ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๑๖ : ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทศบาลบ้านวิทย์น้อย (๗) "โครงงานระดับอนุบาล"


อ่านบันทึกที่ ๕ ที่นี่

อ่านบันทึกที่ ๖ ที่นี่

ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "เทศบาลบ้านวิยท์น้อย" ที่ผ่านมา คำถามยอดฮิตที่หลายๆ คนถามคือ "....นี่ใช่โครงงานหรือไม่คะ...?" บันทึกนี้จะตอบแบบ "ฟันธง" เพื่อให้ท่านวางใจ ทิ้งความสงสัยนี้ไปแล้วลงมือทำก่อน แม้ต่อไปท่านอาจย้อนมาพบว่า คำตอบเหล่านี้นั้น "ใช่หรือไม่" สามารถตีความได้หลายทาง

ลักษณะสำคัญของโครงงาน

๑) เป้าหมายของการทำโครงงาน คือ "ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์"

๒) วิธีการทำโครงงาน คือ "วิธีการทางวิทยาศาสตร์" (ตั้งคำถาม คาดคะเนคำตอบ ตรวจสอบสมมติฐาน สรุปผลการทดลอง)

๓) ผู้ที่คิด-ทำ-นำเสนอโครงงาน ต้องเป็นผู้เรียน (ใครคิด คนนั้นได้ฝึกคิด คนนั้นเก่งคิด, ใครทำ คนนั้นได้ฝึกทำ คนนั้นมีทักษะการทำ, ใครนำเสนอ คนนั้นได้ "ฝึกนำเสนอ" คนนั้นจะยิ่งเข้าใจ มั่นใจ ไม่เก้อเขิน)

๔) การเรียนรู้ด้วยโครงงาน ต้องเน้น "กระบวนการ" มากกว่า "เนื้อหา" (ผลการทำโครงงาน ไม่มีคำว่า "ไม่สำเร็จ" เพราะผู้เรียนจะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะกระบวนการเสมอ)

๕) การเรียนรู้ผ่านโครงงานคือการเรียนรู้อยู่กับตัวแปร (เป็นเรื่องของการ สังเกต ทดลอง แก้ปัญหา เพื่อหาความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ภายใต้ตัวแปรควบคุม)

ความสามารถของผู้เรียนต่อการทำโครงงาน

๑) ตั้งปัญหาด้วยตนเองได้

๒) กำหนดตัวแปรต่างๆ ได้ ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุม -> คาดคะเนคำตอบ หรือตั้งสมมติฐานเป็น

๓) ใช้เหตุ-ผลบนฐานความจริงได้ (มีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ คิดเป็นเหตุเป็นผล)

๔) มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์ (มีสติ สมาธิ และเชื่อมั่นในวิธีการทางวิทยาศาสตร์)

ข้อสังเกตช่วยพิจารณาว่า ใช่โครงงานหรือไม่

๑) โครงงานไม่ใช่ "กิจกรรม" ซึ่งทำไปเพื่อให้ได้ทำ หรือ ทำไปเพราะอยากได้สิ่งที่ต้องการ

๒) โครงงานพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ "โครงงานที่มีการทดลอง" (เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ)

๓) โครงงานไม่ใช่ "สิ่งประดิษฐ์" ซึ่งหลายคนเรียกว่า "โครงงานสิ่งประดิษฐ์" และโดยมาก "สิ่งประดิษฐ์" เหล่านั้นส่วนใหญ่ ไม่ได้ฝึกทักษะกระบวนการใด เพราะไม่ได้ทดลองใช้ ปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น

๔) โครงงานไม่ใช่ "การสืบค้น สอบถาม" ตามที่หลายคนเข้าใจว่าเป็น "โครงงานสำรวจ" ซึ่งไม่ได้มีกระบวนการ "ตรวจสอบ" ใดๆ ที่ต้องใช้ "การวิเคราะห์ สังเคราะห์ อภิปราย" หรือ "ขยายผล ต่อยอด"...

ข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อให้ง่ายและทำโครงงานได้ด้วยตนเอง

๑) ตัวแปรต้น คือ "เหตุ" ตัวแปรตาม คือ "ผล" (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้เปลี่ยน สิ่งนั้นจริงเปลี่ยน .....ฯลฯ สิ่งนี้=ตัวแปรต้น สิ่งนั้น=ตัวแปรตาม) ตัวแปรควบคุม คือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ต้องทำให้ "คงที่"

๒) วิธีการคือ เปลี่ยนปริมาณหรือขนาดของ "ตัวแปรต้น" แล้วมุ่งความสนใจโดยใช้การวัด "ตัวแปรตาม" ด้วยวิธีที่เหมาะสม

๓) ในแต่ละการทดลอง ต้องมี "ตัวแปรต้น" เพียงตัวแปรเดียวเท่านั้น

๔) วิธีตั้งชื่อโครงงานแบบหนึ่งที่ใช้ได้ คือ " ผลของ...ตัวแปรต้น....ต่อ....ตัวแปรตาม... (ในสภาวการณ์ของ .....ตัวแปรควบคุม...(ถ้ามี))" เช่น

  • ผลของ จำนวนขดลวด ต่อ จำนวนของลวดหนีบกระดาษที่ดูดติด
  • ผลของ จำนวนก้อนของถ่ายไฟฉาย ต่อ จำนวนตะปูเข็มที่ดูดติดได้
  • ผลของ ขนาดตะปูที่ใช้เป็นแกนแม่เหล็กไฟฟ้า ต่อ ระยะห่างที่ไกลที่สุดที่เข็มหมุดเริ่มถูกดูด

เมื่อผู้เรียนมีองค์ความรู้และทักษะมากขึ้น จะสามารถนิยามและตีความตัวแปรต่างๆ ให้เป็นปริมาณทางวิทยาศาสตร์ได้ เช่น หัวข้อเรื่องทั้ง ๓ เรื่องนี้ ได้เป็น

  • ผลของ จำนวนขดลวด ต่อ ความเรงของแม่เหล็ก
  • ผลของ กระแสไฟฟ้า ต่อ ความแรงของแม่เหล็ก
  • ผลของ พื้นที่หน้าตัดของแกนแม่เหล็กไฟฟ้า ต่อ ความแรงของแม่เหล็ก

สรุป

  • จะ "ใช่ หรือ ไม่ใช่ โครงงาน" ขึ้นอยู่กับว่า ผู้เรียน "ได้ หรือ ไม่ได้" ฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่...
  • การเรียนรู้ที่ดีที่สุดต่อการฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือ "การสอนด้วยโครงงาน" หรือ Project-base Learning (PBL)
  • โครงงานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ "โครงงานทดลอง" เพราะผู้เรียนได้ลงมือทำจริง โดยเฉพาะโครงการแก้ปัญหา หรือเรียกว่า การเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา หรือ Problem-based Learning (PBL)

เสนอแนะ

  • "ปัญหา"ที่ดีเท่านั้นที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และความท้าทายให้ใฝ่เรียน ซึ่งจะส่งผลให้ "เรียนด้วยความสุข สนุกที่ได้เรียน"
  • "ปัญหา" ที่ดีที่สุด คือ ปัญหาจริงๆ ในชีวิต ปรากฎการณ์จริงๆ ที่เกิดในธรรมชาติ
  • ดังนั้น การฝึกให้นักเรียน "ตั้งคำถาม" จึงไม่ใช่การฝึกให้นักเรียน "คิดตั้งคำถาม" หรือ "ตั้งคำถามตามความคิด" หากแต่เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อม โอกาส และกิจกรรม ที่จะทำให้เด็ก "สังเกตเห็น และสงสัย" ซึ่งจะนำไปสู่ "การตั้งคำถามตามความเป็นจริง" ด้วยตนเอง

แท้จริงแล้วการสอน "โครงงาน" ก็คือการปลูกบำรุง "ต้นกล้า" หรือ "หน่ออ่อน" ของการสอน "วิจัย" นั่นเองครับ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น "โครงงานระดับอนุบาล" หรือ "การวิจัยของศาสตราจารย์" ก็ใช้ "ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์" เช่นเดียวกัน แตกต่างกันก็เพียงความเชี่ยวชาญชำนาญของการสังเกตทดลอง และสิ่งของเครื่องมือที่ใช้เท่านั้นเอง....

ขอบจบบันทึก ๗ ตอน สำหรับครูเทศบาลบ้านวิทย์น้อย ไว้เท่านี้ครับ มีสิ่งใดสอบถามได้ทาง Line- 0815499870 สะดวกสุดครับ



ขอบคุณ ผศ.ดร.กฤษกร ปาสาใน วิทยากรหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงครับ





หมายเลขบันทึก: 582435เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2014 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2014 00:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท