beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

สมุดแห่งการเรียนรู้ของอาจารย์โอ๊ตส่งบีแมน <ตอน๑>


บันทึกนี้เขียนโดยอ.โอ๊ต หลายปีมาแล้ว ลองอ่านดูครับ

บันทึกการสอน ปรสิตวิทยาทั่วไป ภาคเรียนต้น ปีการศึกษา 2553 (บันทึกครั้งที่หนึ่ง-และครั้งเดียว) 11 มิถุนายน 2553

  • ความคิดนี้เริ่มคิดได้จากเมื่อวานนี้ ที่ได้ไปนั่งฟังการสอนวิชาการเลี้ยงผึ้งของอาจารย์สมลักษณ์
  • อาจารย์เริ่มต้น "สอน" โดยการถามนิสิตว่า คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยนเรศวรจะศึกษาเกี่ยวข้องกับ "ผึ้ง" อย่างไรได้บ้าง นั่งฟังไปก็ได้ความคิดดี
  • แล้วอาจารย์ก็ถามว่า ทำไมประเทศอินเดียจึงเก่งเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์ ก็ยกมือตอบไปว่า "เพราะประเทศอินเดียมีคนหลายชาติหลายภาษา" จริง ๆ ก็ไม่รู้หรอก
  • และอาจารย์ก็บอกว่าเพราะในชีวิตประจำวันเขาคุ้นเคยกับภาษามากมายอยู่แล้ว ทำให้เก่งเรื่องภาษานั่นเอง อืม! อย่างนั้นเองหรอกหรือ
  • แล้วก็รู้สึกว่านิสิตที่เรียนวิชาผึ้งนั่งเงียบเรียบร้อยดี ไม่ค่อยคุยกัน บางคนก็นั่งจด บางคนก็นั่งฟัง บางคนก็คงใจลอยบ้าง คิดเรื่อง อื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่รบกวนการสอน
  • ขนาดนั่งโต๊ะแถวหลังสุด เวลาพูดตอบอาจารย์ อาจารย์ยังได้ยิน รู้สึกว่าต่างจากวิชาปรสิตฯ ที่นิสิตบางส่วนคุยกันเวลาเราพูด มีไม่ถึงครึ่งที่มีสมุดจด และมองเห็นว่าส่วนใหญ่นั่งฟังเฉยๆ ไม่เหมือนเด็กปีสาม ที่มีสมุดจดมากกว่า อืม! อย่างนั้นนิสิตคงจะต้องมีตำราอ่านเอง หรือว่าอ่านมาแล้ว หรือว่าที่สอนง่ายไม่ต้องจด หรือว่าสอนเหมือนตำราไม่ต้องจด .... ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีอะไรแปลกหรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ...

พักสายตาก่อนอ่านต่อนะครับ-บีแมน

  • (ต่อนะ) แล้วพอนั่งฟังอาจารย์สอนไปสักพัก ก็รู้สึกว่าคิดตามไปด้วย ที่สำคัญต้องมีสตินั่งฟัง และคิดตามไปตลอด ก็เลยคิดว่านิสิตจะได้ประโยชน์จากการเรียนวิชานี้ ถ้าเขาฟ้งและคิดตามไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความคิด ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้คิดเป็น อย่างเราก็ขอสารภาพว่าคิดเองไม่เป็นหรอก แต่ตอนนี้จะต้องบอกตัวเองให้คิด คิด คิดให้มาก
  • และคิดอย่างเดียวไม่พอ เพราะจริงๆ นั่งคิดได้ทั้งวัน สารพัดเรื่อง แต่ไม่ได้ทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย (คิดแล้วต้องทำ-บีแมน) เสียเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ
  • แล้วก็ได้ฟ้งมาว่า การนั่งใจลอยคิดเรื่อยเปื่อยนั้น แสดงว่าขณะนั้นไม่มีสติ เพราะสติไปอยู่ที่อื่นๆ เรียกว่า "ฝันกลางวัน" นั่นแหละ เฮ้อ!

พักสายตาอีกครั้ง ก่อนอ่านต่อ-บีแมน

  • (ต่ออีกที) ก็เลยนั่งคิดต่อไปว่า วันนี้ (วันที่สิบ) สอนปรสิตฯ เมื่อเช้าผ่านมาพอจะใช้ได้สำหรับครั้งที่สองของเทอมนี้ ครั้งแรกคือชั่วโมงแรกคิดว่าไม่ดี เพราะไม่ได้พูดในสิ่งที่ควรพูดเท่าไร แล้วก็เพราะชะล่าใจ ไม่เตรียมตัวไว้ก่อน พิมพ์ตารางเรียนก็เส้นยาแดงเลยแปดซะอีก รู้สึกสำนึกผิดมาก เพราะเข้าสอนสาย สาย แล้วก็สายอีกโดยเฉพาะเทอมที่ผ่านมา แย่มากๆ วันที่เก้าเลยถูกเรียกพบโดยคณบดี ก่อนถึงวันที่เรียกพบ มีความรู้สึกเหมือนเป็นเด็กทำผิดจะต้องถูกครูตีแน่ๆ และก็คิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วสำหรับการประเมินจากนิสิตที่ได้คะแนนต่ำกว่าสามจุดห้า และก็คิดว่าคณบดีคงไม่ถึงกับไล่ออก
  • พอไปเข้าประชุมก็รู้สึกว่าบรรยากาศดีกว่าที่คิด เพราะคณบดีก็ไม่ได้ตำหนิตรงๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นเรารู้ตัวเองดีว่า ควรได้เกรดเอฟ เอฟ สำหรับเทอมที่ผ่านมา และก็ได้อ่านเอกสารที่แจกให้เกี่ยวกับการเป็น "ครู" ควรปฏิบัติอย่างไร (อย่างแรกคือมีจิตใจที่พร้อมจะเป็นครู)
  • ก็คิดอยู่ว่าต้องทำตัวใหม่ ต้องตั้งใจให้มาก กว่าที่ผ่านมา วันนี้ก็คิดอีกว่า เวลาสอนที่บางคนอาจแทนตัวเองว่า "ครู" แต่เรารู้สึกว่าไม่อยากพูดแบบนั้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่สมควรใช้คำนั้น เพราะว่ารู้สึกว่าคำ คำนี้ดูจะยิ่งใหญ่ และมีคุณค่ามาก
  • แต่มีนิสิตในที่ปรึกษาคนหนึ่งชื่อแคท เวลาโทรหาเราจะเรียกว่า "ครู" เสมอ ฟ้งดูแล้วรู้สึกว่าเราเป็นคนสำคัญอย่างไรก็ไม่รู้ สำหรับคำว่าอาจารย์ ก็ยังไม่ค่อยอยากใช้ เพราะรู้สึกว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้มากๆ .. เฮ่อ1

พักสายตาอีกครั้ง ก่อนอ่านต่อ-บีแมน

  • (ต่ออีกนะ) สรุปว่าประมวลเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งมวลแล้ว ก็เลยต้องปฏิวัติตัวเองใหม่ ด้วยประการฉะนี้แล ...
  • อีกเรื่องก็คือ ที่อาจารย์ถามเรื่องการสอนวิชาอินโทรฯ เมื่อเทอมที่ผ่านมา จริงๆ ก็คือ รู้สึกขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ที่ช่วยกรุณาสอนให้ทั้งหมด และก็รู้สึกว่าเป็นบุญของเด็กที่ได้อาจารย์มาสอน เพราะสำหรับตัวเองคิดว่าไม่พร้อมเลย ใจไม่พร้อม ก็เลยพาให้ไม่อยากทำ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองละเลยหน้าที่
  • สำหรับการนั่งฟังอาจารย์สอนนั้น ก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ดี เพราคิดว่าอยากจะทำตัวเป็นนิสิตและตั้งคำถาม ถามแทนนิสิต แต่ก็เกรงว่าจะขัดจังหวะ หรืออาจไม่ตรงประเด็น หรืออาจทำให้นิสิตเข้าใจผิด หรือดูเป็นการ ... อะไรๆ ที่คิดเองได้อีกเยอะ ก็เลยนั่งฟ้งเงียบๆ แต่ก็มีบางทีฟังเพลิน นั่งงีบแต่ก็ครั้งสองครั้งเองนะคะ
  • อีกอย่างในบางครั้งซึ่งมักจะบ่อยๆที่อาจารย์พูดทำนองว่า ไม่สอนก็ได้เงินเดือน ทำนองนี้นะคะ รู้สึกว่าบางทีเด็กอาจจะคิดว่าอาจารย์ไม่อยากมาสอนจริงๆ แต่ถ้าคิดดีก็อาจจะขอบคุณที่อาจารย์เสียสละเวลามาสอน แต่ที่ตัวเองคิดก็คือคิดว่าทำไมอาจารย์ถึงมาสอนให้
  • จริงๆ ทำให้ตัวเองขี้เกียจขึ้น แต่จริงๆ ก็แปลกใจเหมือนกันคะ แต่ทั้งหลายทั้งมวลแล้วก็คือ รู้สึกเกรงใจอาจารย์มากๆ ที่สละทั้งเวลาและแรงกายมาช่วยสอน นะคะ ไม่รู้ว่าจะขอบพระคุณอาจารย์อย่างไรดีนะคะ ... ด้วยความเคารพนะคะ

ท้ายสุดแต่ไม่ใช่สุดท้าย (last but not least)

  • ก็คือวันที่สิบตอนเช้าที่สอนปรสิตฯ สอนเรื่อง symbiosis ซึ่งควรจะพูดแค่ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ก็ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง โดยเกริ่นนำความหมายและชนิดรวมทั้งยกตัวอย่างเล็กน้อย และจากนั้นก็ให้นิสิตเล่นเกม symbiosis buddy game (ต้นแบบจากในเว๊บ) โดยแจกรูปสิ่งมีชีวิตให้นิสิตคนละหนึ่งชนิด (รูปทำเป็นการ์ดเล็กๆ พิมพ์สีจากเครื่องของภาควิชา เตรียมเสร็จก่อนถึงเวลาสอนพอดี ... อีกแล้ว!
  • ทำให้หัวใจเต้นเร็วทุกที แล้วรน..แต่พอจะควบคุมได้ แต่เวลาสอนก็รู้สืกว่าเสียงและมือสั่น ทำไมเป็นอย่างนี้นี่ นี่ปีที่สิบห้าแล้วนะ... โอ๊ย! ให้ตายเถอะโรขึ้น!)
  • จากนั้นก็ให้เวลานิสิตไปจับคู่กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบของ symbiosis antagonism และ neutralism โดยที่ต้องตอบคำถามสี่ข้อที่ให้ไว้ด้วย คือ
    • รูปแบบความสัมพันธ์คือแบบไหน
    • ทำไมต้องมาอยู่ร่วมกัน
    • อยู่แล้วสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร
    • และถ้าสิ่งมีชีวิตใดๆ สิ่งมีชีวิตหนึ่งสูญพันธ์ไปจะมีผลกับสิ่งมีชีวิตที่เหลือหรือไม่อย่างไร
  • จากนั้นก็ให้นิสิตแต่ละคู่ออกมาพรีเซนต์หน้าห้อง ขณะที่เด็กพูดก็ให้เขาพูดให้จบ (อันนี้นึกถึงอาจารย์ที่จะฟังให้เขาพูดให้จบก่อน ก็เลยคอยเตือนตัวเอง) แล้วก็ถามบ้าง แต่ก็จะไม่บอกว่าไม่ถูก
  • แล้วก็เฉลยซึ่งก็จะไม่ตรงกับเด็กบ้างเพราะเราคิดมาเป็นคู่ แต่เด็กมีรวมกันเป็นสาม เป็นสี่ ของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งก็เป็นไปได้อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าอันนี้ดี คือให้เขาคิดและคุยกันในห้อง
  • แต่มีอันหนึ่งคือ เด็กคนหนึ่งได้รูปปลวกกับไตรโคนิมฟา (Trichonympha โปรโตซัวในลำไส้ปลวก) ซึ่งมีความสัมพันธ์แบบ mutualism คือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งเคยเรียนมาแล้ว แต่เด็กบอกว่าเป็น parasitism แล้วเด็กคนนี้ก็บังเอิญได้รูปปลวกกับไตรโคนิมฟา คนเดียวสองใบคู่กันพอดี (จริงๆ ต้องคนละรูปแต่พอดีมีนิสิตขาดเรียน จึงมีบางคนได้สองหรือสามใบบ้าง) ก็ทำให้ไม่มี buddy และก็แปลกที่สังเกตว่าส่วนใหญ่ก็คุยกัน แล้วนิสิตคนนี้ทำไมเข้าใจผิด หรือว่าไม่ได้อภิปรายกับเพื่อนๆ คนอื่นๆ ... ?
  • สุดท้ายเอาเป็นว่าตัวเองก็เลยต้องมานั่งคิดอีกว่า ชั่วโมงต่อไปครั้งที่สามจะสอนแบบไหนดี

หมายเลขบันทึก: 582063เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2014 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท