ความไวในการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น เป็นรากฐานของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่


สังคมยุคปัจจุบันเป็นสังคมแห่งความเร็ว พอเร็วก็จะเริ่มขาดบางสิ่งบางอย่างไปที่จะมากับความช้า อาทิ ความละเอียดถี่ถ้วน ความประณีต ความรอบคอบหรือคิดรอบด้าน และความลึกซึ้ง หากแต่เราจะสะสมเอาความกระชับ ความง่าย ความสะดวก การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และปริมาณงานที่ได้แทน

สิ่งที่ขาดไปนั้น ถูกแทนที่ด้วยความตื้นเขิน ความผิวเผิน ฉาบฉวย เปราะบาง แตกหักง่าย ซึ่งทุกอย่างที่มาแทนนี้เป็นพยาธิกำเนิดหรือปัจจัยที่เลวร้ายต่อ "ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน" เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีต้องอาศัยเวลา อาศัยความลึกซึ้ง อาศัยความเข้าอกเข้าใจ ความสามารถในการรับฟังเรื่องราวของอีกฝ่าย ความสามารถในการมองเห็นคุณค่า อารมณ์ และความรู้สึกของผู้อื่น ทักษะเหล่านี้จะมาได้ด้วย "ความละเอียด ประณีต และความไวต่อความรู้สึกผู้คน" เท่านั้น

ถ้าหากเราไม่ได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่่น เราจะไม่เห็นคุณค่าหรือไม่จะไม่เกิดอะไรหลายๆอย่างที่ดีงามไป เช่น ความรัก ความเมตตา ความกรุณา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ความรู้สึกของคนที่อยู่เบื้องหน้าทั้งสิ้น ถ้าเราไม่ sense ถึงความหิวโหย เราก็จะไม่ให้อาหารแก่ผู้คน ถ้าเราไม่ sense ถึงความเหน็บหนาว เราก็จะไม่หาผ้าห่มเสิ้อผ้าให้กับคนขาดแคลน ถ้าเราไม่ sense ถึงความหวาดกลัว ความสิ้นหวัง หมดหวัง เราก็คงจะไม่ยื่นน้ำใจ ไมตรี หรือความเป็นเพื่อนแก่ใครๆ

โลกเดี๋ยวนี้แคบลง ผู้คนอยู่ใกล้ก้นมากขึ้น เพราะสามารถที่จะติดต่อสื่อสารได้เร็วกว่าแต่ก่อนเป็นร้อยๆพันๆเท่า ทักษะในการรับรู้ และเคารพในความคิด ความรู้สึกของคนอื่นยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างของการกระทำที่ insensitive คือการนำเอาภาพฮิตเลอร์มาแสดงคู่กีบเด็ก และเมื่อมีคนประท้วง ก็มีเหตุผลประเภท
@ ไม่ได้คิดอะไรเลย
@ ไม่ทราบว่าคนอื่นคิดอะไร
@ ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอะไร
@ ไม่เคยสนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกอะไร
@ การสนใจว่าคนอื่นคิด หรือรู้สึกอะไร คือการตกเป็นทาสของคนอื่น
@ การสนใจระมัดระวังไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่นเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเมืองขึ้น เป็นขี้ข้า
@ ต่อว่าทำไมคนอื่นถึงต้อง over-reactive
@ ต่อว่าทำไมคนอื่นไม่ยอมลืมเรื่องเก่า แล้วไปแล้ว
@ ใครๆก็ทำกัน (อันนี้เป็นเหตุผลยอดฮิตที่ดักดานมานานแล้วในสังคม)

แน่นอนที่ว่าดูเผินๆเรื่องราวเลวร้ายเราอาจจะลืมมันได้ เพื่อที่จะ move on ก้าวต่อไปข้างหน้า แต่ทว่า William Faulkner ผู้เคยได้ Nobel Prize เคยเขียนไว้ว่า "The past is never dead. It's not even past" หรือ "อดีตนั้นไม่เคยตายไปจริงๆ จริงๆแล้วอดีตไม่ใช่อดีตเสียด้วยซ้ำ เพราะปัจจุบันนั้นก็เป็น "ผลตาม" มาจากอดีต มีร่องรอยความเป็นมาของอดีตอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถจะแค่ "สลัด" อดีตทิ้งไปเหมือนไม่เคยจะมีอะไรเกิดขึ้น

Atrocities บางเรื่องต้องจดจำ เพราะความผิดพลาดบางเรื่องมีผลต่อการเสียชีวิตของคน 6 ล้านคนอย่างทุกข์ทรมาน มีผลต่อครอบครัวหลายสิบล้านคน ไม่มีใครต้องการให้บทเรียนเช่นนี้ "ถูกลืมเลือนไปง่ายๆ" เพราะถ้าลืมเมื่อไร โอกาสที่จะเกิดซ้ำก็จะมีอีกเสมอ

และต่อให้เป็นคนที่ขี้เกียจเรียนรู้ประวัติศาสตร์แค่ไหน ไม่สนใจกับโลกของคนอิ่นแค่ไหน ถ้าหากมีคนที่เดิอดร้อน เป็นทุกข์ขึ้นมา การไม่ยอมรับฟังความทุกข์เบื้องหน้า ก็แสดงถึง characters หลายๆอย่างของตัวเราเองออกมา

ถ้าหากเราอยากจะให้คนอื่นเกรงใจเรา สิ่งแรกที่เราต้องหัดก็คือ sensitive กับความรู้สึกของคนอื่นก่อน

ถ้าหากเราอยากจะให้สังคมมีความเอื้ออาทร มีความรักใคร่ห่วงใย กังวล และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สิ่งแรกที่เราต้องหัดก็คือ sensitive กับความรู้สึกของคนอื่นก่อน

มิฉะนั้นแล้ว เรากำลังหล่อหลอมสังคมที่เห็นหรือรับรู้เพียงมุมมองของตนเอง ดำเนินไปจากสันดานของตนเอง ความไม่รู้ของตนเอง ความเขลาของตนเองเท่านั้น อาการและอาการแสดงก็จะเป็นความเห็นแก่ตัว ความไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น ถึงตอนนั้นอย่าแปลกใจที่พบว่าจะเกิดสังคมที่อยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่มีความรัก ไม่มีความเมตตา ไม่มีความกรุณา

มีแต่ กู กู กู เท่านั้น

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๔๘ นาที
วันแรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย

คำสำคัญ (Tags): #sensitive#ความรับรู้
หมายเลขบันทึก: 582062เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2014 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2014 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งานเขียนของอาจารย์ประณีตน่าอ่านเสมอค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท