พบต้นแบบ 'สภาชุมชน' ผลักดันหมู่บ้านปลอดเหล้าสำเร็จ


สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อและปฏิบัติตาม มาจากการที่สมาชิกสภาชุมชนทั้ง 30 คน ได้ทำตัวเป็นแบบอย่าง โดยก่อนเริ่มโครงการ มีผู้ดื่มสุรา 26 คน และลดการดื่มลงจำนวน 4 คน หลังจากเริ่มโครงการแล้ว เลิกดื่มอย่างเด็ดขาดครบทั้ง 30 คน

ชุมชนแสนสุข ม.11 ต.ปุดประทาย อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ผุดโครงการ "ชุมชนแสนสุขน่าอยู่ ลด ละ เลิกเหล้า" ขับเคลื่อนสภาชุมชนเป็นแบบอย่าง หนุนนำชุมชนเข้มแข็งและน่าอยู่

นายวินิจ สายชาลี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "พ่อนิจ" ในฐานะผู้นำชุมชนแสนสุข เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีโอกาสไปดูงานในโครงการชุมชนน่าอยู่ ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ จ.พะเยา เมื่อปี 2555 พร้อมกับได้รับคำแนะนำในการผลักดันให้เกิดโครงการดังกล่าวในชุมชนของตัวเอง เมื่อกลับมาประชุมร่วมกับแกนนำและชาวบ้าน พบว่า ชุมชนแสนสุข ประสบปัญหาเรื่องลูกบ้านติดสุราอย่างหนัก โดยเฉพาะในการจัดงานมงคล งานเฉลิมฉลอง และไม่เว้นแม้แต่งานศพ ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการซื้อหาสุรามากถึง 5-6 หมื่นบาทต่องาน

เมื่อได้ข้อตกลงในการกำหนดเป้าหมายร่วมกันแล้ว จึงได้ตั้งสภาชุมชนขึ้น โดยมีสมาชิก 30 คน ที่มีโอกาสไปดูงานที่บ้านดอนหมู อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี แล้วนำความรู้ที่ได้รับมาถอดบทเรียนเพื่อปรับใช้กับชุมชนของตนเอง โดยกระบวนการทำโครงการ แบ่งการทำงานออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มนักปราชญ์ , กลุ่มสมุนไพร , กลุ่ม 3 ป. และกลุ่มพระพุทธ โดยให้แต่ละกลุ่มมีหน้าที่ดูแลสมาชิกของตัวเอง ในลักษณะ "คุ้มใครคุ้มมัน"

จากนั้น ตนจึงได้เข้าไปปรึกษาคนในหมู่บ้านว่าสนใจจะเลิกเหล้าหรือไม่ ใครไม่เลิก ก็ขอให้ลด ละ ดื่มให้น้อยลง ในส่วนของงานมงคล งานบวช และงานศพ มีการขอความร่วมกับเจ้าภาพ ไม่ให้มีการดื่มเหล้า พร้อมกันนั้น ทางสภาชุมชนยังได้นำป้ายลด ละ เลิก เหล้าไปติดบริเวณภายในงานด้วย ในส่วนของร้านค้าในชุมชน ยังได้ขอความอนุเคราะห์ให้งดขายสุราทุกๆ วันพระ และได้มอบเกียรติบัตรให้เพื่อแสดงความขอบคุณ

พ่อนิจ กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อและปฏิบัติตาม มาจากการที่สมาชิกสภาชุมชนทั้ง 30 คน ได้ทำตัวเป็นแบบอย่าง โดยก่อนเริ่มโครงการ มีผู้ดื่มสุรา 26 คน และลดการดื่มลงจำนวน 4 คน หลังจากเริ่มโครงการแล้ว เลิกดื่มอย่างเด็ดขาดครบทั้ง 30 คน ส่วนสมาชิกลูกบ้านนั้น นอกจากแกนนำชุมชนแล้ว ครอบครัวมีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยหว่านล้อมให้หัวหน้าครอบครัว หรือคนในครอบครัว ลด ละ เลิก เพราะได้เห็นถึงผลดีจากหลายๆ ครอบครัวที่ได้ปฏิบัติไปก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อดำเนินโครงการมาครบ 1 ปี พบว่า ปัจจุบัน มีผู้เลิกดื่มสุราแล้ว 553 คน จากประชากรทั้งหมด 577คน ใน 92 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะลด ละ หรือดื่มให้น้อยลง โดยมีเพียง 1 รายเท่านั้นที่ไม่สามารถลด ละ หรือเลิกอย่างเด็ดขาดได้ ซึ่งการจัดงานตลอดปีที่ผ่านมา มี 4 งานด้วยกัน ไม่มีการดื่มเหล้าแต่อย่างใด ขณะที่ร้านค้าที่งดขายสุราในวันพระ มีจำนวน 6 ร้านด้วยกัน

"ผลสำเร็จของโครงการ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ชาวบ้านมีความสุขมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายลดน้อยลง ครอบครัวมีความสุข ชุมชมเกิดความสามัคคีรักใคร่กลมเลียวกัน กลายเป็นชุมขนเข้มแข็ง" พ่อนิจกล่าวในที่สุด.

หมายเลขบันทึก: 581543เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท