นักเทคโนโลยีดีเด่น ๒๕๕๗



วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ มีการแถลงข่าวรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี ๒๕๕๗ มีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ๒ ประเภท คือประเภทกลุ่ม ได้แก่ ดร. วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง กรมประมง และคณะ จากผลงาน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร พัฒนาวิธีเพาะเลี้ยงปลากะรัง และปูม้า

ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภทบุคคล คือ รศ. ดร. เจษฎา วรรณสินธุ์ จากผลงาน การหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ เพื่อลดฟองอากาศ ลดต้นทุน และคุณภาพเพิ่มขึ้น มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม มีการตั้งบริษัทผลิตเครื่องจักรหล่อโลหะ จำหน่าย และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปต่างประเทศ คือเกาหลี ญี่ปุ่น ถือเป็นนวัตกรรมของเทคโนโลยีหล่อโลหะทีเดียว

ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นรุ่นใหม่ มี ๒ ท่าน คือ ดร. ปราการเกียรติ ยังคง มจธ. จากผลงาน หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน โดยทำงานร่วมกับ นพ. ภาริศ วงศ์แพทย์ แห่งโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ และ รพ. รามาธิบดี

ท่านที่สองคือ ดร. บรรพต ศิริเดชาดิลก ศูนย์ ไบโอเทค จากผลงาน วิธีการสร้างไวรัสจำพวก positive-sense RNA ที่ง่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม โดยใช้เทคนิค Gibson Assembly ทำในไวรัสเด็งกี่ (ไข้เลือดออก) สร้างโอกาสผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

ผลงานวิจัยและพัฒนาของผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้งสองท่าน มีผลกระทบต่อสังคมมากมาย เป็นผลจากการทำงานวิจัยต่อเนื่อง และฟันฝ่าความยากลำบาก หรืออุปสรรค โดยไม่ท้อถอย ผมได้ทราบว่า แม้ ดร. วารินทร์ จะเคยเป็นผู้บริหาร คือ ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง ท่านก็ไม่ทิ้งงานวิจัย ยังทำวิจัยต่อเนื่อง นอกจากได้รับรางวัลนี้ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมนี้เอง ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำกรมประมง

กรณี ดร. เจษฎา ยิ่งเผชิญอุปสรรคหนักกว่า เพราะโครงสร้างงานและวัฒนธรรมในภาควิชาไม่เอื้อ ยังดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ช่วยเหลือ ให้ออกมาทำวิจัยนอกภาควิชา ท่านบอกผมว่า เพราะได้ทุนวิจัยพื้นฐาน และทุน คปก. จาก สกว. จึงทำให้ท่านทำวิจัยพื้นฐาน ได้ความรู้เอาไปประยุกต์ ในงานอุตสาหกรรม

การแถลงข่าวคราวนี้มีความพิเศษ คือมีการสนทนาพิเศษ และเสวนาพิเศษ ในเรื่องการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยท่าน รมต. วิทยาศาสตร์ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ประโยคสุดท้ายของท่าน ทำให้ผมคิดว่า ควรมีการเสนอร่าง พรบ. ตั้ง TAS (Thai Academy of Science) เลียนแบบ US NAS (US National Academy of Science)

อ่านข่าวการประกาศรางวัล ที่นี่



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 580678เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท