หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ตามรอยดิน


ไม่สามารถอยู่เฝ้าดูดินผืนนี้ได้ทุกวัน การแก้ปัญหาหากแก้ไม่ตรงต้นเหตุ ปัญหาก็ยังอยู่ จะแก้ให้ตรงเหตุอันเกิดจากความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในดินผืนนี้ได้จนหมดปัญหา ก็คงต้องตามรอยธรรมชาติทำงานไปเรื่อยๆก่อน

ตอนลองปลูกกระเจี๊ยบแล้วจู่ๆต้นกระเจี๊ยบหายไปนั้น ไม่ได้เอะใจว่าดินที่เห็นแข็งๆอย่างตรงนั้นจะสามารถไหลเลื่อนได้จริงๆ จนกระทั่งได้คำอธิบายเรื่องดินถล่มมานี่แหละจึงเข้าใจ

นักวิชาการดินเขาอธิบายไว้ว่า สาเหตุหลักๆของดินถล่มในประเทศไทยเกิดจากฝน ฝนที่ตกหนักเป็นเวลานานนี่แหละเป็นต้นเหตุหลัก แสดงว่าในแถบนี้ เกิดฝนตกหนักและนานบ่อยครั้งซินะ

เขาบอกด้วยว่าเมื่อน้ำไหลซึมลงดินแล้วชั้นดินนั้นๆชุ่มน้ำจนไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ความดันในช่องว่างของเม็ดดินจะเพิ่มขึ้น และดันดินให้เคลื่อนที่ลงมาตามลาดเขา น้ำเข้าไปอยู่ในช่องว่างของเม็ดดิน เม็ดดินจึงยึดเกาะกันยากขึ้น และไม่มีแรงต้านทานพอที่จะต้านแรงของดินที่ไหลลงมา เมื่อไรน้ำที่เข้าไปอยู่ในช่องว่างของเม็ดดินเพิ่มมากจนสูงเท่าระดับผิวดิน น้ำนั้นก็จะไหลบนผิวดินและกัดเซาะหน้าดิน

คำอธิบายนี้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณและความเชี่ยวของน้ำฝนที่ไหลบนผิวดินให้ใหม่ ไม่น่าเชื่่อว่าน้ำที่เห็นบนผิวดินเป็นส่วนเกินของน้ำในดินที่กลายมาเป็นน้ำผิวดิน เป็นน้ำส่วนเกินที่ซึมลงไปในดินไม่ได้แล้ว

ดินแถบนี้แข็งและแห้ง ชนิดของพืชคลุมดินเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย พอหน้าฝนก็มีการชะล้างทำลายของดินที่ปลายทางน้ำจุดใดจุดหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้สื่อบอกว่า นอกจากจัดการดิน-น้ำให้พืชที่จะปลูกลงใหม่รอดได้ ก็หนีไม่พ้นต้องจัดการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในจุดล่อแหลมต่อดินถล่มไปพร้อมกัน

มีผู้รู้บอกว่าจะควบคุมการชะล้างพังทลายของดินที่เป็นเนิน ให้จัดการทั้งน้ำและดิน จัดการน้ำด้วยการนำน้ำออกจากดินและทำให้น้ำไหลช้าลง จัดการดินด้วยการปลูกพืชคลุมดินและเติมวัตถุลงไปเพิ่มความแข็งแรงของดิน

วิธีนำน้ำออกจากดิน ก็ให้ขุดคูเล็กๆขึ้นรอบขอบบนของพื้นที่ที่สูง เป็นคูแบบเอียงเล็กน้อยที่ทำให้น้ำไหลได้ตามธรรมชาติแบบช้าๆ และไม่ไหลมารวมทางเดียวกัน มีปลายคูเชื่อมกับทางระบายน้ำ ส่วนพื้นที่ไม่ใช่คูก็ให้ปูพลาสติกเพิ่มความแข็งแรงของดิน แผ่นพลาสติกที่ปูนั้นจะทำหน้าที่คล้ายกรวด ที่กันน้ำส่วนใหญ่ไม่ให้ไหลลงสู่ดิน ณ จุดนั้นๆ ถ้าปลูกต้นไม้ก็ตัดพลาสติกให้พอดีกับขนาดของหลุมต้นไม้ปูไว้ช่วยสร้างความมั่นคงให้ดิน

วิธีทำให้น้ำไหลช้าลง ให้โรยกรวดหรือวางแผ่นไม้ข้ามส่วนที่เป็นร่องน้ำไหล ฝังลึกเท่าไรยิ่งมั่นคง กรวดหรือไม้จะทำหน้าที่คล้ายเขื่อนน้อยกันน้ำไว้ ถ้าพื้นที่ชันมากก็เพิ่มคูน้ำเป็นระยะ ห่างเป็นช่วงๆเพื่อนำน้ำออกคู่กันไป

ฟางหรือเศษไม้คลุมดินเพิ่มความแข็งแรงให้ดิน ถ้าใช้เศษไม้ ให้คลุมหนาประมาณ ๓ เซนติเมตร ถ้าใช้ฟาง ให้คลุมหนา ๓๐ เซนติเมตร

ไม่สามารถอยู่เฝ้าดูดินผืนนี้ได้ทุกวัน การแก้ปัญหาหากแก้ไม่ตรงต้นเหตุ ปัญหาก็ยังอยู่ จะแก้ให้ตรงเหตุอันเกิดจากความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในดินผืนนี้ได้จนหมดปัญหา ก็คงต้องตามรอยธรรมชาติทำงานไปเรื่อยๆก่อน

ถ้าใช้วิธีจัดการน้ำ-ดินที่ว่าข้างบน ธรรมชาติก็ลงมือทำงานไปแล้วด้วยการเลือกพันธุ์พืชคลุมดินให้ในเบื้องต้น แต่ดินก็ยังแข็งแรงไม่พอ จะเติมอะไรลงไปต่อ ก็คงต้องหวนไปดูพื้นที่ซ้ำ

แล้วก็พบว่าดินริมขอบที่จุดมีดินสไลด์ ไม่มีพืชคลุมผิวดินอยู่สักชนิด มีพื้นที่คล้ายคูตื้นวางตัวคดเคี้ยวแทรกตัวอยู่ในหย่อมพืชคลุมดินด้วย ส่วนปลายคูสิ้นสุดลงที่รอยดินแยกทั้งลึกและตื้น อืม ธรรมชาติช่วยสร้างคูให้แล้วด้วยดีจริงๆ

ที่ควรทำต่อก็น่าจะเป็นการช่วยให้ดินมีความแข็งแรงเพิ่มกว่านี้ หาวิธีชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และช่วยป้องกันคูตื้นๆที่ธรรมชาติช่วยสร้างไม่ให้หายไป

อืม งั้นที่ตัดสินใจหากิ่งมะพร้าวมาคลุมตรงดินเปลือยที่ถั่วเขียวไม่ขึ้น หญ้าไม่ขึ้นก็เป็นการช่วยให้ดินแข็งแรงขึ้นซินะ เพียงแต่กลับไปดูความหนาที่คลุมให้ลงตัวตามเขาว่า ก็เท่ากับว่าได้ช่วยป้องกันดินพังทลายไปบ้างแล้ว ทำสุ่มสี่สุ่มห้าแต่ได้ผลบวกช่วยดินแลกมา ไชโยดีใจจัง

หมายเลขบันทึก: 581685เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2014 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท