ชวนเยาวชนรู้เท่าทัน+ป้องกันภัยจากโลกออนไลน์




คงไม่มีน้องๆ คนไหนปฏิเสธว่า อินเตอร์เน็ตเปรียบเหมือนกับหายใจไปเสียแล้ว เพราะตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ยันเข้านอนต่ออีกรอบในตอนกลางคืน ชีวิตวัยรุ่นแบบเราๆ ก็ดูจะผูกพันกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา ไม่ว่าจะ เสิร์จข้อมูลทำรายงาน ใช้อีเมลส่งงาน หรือแม้แต่แชร์ภาพสวยๆ ไว้อวดเพื่อนๆ สิ่งเหล่านี้ได้ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว แต่เอ๊ะ! เราเคยสังเกตหรือสงสัยกันไหมว่า สิ่งที่เราเสิร์จ โพสต์ แชร์ ไลค์ มันจะปลอดภัย เป็นส่วนตัว หรือมีใครแอบนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีอยู่หรือเปล่านะ

จากกิจกรรม "CAT CYFENCE CYBERCOP CONTEST 2014" สุดยอดการแข่งขันสืบสวนแกะรอย (Forensic) ระบบเครือข่ายแห่งปี 2557 ที่จัดขึ้นโดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีแรกและเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ภายใต้งาน "CAT Network Showcase 2014" ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี นางสาวกัณณิกา วรคามิน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้มอบรางวัลแก่ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบของการแข่งขันในปีนี้ พร้อมกับกล่าวถึงที่มาและแนวคิดของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

"การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในระบบต่างๆ โดยมุ่งเน้นเป้าหมายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น เยาวชน นักศึกษา ให้เกิดการตื่นตัวและปลูกฝังแนวคิดที่ดีของการระวังภัยด้านไอที อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้เพิ่มขึ้น ทาง CAT จึงได้ริเริ่มโครงการ CAT CYFENCE CYBERCOP CONTEST 2014 ขึ้นมา โดยหวังว่าจะเป็นเวทีในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ด้าน IT Security ได้อย่างเต็มความสามารถ"

เราลองมาฟังความรู้สึกและข้อคิดดีๆ จากผู้ชนะทั้งสามทีมกันดีกว่า โดยเริ่มกันที่ทีมเจ้าของรางวัลชนะเลิศอย่างทีม "iSasP" ที่ประกอบด้วยสี่หนุ่มไฟแรง นายศราวุธ บุสดี หรือน้องต๊อบ อายุ 20 ปี, นายณัฐกิตติ์ อินทรศร หรือน้องต๊อป อายุ 20 ปี, นายเจตน์ มนาปี หรือน้องเจตน์ อายุ 19 ปี และนายณพวิทย์ ฉัตรเกศแก้ว หรือน้องไอซ์ อายุ 20 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดย "น้องต๊อบ" หัวหน้าทีม ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้รับรางวัลให้เราได้ฟังว่า

"ดีใจ และตื่นเต้นกันมากๆ เลยครับ พวกเราไม่คิดเลยว่าจะได้รับรางวัล เนื่องจากก่อนเริ่มการแข่งขันมีเวลาเตรียมตัวกันน้อยมากๆ แต่ว่าพวกเราทั้งสี่คนต่างก็ชอบและสนใจงานด้านการรักษาความปลอดภัยบนระบบเครือข่ายกันอยู่แล้ว อีกทั้งการประกวดในลักษณะที่ให้เราเป็นผู้สืบหาการทำความผิดบนระบบเครือข่ายในประเทศไทยยังมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ พอได้รับทราบข่าวการประกวดพวกเราจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันครับ โดยตอนนั้นก็หวังกันแค่เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์เท่านั้น แต่กลับได้รับรางวัลมาด้วย ก็ยิ่งทำให้ดีใจมากขึ้นเลยล่ะครับ" น้องต๊อบ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

นอกจากนี้ "น้องต๊อบ" ยังได้เล่าให้เราฟังถึงวิธีการสังเกตและป้องกันตนเองแบบง่ายๆ จากภัยต่างๆ ที่พบได้บนเครือข่ายอีกด้วยว่า

"อย่างที่เราได้ยินข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับพวก Phishing website ที่มักจะอาศัยจากการที่เราอาจไม่ทันระวังตัว หรือไม่สังเกต แล้วเข้ามาล้วงข้อมูลสำคัญของเราไป เช่นอีเมลที่แอบแฝงว่าส่งมาจากธนาคารต่างๆ หรือแม้แต่เว็บไซด์ที่เราเข้าใช้งานกันอยู่บ่อยๆ อย่างเฟซบุ๊ก เป็นต้น โดยเจ้า Phishing website ก็จะสร้าง url ที่ใกล้เคียงกับเฟซบุ๊กโดยอาจเพิ่มตัวอักษรเข้าไปอีกหนึ่งตัว เมื่อเราหลงเข้าไปแล้วลงชื่อเข้าใช้ เว็บไซด์เหล่านี้ก็จะได้รับข้อมูลข้อเราไป และสามารถที่จะขโมยข้อมูลต่างๆ ของเราได้ครับ วิธีป้องกันตัวเองที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ เราต้องสังเกตและมีความระมัดระวังในการใช้งานครับ เมื่อพบว่ามีความผิดปกติใดๆ ใน url ที่เราเข้าใช้งาน ก็ให้รีบปิดการใช้งาน และหมั่นเปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อยๆ จะได้ไม่มีใครสามารถแอบเอาข้อมูลของเราไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้ครับ"

ถัดมาเป็นเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอับดับที่ 1 อย่าง "Lazy Step" ที่นำทีมโดยนางสาวผลิตา ลัมเบร์คส หรือน้องฝ้าย อายุ 18 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และสมาชิกอีกสามหนุ่มประกอบด้วย นายศุภชัย บุญญธนรัตน์ หรือ น้องเบียร์ อายุ 19 ปี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร,

นายฉมาดล นำเอกลาภ หรือน้องภาค อายุ 19 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และนายชยกร การิกาญจน์ หรือน้องเบคอน อายุ 19 ปี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยทั้งหมดเป็นนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 1 จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง "น้องฝ้าย" ในฐานะหัวหน้าทีมก็จะมาเล่าให้ฟังถึงมุมมองที่มีต่อการเรียนรู้การป้องกันตนเองจากผู้ไม่หวังดีบนระบบเครือข่ายอีกด้วย

"ฝ้ายแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนบนระบบเครือข่ายมาก่อนเลยค่ะ เพราะคิดและเข้าใจมาตลอดเลยว่า มันน่าจะยากเกินกำลังของวัยเราที่จะทำความเข้าใจได้ เพราะที่เราเคยเห็นผ่านตากันในภาพยนตร์ มันดูยากและซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกันก็เท่มากๆ เช่นกัน ดังนั้นเมื่อทราบถึงการแข่งขันในวันนี้ ฝ้ายและเพื่อนๆ ในทีมก็เลยตัดสินใจลองสมัครเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งก็ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิดไว้ตอนแรก เราสามารถที่จะเรียนรู้วิธีการในการป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ บนระบบเครือข่ายได้ ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองดูเท่ขึ้นมาทันทีเลยล่ะค่ะ" น้องฝ้าย กล่าวด้วยรอยยิ้ม

นอกจากนี้ น้องฝ้าย ยังยกตัวอย่างให้เราฟังถึงรูปแบบของภัยคุกคามที่มาจากระบบเครือข่ายให้ฟังเพิ่มเติมอีกด้วยว่า "จริงแล้วๆ มีภัยหลายรูปแบบค่ะ แต่ที่ฝ้ายมองว่าอันตรายที่สุดนั่นก็คือการที่เราเองนั่นแหละ เป็นคนบอกข้อมูลของเราให้คนอื่นเอาไปใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น การโพสต์เบอร์โทรบนเฟซบุ๊กหรือบนโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเราอาจจะคิดว่า เราแชร์ให้กับเพื่อนเราเอง ไม่เป็นไรหรอก แต่ว่าจริงๆ แล้ว เมื่อเราโพสต์ลงไปแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะรับประกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของเราได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นค่ะ อาจมีคนจ้องนำมันไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้ ยิ่งกับปัจจุบันนี้ที่เบอร์โทรของเราผูกติดกับหลายๆ บัญชี ทั้งไลน์ ทั้งอีเมล หรือแม้แต่ Internet Banking เพราะฉะนั้นแล้ว การป้องกันตัวเองแบบง่ายๆ เลย ก็คือว่า อยากให้มีสติก่อนโพสต์ข้อมูลลงไปค่ะ ยิ่งโดยเฉพาะกับข้อมูลที่ส่วนตัวมากๆ แล้ว ก็ยิ่งต้องคิดดีๆ ก่อนตัดสินใจโพสต์ค่ะ"

ปิดท้ายกันกับสี่หนุ่มเนื้อทอง เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในชื่อทีมว่า "Learnatorium" ประกอบด้วย นายวสูชนม์ นามศรี หรือน้องอาร์ม อายุ 20 ปี, นายเฮนรี่วี พุฒทาจู หรือน้องเฮนรี่ อายุ 20 ปี, นายวรากร บางเลา หรือน้องเบนซ์ อายุ 20 ปี และนายธนินวัฒน์ สุขศิริ หรือน้องนนท์ อายุ 20 ปี โดยทั้งหมดเป็นนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย "น้องอาร์ม" หัวหน้าทีม ขออาสามาเป็นผู้เล่าประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งนี้ให้เราได้ฟังกันอีกด้วยว่า

"ถือเป็นประสบการณ์ดีๆ ที่ผมและทุกคนในทีมมีโอกาสได้รับมาครับ เพราะว่าเบื้องต้นพวกเราต่างก็สนใจในงานด้าน IT Security ที่เป็นลักษณะของการสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทราบหรือเข้าใจในรายละเอียดและวิธีการต่างๆ มากนัก ซึ่งเมื่อมีการแข่งขันนี้เข้ามา พวกเรามองเพียงแค่ว่ามันเป็นโอกาสที่จะตักตวงความรู้และประสบการณ์จากการแข่งขันไปให้มากที่สุดครับ ซึ่งสิ่งที่เราได้รับกลับมามันเกินคาดจริงๆ ครับ"

สำหรับส่งท้าย "น้องอาร์ม" ก็ขอฝากถึงเพื่อนๆ ที่คุ้นเคยกับการใช้งานระบบ wifi ไว้ด้วยว่า "สำหรับผมก็อยากจะยกตัวอย่างเกี่ยวกับพวก Free Wifi ในที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งเพื่อนๆ หลายคนก็จะชอบเข้าใช้งาน หรือบางคนอาจตั้งค่าอุปกรณ์ของตัวเองให้เชื่อมต่อ wifi อยู่ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ มันมีภัยรูปแบบหนึ่งที่เราเรียกกันว่า Fake Access Point หรือการปล่อยสัญญาณ wifi ปลอมครับ โดยส่วนมากที่พบก็มักจะตั้งชื่อตัวสัญญาณให้คล้ายกับ wifi ของสถานที่นั้นๆ เมื่อเราไม่ทันสังเกต เผลอกดเชื่อมต่อสัญญาณ แล้วเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตในเว็บต่างๆ ที่เราต้องลงเบียนเพื่อเข้าใช้งาน อาทิ E-Mail, Facebook หรือแม้แต่ Internet Banking ต่างๆ ตรงนี้เราก็จะโดนขโมยข้อมูลไปทันทีครับ วิธีป้องกันตัวง่ายๆ เบื้องต้นเลยก็คือว่า อย่าตั้งค่าอุปกรณ์ของเราให้เชื่อมต่อ wifi แบบอัตโนมัติ และพยายามสังเกตความผิดปกติก่อนการใช้งานทุกครั้งครับ"

ในเมื่อโลกและเครือข่ายออนไลน์มีคุณอนันต์ต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันหากใช้อย่างไม่มีสติและความรอบคอบก็สามารถก่อให้เกิดภัยมหันต์ได้เช่นกัน ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อเลยว่า ภัยและอันตรายต่างๆ ที่แฝงอยู่บนเครือข่ายออนไลน์นั้นจะมีมากมายและหลากหลายกลวิธี ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้งานอย่างรู้เท่าทันและชาญฉลาด หมั่นหาความรู้ สังเกต คอยอัพเดทข่าวสาร รวมทั้งมีสติทุกครั้งก่อนที่จะโพสต์ข้อมูลใดๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันตนเองในเบื้องต้นจากภัยคุกคามต่างๆ บนระบบเครือข่ายออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 581610เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ICT Literacy สำคัญมากกับเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 นะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท