คำสรรพนาม


คำสรรพนาม

คำสรรพนามคือ คำที่ใช้แทนคำนาม คำสรรพนามทำหน้าที่เป็นส่วนหลักของนามวลีได้เช่นเดียวกับคำนาม คำสรรพนามแบ่งได้เป็น ๕ ชนิด คือ บุรุษสรรพนาม คำสรรพนามถาม คำสรรพนามชี้เฉพาะ คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ และคำสรรพนามแยกฝ่าย

๑. คำบุรุษสรรพนาม หรือ คำสรรพนามบอกบุรุษ หรือคำสรรพนามแทนบุคคล คือคำสรรพนามที่ใช้ระบุแทนบุคคล เพื่อบอกว่าเป็นผู้พูด ผู้ที่พูดด้วย หรือผู้ที่กล่าวถึง หรือใช้ระบุแทนสัตว์ วัตถุ ความคิด เพื่อบอกว่า เป็นผู้ที่พูดด้วยหรือผู้ที่กล่าวถึง

คำสรรพนามแทนบุคคลแบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ สรรพนามบุรุษที่ ๑ สรรพนามบุรุษที่ ๒ และสรรพนามบุรุษที่ ๓

ก. คำสรรพนามบุรุษที่ ๑ คือคำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนตัวผู้พูดหรือผู้เขียน เช่น ฉัน ดิฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า หม่อมฉัน ข้าพระพุทธเจ้า ข้า กู ฯลฯ

ข. คำสรรพนามบุรุษที่ ๒ คือคำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนผู้ที่พูดด้วย ได้แก่ ผู้ฟังและผู้อ่าน เช่น เธอ คุณ ท่าน ฝ่าบาท ใต้ฝ่าพระบาท เอ็ง มึง ฯลฯ

ค. คำสรรพนามบุรุษที่ ๓ คือ คำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น เขา ท่าน เธอ พระองค์ มัน ฯลฯ

ในภาษาที่ไม่เป็นทางการ คำบุรุษสรรพนามบางคำอาจทำหน้าที่ได้หลายหน้าที่ ดังนี้

เรา ทำหน้าที่ได้ทั้งคำสรรพนามบุรุษที่ ๑ และ บุรุษที่ ๒ เช่น

เราพาพ่อกะแม่มาด้วย

"เรา" เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑

เราต้องกินนมเยอะ ๆ นะจะได้ตัวโต ๆเหมือนพี่ไง

"เรา" เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒

เขา (ออกเสียง /เค้า/) ทำหน้าที่เป็นทั้งสรรพนามบุรุษที่ ๑ และบุรุษที่ ๓ เช่น

วันนี้เค้ามีเรื่องสนุกมาเล่าให้ตัวเองฟังด้วยแหละ

"เค้า" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑

เขา (ออกเสียง /เค้า/) ฝากฉันมาบอกตัวว่า อาทิตย์หน้าจะมาเยี่ยม

"เขา" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓

เธอ แก และเสด็จ ทำหน้าที่เป็นทั้งคำสรรพนามบุรุษที่ ๒ และบุรุษที่ ๓ เช่น

ช่วยส่งกระเทียมให้หน่อยซิเธอ "เธอ" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒

เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยเขียนหน้าทาปากอย่างใครเขา

"เธอ" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓

แกเข้ามาในบ้านฉันได้อย่างไร "แก" เป็นสรรนามบุรุษที่ ๒

ผมเตือนแกหลายหนแล้วเรื่องก่อหนี้บัตรเครดิตแต่แกก็ไม่สนใจ

"แก" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓

เสด็จ ให้มาทูลถามว่า เสด็จ ได้รับของที่ระลึกหรือยัง

เสด็จ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒

เสด็จ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓

ส่วนในภาษาที่เป็นทางการหรือภาษาพิธีการ คำบุรุษสรรพนามมักใช้แยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน คือ คำสรรพนามแทนบุคคลคำหนึ่ง ใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑ บุรุษที่ ๒ หรือบุรุษที่ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งยกเว้น ท่าน อาจใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒ หรือคำสรรพนามบุรุษที่ ๓ ก็ได้ เช่น

ขอเชิญท่านถ่ายรูปเป็นเกียรติแก่คู่สมรส

"ท่าน" เป็นสรรถนามบุรุษที่ ๒

ท่านเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

"ท่าน" เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓

คำบุรุษสรรพนามในแต่ละภาษาจะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและการมองโลกที่แตกต่างกัน คำบุรุษสรรพนามในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทย การมองโลกและการแสดงวัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยได้หลายประการ ได้แก่

แสดงสถานภาพสูงต่ำ เช่น

กระผมจะขับรถพาคุณท่านไปหาหมอเองครับ

แสดงความอาวุโสมากน้อย เช่น

หนูจะช่วยทำกับข้าวให้ท่านนะคะ

แสดงเพศ เช่น

ผมให้เธอเลือกเองว่า จะเอาสีฟ้าหรือสีแสด

แสดงความสุภาพ เช่น

ผมอยากให้ท่านสบายใจ

แสดงความสนิทสนมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังและผู้ที่กล่าวถึง เช่น

หนังเรื่องนี้ ข้าดูมาแล้ว สนุกมาก ข้าว่าเอ็งน่าจะช่วยไอ้ชิดมันไปดูนะ

ในภาษาไทยนิยมใช้คำนามสามัญบางคำอย่างบุรุษสรรพนาม เช่น คำนามซึ่งเป็นคำเรียกญาติ คำเรียกตำแหน่ง คำเรียกยศ คำเรียกอาชีพ คำนามเหล่านั้นแม้จะนำมาใช้อย่างบุรุษสรรพนาม แต่ก็ยังคงวิเคราะห์ให้เป็นคำนามสามัญอยู่ ไม่วิเคราะห์ให้เป็นคำบุรุษสรรพนาม

คำนามเรียกญาติซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

เย็นนี้ผมติดงาน คงกลับมากินข้าวกับ แม่ที่บ้านไม่ได้นะครับ

ลุงมาที่นี่มากี่ปีแล้ว

ยายอย่าหยอดกะทิเยอะนะคะ

เมื่อก่อน ปู่พาย่ามาเที่ยวที่นี่บ่อย ๆ

พี่ปวดหัวมาก น้องช่วยลงไปรับแขกแทนหน่อยนะ

คำนามเรียกตำแหน่งซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

ผมขอลา หัวหน้ากลับก่อนนะครับ

คณบดีอย่าลืมนัดตอน ๔ โมงเย็นนะคะ

ผมพาสุนัขของ เจ้านายไปตัดขนเรียบร้อยแล้วครับ

เมื่อวานดิฉันขออนุญาต ผู้จัดการแล้ว

คำนามแสดงยศซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

ผมรายงาน ผู้พันแล้วครับ

ผู้กองไม่น่าตัดสินใจรวดเร็วแบบนั้น

สารวัตรจะดื่มน้ำชาหรือกาแฟดีครับ

จ่าช่วยลงบันทึกประจำวันให้ผมด้วย

คำนามบอกอาชีพและหน้าที่การงานซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

โชเฟอร์ช่วยเลี้ยวตรงไฟแดงข้างหน้านะ

เวลาขับรถ แท็กซี่ต้องใจเย็น ๆ

หมอเตือนแล้วอย่าออกกำลังกายหักโหม คุณก็ไม่เชื่อหมอ

ครูขออวยพรให้นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จ

๒. คำสรรพนามถาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามและใช้แสดงคำถามในขณะเดียวกัน ในภาษาไทยมีเพียง ๓ คำ ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น

ใครเขียนจดหมายฉบับนี้

คุณต้องการพูดกับ ใคร

อะไรตกลงไปในน้ำ

น้องกำลังทำ อะไรอยู่

ร่มอยู่ ไหน

ไหนขนมที่เธอซื้อมา

๓. คำสรรพนามชี้เฉพาะ คือ คำสรรพนามที่ใช้บอกระยะใกล้ ไกล คำสรรพนามชี้เฉพาะมีเพียง ๘ คำ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นู่น ชุดหนึ่งแล้ นี้ นั้น โน้น นู้น อีกชุดหนึ่ง คำสรรพนามชี้เฉพาะแต่ละชุดใช้บอกระยะไกล ใกล้แตกต่างกัน จากระยะใกล้ที่สุดไปจนถึงระยะไกลที่สุด ๔ ระยะ นี่กับ นี้ บอกระยะใกล้ที่สุด นั่น กับ นั้น บอกระยะที่ไกลออกไป โน่น กับ โน้น บอกระยะที่ไกลออกไปอีก นู่น กับ นู้น บอกระยะที่ไกลที่สุด เช่น

คำสรรพนามชี้เฉพาะ นี่ นั่น โน่น นู่น สามารถใช้ตามหลังคำกริยาหรือใช้ขึ้นต้นประโยคก็ได้ เมื่อใช้ขึ้นต้นประโยค อาจตามด้วยคำนามหรือคำกริยาก็ได้

ใช้ตามหลังคำกริยา

นั่ง นี่ไหม

ร่มอยู่ นั่นไง

ดู โน่นซิ

ดาวลูกไก่อยู่ นู่น

ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำนามตามมา

นี่กระเป๋าของใคร

นั่นที่ทำการไปรษณีย์

โน่นโรงพยาบาล

นู่นสถานีรถไฟ

ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำกริยาตามมา

นี่กินเสีย ของอร่อยนะ

นั่นทำผิดอีกแล้ว

โน่นวิ่งไปไกลแล้ว

นู่นตามไปให้ทันนะ

คำสรรพนามชี้เฉพาะ นี้ นั้น โน้น นู้น ต้องใช้ตามหลังคำบุพบทเสมอ

มีอะไรอยู่ใต้ นี้

ตรง นั้นไม่ควรวางของ

นกเกาะอยู่บน โน้น

เขาเดินเข้าไปใน นู้น

๔. คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คือคำสรรพนามที่ไม่ระบุหรือกำหนดแน่นอนว่าหมายถึงผู้ใด อะไร สิ่งใด หรือสถานที่ใด ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น

เรื่องนี้เขาไม่ได้บอก ใครเลย

เขาจะพูด อะไรก็เรื่องของเขา

อยู่ ไหนก็ไม่สะดวกเท่าบ้านเรา

คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะอาจมีรูปซ้ำกับคำสรรพนามแทนบุคคลบางคำได้แก่ ท่าน เรา เขา เช่น

ท่านว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง

เขาลือกันว่าพี่ชายฉันป่วยหนัก

เทศกาลสงกรานต์ เราเล่นสาดน้ำกันทั้งประเทศ

คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะบางคำอยู่ในรูปของคำซ้ำ ได้แก่ ใคร ๆ อะไร ๆ ใด ๆ อื่น ๆ เช่น

ใคร ๆก็ชอบขนมปังไส้สังขยาร้านนี้

อะไร ๆเขาก็กินได้ ขออย่าให้เผ็ดเป็นพอ

ใด ๆในโลกล้วนอนิจจัง

แม่ครัวซื้อผัก หมู ไก่ ผลไม้และอื่น ฯลฯ

๕. คำสรรพนามแยกฝ่าย คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือบุรุษสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า เพื่อแสดงว่ามีหลายฝ่าย หลายส่วน แต่ละฝ่าย แต่ละส่วนแยกกันทำกริยาใดกริยาหนึ่งหรือมากกว่า คำสรรพนามแยกฝ่าย มีเพียง ๓ คำเท่านั้น ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน

ต่าง ใช้แทนคำนามข้างหน้าเพื่อแสดงว่า มีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายทำกริยาอย่างเดียวกัน เช่น

ชาวนา ต่างก็เกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง

จะพุทธหรือมุสลิมเรา ต่างก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น

เรา ต่างคนต่างอยู่กันดีกว่า

บ้าง ใช้แทนคำนามข้างหน้าเพื่อแสดงว่า มีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายแยกทำกริยาต่างกันหรือเป็นกรรมของกริยาต่างกัน คำว่า บ้าง มักใช้เป็นคู่ ปรากฏในประโยค ๒ ประโยคที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน เช่น

# นักเรียนเหล่านั้น บ้างก็นอน # บ้างก็นั่ง #

#เงินทองที่หามาได้ ฉันก็ใช้บ้าง # เก็บบ้าง #

เมื่อบ้างปรากฏหลังคำนามหรือบุรุษสรรพนามและปรากฏหน้าคำกริยา แสดงความหมายว่า แต่ละฝ่ายแยกทำกริยาต่างกัน เช่น

คนสวน บ้างรดน้ำ บ้างพรวนดิน

เด็ก ๆ บ้างก็ดูทีวี บ้างก็เล่นเกม ยังไม่ยอมหลับนอนกัน

พวกเราบ้างก็พักบ้านญาติ บ้างก็พักตามวัด

เมื่อบ้างปรากฏหลังคำกริยาแสดงความหมายว่า แต่ละส่วนถูกกระทำไม่เหมือนกัน เช่น

ของที่ซื้อเก็บไว้ในตู้เย็น ก็กิน บ้าง ทิ้งบ้าง

เสื้อผ้าที่ซักแล้ว ก็รีด บ้าง ไม่รีดบ้างตามสะดวก

คำนามหรือคำบุรุษสรรพนามที่ปรากฏหน้าคำสรรพนามแยกฝ่าย ต่าง บ้าง อาจเป็นคำที่อยู่ในประโยคเดียวกันหรือยู่ในประโยคคนละประโยคซึ่งอยู่ก่อนหน้าก็ได้ เช่น

คำนามหรือคำบุรุษสรรพนามปรากฏในประโยคเดียวกับคำสรรพนามแยกฝ่าย ต่าง บ้าง

# เพื่อนในกลุ่มแต่ละคนต่างก็มีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น#

#เด็กช่างกลโรงเรียนนี้บ้างก็ใฝ่ดี ใช่ว่าจะเป็นนักเลงไปเสียทั้งหมดที่ไหนกัน#

คำนามหรือคำบุรุษสรรพนามปรากฏในประโยคคนละประโยคกับคำสรรพนามแยกฝ่าย ต่าง บ้าง เช่น

# นักท่องเที่ยวแต่ละคนล้วนแต่ต้องการความสำราญ # ต่างพากันดื่มกินอย่างเต็มที่ #

# พวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ # บ้างพรวนดิน # บ้างก็ดายหญ้า

กัน ใช้แทนคำนามหรือคำบุรุษสรรพนามข้างหน้า เพื่อแสดงว่า มีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายทำกริยาอย่างเดียวกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น

มวยวันนี้ต่อยกัน มันทุกคู่

ผัวเมียคู่นี้ทะเลาะ กันเกือบทุกวัน

เขานัดชก กันท้ายโรงเรียน

ถึงจะนับถือศาสนาต่าง กันแต่เราก็รักกันได้

พี่น้องคู่นี้จาก กันไปนาน พอเจอหน้ากัน ก็กอดกันแน่น

คำสั่ง นักเรียนจงอภิปรายและสรุปความรู้เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้ให้ถูกต้องโดยใช้ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว (๓๐ คะแนน)

๑. คำสรรพนามคืออะไร (๒ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

๒. จงเลือกคำในประโยคนี้ว่าคำไหนบ้างเป็นคำสรรพนาม (๔ คะแนน)

พี่เป็นคนภาคใต้ ……………………………..

ไม่มีใครทำการบ้านถูกเลย ……………………………..

ใครไม่ทำการบ้านบ้าง ……………………………..

นิดากับปรีชาพบกันบนอาคาร ๔ ……………………………..

๓. บุรุษสรรพนามคืออะไร จงยกตัวอย่างคำบุรุษสรรพนาม ๕ คำ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๔. คำสรรพนามแยกฝ่าย คือ อะไร มีกี่คำอะไรบ้าง (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๕. คำสรรพนามชี้เฉพาะ คืออะไร จงยกตัวอย่างคำสรรพนามชี้เฉพาะมา ๕ คำ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๖. คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คืออะไร จงยกตัวอย่างคำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะมา ๕ คำ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๗. คำสรรพนามถาม คืออะไร จงยกตัวอย่างคำสรรพนามถามมา ๓ คำ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๘. นักเรียนจงนำคำต่อไปนี้แต่งเป็นประโยคตามชนิดของคำสรรพนามที่ระบุไว้ (๔ คะแนน)

พี่ (บุรุษสรรพนาม) ……………………………..

บ้าง (สรรพนามแยกฝ่าย) ……………………………..

ใคร (สรรพนามไม่ชี้เฉพาะ) ……………………………..

อะไร (สรรพนามถาม) ……………………………..

แบบทดสอบ

แบบทดสอบหลังเรียน

นักเรียนจงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และเลือกคลิกในช่องที่ตรงกับตัว ก ข ค ง ที่นักเรียนเลือกแล้วเพียงข้อละครั้งเดียว

1. คำสรรพนามคืออะไร

*ก. คำที่ใช้แทนคำนาม

ข. คำที่แสดงอาการของสิ่งต่าง ๆ

ค. คำที่เป็นชื่อของคน สัตว์ สถานที่สิ่งของ

ง. คำที่ใช้บอกการกระทำของคน สัตว์ สิ่งของ

2. ข้อใดระบุชนิดของคำสรรพนามได้ถูกต้อง

ก. บุรุษสรรพนาม อนิยมสรรพนาม ปฤฉาสรรพนาม นิยมสรรพนาม

*ข. บุรุษสรรพนาม สรรพนามถาม สรรพนามชี้เฉพาะ สรรพนามแยกฝ่าย

ค. วิภาคสรรพนาม นิยมสรรพนาม อนิยมสรรพนาม วิภาคสรรพนาม

ง. สรรพนามถาม สรรพนามนิยม สรรพนามแยกฝ่าย สรรพนามบุรุษ

3. ข้อใดมีคำสรรพนามประกอบอยู่ด้วย

ก. แมวกินอาหาร

ข. พระฉันภัตตาหาร

ค. คนรับประทานอาหาร

*ง. หมาแย่งอาหารกันอย่างตะกรุมตะกราม

4. ข้อใดมีคำสรรพนามประกอบอยู่ด้วย

ก. พี่เกิดก่อนน้อง 2 ปี

ข. น้องกับพี่ไปโรงเรียน

*ค. พี่มีความทุกข์เพราะจากน้อง

ง. รุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ทุกคน

5. ข้อใดมีคำบุรุษสรรพนามประกอบอยู่ด้วย

*ก. พระคุณเจ้ากำลังโปรดสัตว์

ข. บุญคุณเป็นสิ่งที่ต้องตอบแทน

ค. คุณของแม่มีต่อทุกคนมากมาย

ง. คุณมยุรีชอบเข้าชุมนุมทางการเมือง

6. ข้อใดมีคำบุรุษสรรพนามประกอบอยู่ด้วย

ก. เขาลูกนี้สูงมาก

ข. ฟุตบอลคู่นี้มันมาก

ค. พระกินอาหารเราใช้คำว่า "ฉัน"

*ง. คุณครูท่านอธิบายให้นักเรียนเข้าใจดีมาก

7. ข้อใดมีคำสรรพนามถามประกอบอยู่ด้วย

ก. ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา

ข. ใคร ๆ ก็ชอบเรียนวิชาภาษาไทย

ค. ถ้าเราตั้งใจเรียน อะไร ๆ ก็ง่ายไปหมด

*ง. ถ้าไม่เรียนหนังสือแล้วเธอจำไปทำอะไรได้

8. ข้อใดมีคำสรรพนามชี้เฉพาะประกอบอยู่ด้วย

ก. ท่านเป็นคนทำประโยชน์ต่อเรามาก

ข. ใครเป็นคนทำความสะอาดห้องเรียนวันนี้

*ค. นี้ฉวางรัชดาภิเษกโรงเรียนที่เป็นเอกในฉวาง

ง. พวกเราเด็กฉวางรัชดาภิเษกตั้งใจเรียนทุกคน

9. ข้อใดมีคำสรรพนามแยกฝ่ายประกอบอยู่ด้วย

ก. ผู้ชายแตกต่างจากผู้หญิงหลายอย่าง

ข. ผู้หญิงถูกกีดกันจากสังคมบางประการ

*ค. ผู้ชายบางคนไม่ชอบให้ผู้หญิงทำงานร่วมกัน

ง. แต่ผู้หญิงก็มีความพยายามที่จะมีบทบาทกับผู้ชายด้วย

10. ข้อใด ไม่มีคำสรรพนามประกอบอยู่ด้วย

ก. ฉันรักโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก

ข. พวกเราเรียนในโรงเรียนแห่งนี้

*ค. เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในอำเภอฉวาง

ง. ใคร ๆ ก็ชอบเข้าเรียนในโรงเรียนของเรา


หมายเลขบันทึก: 581598เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 06:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 06:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

อธิบายขัดเจนครับ ใคร ๆก็นำไปใช้ประโยชน์ได้ ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท