำถามมากมาย เช่น ทำอย่างไรจะพัฒนาเด็กพิเศษได้ทุกระดับตามศักยภาพ ทำอย่างไรจะยอมรับข้อจำกัดในการพัฒนาเด็กพิเศษที่มีปัญหาพฤติกรรมซับซ้อน ทำอย่างไรจะจัดการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำอย่างไรจะลดการใช้ยาที่เกินจำเป็นจากแพทย์และใช้การปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กพิเศษตามธรรมชาติ ทำอย่างไรที่เด็กพิเศษจะเติบโตเป็นพลเมืองที่วิเศษของไทยและรู้ทันการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งเทคโนโลยี ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงบริบทบ้าน-โรงเรียน-ชุมชนเพื่อค้นหาและพัฒนาเด็กพิเศษตามศักยภาพที่แท้จริง ทำอย่างไรทำอย่างไรจะเปิดเผยให้ประชาชนไทยยอมรับและมีเมตตาช่วยเหลือเด็กพิเศษ ทำอย่างไรผู้ปกครองเด็กพิเศษที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และทางการศึกษาจะกล้าแสดงพลังเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างมีส่วนร่วมทั้่งรัฐและเอกชน ฯลฯ

ประเด็นที่ 2: การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำงานเป็นทีมที่บ้าน-ชุมชนของเด็กพิเศษ (Home Team)

ระดับสร้างสรรค์ คือ มีทีมสหวิชาชีพที่สำคัญต่อการพัฒนาเด็กพิเศษที่บ้าน-ชุมชนในแต่ละครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ แพทย์/พยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการทารกและเด็ก นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย นักกายภาพบำบัด และครูการศึกษาพิเศษ ที่มีประสบการณ์การทำงานเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษและเกิดการทำงานนอกระบบ เช่น การประเมินเด็กในพื้นที่และส่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งตั้งเป้าหมายร่วมกับผู้ปกครองในการวางแผนกระบวนการเพิ่มทักษะทางการศึกษาและ/หรือทักษะทางการประกอบอาชีพในระยะยาว

ระดับช่วยเหลือ คือ ขาดทีมสหวิชาชีพที่สำคัญในการลงพื้นที่ช่วยเหลือเด็กพิเศษอย่างต่อเนื่อง มีบางวิชาชีพให้ความช่วยเหลือเชิงรุกแบบจิตอาสา มีการเชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์และทางการศึกษาเป็นครั้งคราวแต่ก็ขาดอัตรากำลังคนในวิชาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาเด็กพิเศษ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เป็นต้น ตลอดจนมีหลายวิชาชีพอยากช่วยเหลือเด็กพิเศษแต่ก็ลองผิดลองถูกและมีความพยายามเรียนรู้ในเชิงวิจัยนำร่อง

ระดับสงเคราะห์ คือ ผู้ปกครองและครูทั่วไปยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในการมีทักษะการพัฒนาเด็กพิเศษที่บ้านและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม (ภาครัฐเน้นนโยบาลสงเคราะห์มากกว่าช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ และหลายๆภาคส่วนต้องใช้ความพยายามหางบประมาณจากภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนไทยยังไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กพิเศษได้อย่างจริงจัง)

ประเด็นที่ 3: การวิจัยและพัฒนาเป็นระบบในมิติความรู้เชิงลึกและเฉพาะทางในเด็กพิเศษ

ระดับสร้างสรรค์ คือ รัฐหรือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนเชิงนโยบายและงบประมาณร่วมกับภาคประชาสังคมในการเพิ่มโอกาสทำงานวิจัยเป็นระบบเพื่อการพัฒนาเด็กพิเศษให้วิเศษหรือเป็นพลเมืองดีของสังคมไทย รวมทั้งเน้นการวิจัยเชิงระบบของทุกสหวิชาชีพที่สะท้อนการเพิ่มอัตรากำลังคน การศึกษาข้ามศาสตร์ในทุกระดับของบุคลากรทางการแพทย์และทางการศึกษา การวิจัยแนวทางการปฏิบัติที่ดีเยี่ยมของการประเมินและการให้บริการอื่นๆ แบบเชิงรุกต่อภาวะเด็กพิเศษที่ซับซ้อนทางพฤติกรรม

ระดับช่วยเหลือ คือ รัฐหรืองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนงบประมาณในบางประเด็น เช่น นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อเด็กพิเศษ แต่ในบางประเด็นที่สำคัญ เช่น คุณภาพชีวิตของเด็กพิเศษที่มีโอกาสได้งานทำ คลิกอ่านประเด็นที่มีกลุ่มคนดีช่วยเหลือเด็กบ้านเรียนชวนชื่น การเพิ่มโอกาสในการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนร่วมกับกิจกรรมบำบัดในเด็กพิเศษ การอบรมนักพลศึกษามาช่วยเหลือเด็กพิเศษ ณ ภาควิชากิจกรรมบำบัด ม.เชียงใหม่ เป็นต้น

ระดับสงเคราะห์ คือ รัฐหรืองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นไม่เห็นความสำคัญและไม่มีการวางแผนเชิงนโยบายของการวิจัยและพัฒนาเป็นระบบในมิติความรู้เชิงลึกและเฉพาะทางในเด็กพิเศษ มีแต่เพียงการจัดสรรงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือเด็กพิเศษด้วยความสงสาร

หมายเลขบันทึก: 583083เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ได้ข้อมูลการถอดบทเรียนครบทั้ง 3 ประเด้นเลยครับ

ได้พบปัญหาที่น่าทำวิจัยต่อด้วยครับ

ขอบคุณน้องดร.Pop มากครับที่บันทึกให้อ่าน

มีดอกไม้มาฝาก..มีรักมามอบให้

เป็นขวัญ..กำลังใจ..กันและกัน..

ขอบพระคุณมากครับและขอส่งความสุขปีใหม่แด่พี่ขจิต คุณยายธี อ.ธวัชชัย และพี่โอ๋


ท่าน อาจารย์ Dr.Pop ที่ได้ทำแต่สิ่งดีดีมาตลอด .... ขอให้มีความสุขและ มีสุขภาพกาย-สุขภาพใจที่ดี.....มีความสุขมากๆๆ นะคะ


ขอบพระคุณมากครับและขอส่งสุขภาวะปีใหม่แด่พี่ดร.เปิ้นด้วยครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท