หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​ข้าว ปลา นา น้ำ (หมุดหมายแห่งการเรียนรู้คู่บริการจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน)


ปี ๒๕๕๗ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกาศนโยบายงานบริการวิชาการแก่สังคม (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) และโครงการ "วิจัย มมส เพื่อชุมชน" ตลอดจน "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" อันเป็นความร่วมมือกับ สกว.ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดหลักคือ "ข้าว ปลา นา น้ำ" ซึ่งกรอบแนวคิดดังกล่าวสอดรับกับยุทธศาสตร์จังหวัดมหาสารคาม รวมถึงการแอบอิงอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแน่นหนัก

การพัฒนา "โจทย์" ที่ว่านี้ถูกขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมเป็นระยะๆ มาตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เป็นการพัฒนาโจทย์ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการจากศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการเพื่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) รวมถึงเครือข่ายนักวิจัยชุมชน ชาวบ้าน และนักวิชาการจากส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดมหาสารคาม



เวทีการพัฒนาโจทย์เพื่อกำหนดหมุดหมายแห่งการ "เรียนรู้คู่บริการ" ไม่ใช่เพียงแค่เปิดเวที "โสเหล่" ร่วมกันเท่านั้น ทว่ายังนำพาข้อมูลการทำงานในรอบเกือบๆ ๑๐ ปีมาเปิดเปลือยเป็นกรณีศึกษาควบคู่กันไปอย่างข้นเข้ม โดยเฉพาะข้อมูลอันเป็น "ประเด็นเชิงพื้น" ที่จากนักวิชาการและนักวิจัยชุมชนที่ส่วนใหญ่ต่างเคี่ยวกรำกับการทำงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมมาอย่างยาวนาน จนทำให้เกิดความแจ่มชัดในประเด็นการทำงานว่าในพื้นที่ต่างๆ นั้น มีร่องรอยแห่งการขับเคลื่อนใดบ้างแล้ว อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว หรือกระทั่งปัจจุบันนี้ยังพอจะหลงเหลือสิ่งใดเป็นความท้าทายให้มหาวิทยาลัยได้บริการวิชาการแก่สังคมได้บ้างตามวาทกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แห่งการเป็น "ที่พึ่งของสังคมและชุมชน"

ด้วยเหตุนี้ประเด็น "ข้าว ปลา นา น้ำ" จึงถูกปักเป็นหมุดหมายแห่งการเรียนรู้คู่บริการอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นน้ำเลยทีเดียว ซึ่งโครงการ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ก็พบประเด็นดังกล่าวในหลายๆ โครงการ/หลักสูตร ดังตัวอย่างเช่น



ข้าว :เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเป็นโจทย์การเรียนรู้คู่บริการค่อนข้างมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เดิม เช่น โครงการพัฒนาการทำนาแบบโยนกล้าและการจัดการที่ยั่งยืน (สาขาเคมี) ณ บ้านดอนนา ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งขยายผลมาจากบ้านห้วยชันอันเป็นหมู่บ้านในละแวกเดียวกัน

โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓ สองปีแรกดำเนินการในชุมชนบ้านดอนนา ทั้งสองพื้นที่มักตกอยู่ในสภาวะน้ำท่วมขังแบบซ้ำซาก การทำนาแบบโยนกล้า (นาโยน) จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดี หรือทางออกที่ดีสำหรับเกษตรกร



ปัจจุบันโครงการดังกล่าวภายใต้การทุ่มเทของ ผศ.ดร.มัณฑณา นครเรียบ ชุมชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างหลากหลาย บางพื้นที่ที่มีการขยายผลสามารถบูรณาการเข้ากับพลังงานทางเลือกได้อย่างน่าสนใจ เช่น กังหันลม ขณะที่ชาวบ้านที่ทำนาแบบโยนกล้า ก็ได้ผลผลิตที่ดี ลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไม่กังขา อีกทั้งยังสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็น "วิทยากรชุมชน" ได้อย่างสง่างาม กระบวนการทั้งปวงหยัดยืนบนฐานคิดของ "เกษตรอินทรีย์" เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของชุมชน ซึ่งปีงบประมาณ ๒๕๕๗ นี้ยังต่อยอดเป็น "วิจัยเพื่อชุมชน" ของมหาวิทยาลัยฯ ในชื่อ "เปรียบเทียบผลที่ได้จากการทำนาแบบโยนกล้า การทำนาดำและการทำนาแบบหว่าน" ด้วยเหมือนกัน

โครงการส่งเสริมโภชนาการสำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด (สาขาโภชนาการและความปลอดภัยในอาหาร) โดยมีโรงเรียนและชุมชนในบ้านลาดเป็นฐานที่มั่นของการจัดกิจกรรม เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มุ่งขับเคลื่อนสู่มิติความมั่นคงทางอาหาร และเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนสามปีต่อเนื่องในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีอาจารย์สุวมล สงกลาง เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ระยะสองปีแรกของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนี้ จะมุ่งไปยังเรื่องมาตรฐาน"ร้านค้าแผงลอย" ในชุมชน กระบวนการทำงานจะประสานพลังร่วมกับกลุ่มแกนนำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หรือกระทั่งเด็กๆ และเยาวชน กระทั่งทำไปทำมาจึงเริ่มพบ "โจทย์ใหม่" ที่เกี่ยวกับ "นักเรียน" นั่นก็คือนักเรียนในโรงเรียนบ้านลาดประสบปัญหาเรื่องโภชนาการ จนต้องปรับแต่งหมุดหมายใหม่ด้วยการขยับเข้าสู่โรงเรียนอย่างจริงจัง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ และสร้างกลุ่ม "อย.น้อย" ให้มีพลัง เพื่อที่จะบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง โดยมีครู และบุคลากรอื่นๆ ในชุมชนคอยหนุนเสริม ใส่ใจ และเฝ้าระวังร่วมกัน และปี ๒๕๕๗ นี้ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ยกระดับสู่การเป็น "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น"



ในทำนองเดียวกันนี้ที่คล้ายคลึงกันอีกโครงการหนึ่งก็คือโครงการ "ประเมินภาวะโภชนาการและจัดทำเมนูอาหารสำหรับนักเรียนแระถมวัย" (เทคโนโลยีอาหารและโภชนาศาสตร์) มีอาจารย์ดุลจิรา สุขบุญญสถิตย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักและดำเนินการที่โรงเรียนบ้านกุงเต่า ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม มุ่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียนได้มีความรู้และตระหนักในเรื่องเมนูอาหาร (Menu plan) ที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการสำหรับนักเรียน รวมถึงองค์ความรู้ด้านอาหารโภชนาการและ GMP ผ่านวิธีการที่หลากหลายรูปแบบ เช่น อบรม-ฝึกปฏิบัติการผ่านฐานการเรียนรู้ สำรวจแหล่งอาหารในชุมชน ประเมินภาวะโภชนาการ ฯลฯ

ชุมชนวังแสง ต.วังแสง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการขับเคลื่อนเรื่อง "ข้าว" ต่อเนื่องมาอย่างน้อยก็สองปีในมิติหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะการบัญชีและการจัดการ โดยปีนี้มีสองโครงการ คือ โครงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วังแสงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ผศ.ดร.วีรยา ภัทรอาชาชัย) และโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมและผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชน (อาจารย์พัชรี จิตระวัง) ที่ยังต้องเรียนรู้และใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ เพื่อประเมินว่าประสบความสำเร็จเฉกเช่นกับการจัดตั้ง "ธนาคารข้าว" ในบ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่
อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ที่ขับเคลื่อนโดย ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์ จากสาขาการจัดการ ซึ่งปัจจุบันได้ขยับมาสร้างระบบและกลไกการพัฒนาสมรรถนะของคณะกรรมการธนาคารข้าวสู่การเป็น "ผู้นำ" และ "วิทยากรชุมชน" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว




นอกจากการชูประเด็นเรื่องข้าว หรือประเด็นการจัดการองค์กรข้าวในชุมชนจากโครงการข้างต้น ยังพบโครงการอื่นๆ ที่เชื่อมโยงความเป็น "ข้าว-อาหาร-อาชีพ" เข้าด้วยกันอีกจำนวนหนึ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน อาทิ โครงการโรงเรียนชีววิถีอีสานเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (สาขารัฐศาสตร์) โดยอาจารย์วชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ เป็นผู้หัวหน้าโครงการซึ่งจัดขึ้น ณ ชุมชนบ้านบ่อแก บ้านบ่อทอง ต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการร่วมสร้างองค์ความรู้ด้านชีววิถี การลดจำนวนการใช้สารเคมีในวิถีการเกษตร พร้อมๆ กับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรชุมชน เพื่อก่อให้เกิดโรงเรียนชีววิถีอีสาน เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนในชุมชน

เช่นเดียวกับโครงการ "ผลิตภัณฑ์อาหารจากจุลินทรีย์เพื่อการพัฒนาอาชีพ" (สาขาจุลชีววิทยา) ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มุ่งพัฒนาอาหารให้ได้ทั้ง "คุณค่าและรายได้" ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจารย์สุจิรา มณีรัตน์ ได้ดำเนินการในชุมชนบ้านหัวขัว ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารจากจุลินทรีย์ ผ่านวัตถุดิบง่ายๆ ที่มีในท้องถิ่นเป็นหัวใจหลัก



ปลา : เป็นอีกมิติหนึ่งที่เชื่อมโยงถึงความเพียรพยายามปักธงไปในเรื่องความมั่นคงในทางอาหารเฉกเช่นกับเรื่อง "ข้าว" ซึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอย่างมากก็คือการดำเนินงานของสาขาประมง คณะเทคโนโลยีที่ดำเนินการโดย ดร.วิภาวี ไทเมืองพล ในชื่อโครงการ "ขยายผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบ้านยางน้อย" ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

การดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของสาขาประมง เป็นการดำเนินการสามปีต่อเนื่องในพื้นที่เดิม เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์ปลาสลายมาสู่การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่ชาวบ้าน เช่น เพาะไรแดง ผลิตอาหารปลาด้วยต้นทุนต่ำ การจัดการน้ำ การพัฒนาคุณภาพน้ำ การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ โรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับปลา

โครงการดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ชาวบ้านสามารถผสมผสานระหว่าง "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" กับ "เทคโนโลยี" ใหม่ๆ ได้อย่างลงตัว ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี สามารถเพาะพันธุ์ปลาทางเลือกใหม่ๆ ได้ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ อีกทั้งปี ๒๕๕๖ คณะทำงานในชุดดังกล่าวยังได้รับการต่อยอดงาน "บริการวิชาการ" สู่การเป็นงาน "วิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) รวมถึงได้รับงบประมาณสนับสนุนตามโครงการ "เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์" ของจังหวัดมหาสารคาม (เมืองแห่งการเรียนรู้สู่การพัฒนาชุมชน) เพื่อขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแก่ชาวบ้าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับผลผลิตชุมชนสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะที่โครงการ "การจัดการธุรกิจปลาน้ำจืดในกระชังเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป" ของสาขาการจัดการประกอบการ (คณะการบัญชีและการจัดการ) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เริ่มเห็นเค้าความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและน่าจับตามองไม่แพ้โครงการอื่นๆ ซึ่งขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นปีที่สามในบ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยสองปีให้หลัง (๒๕๕๖-๒๕๕๗) ผศ.ดร.อัจฉริยา อิสระไพบูลย์ ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่และทางเลือกใหม่ร่วมกับชุมชน ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลา (ปลาดุกร้า) หลังจากหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านต่างติดยึดอยู่กับวิถีการเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งรอเวลาจำหน่ายตามระบบ "พันธะสัญญา" เพียงช่องทางเดียวอย่างใจจดใจจ่อ



สำหรับปี ๒๕๕๗ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาดังกล่าวมุ่งยกระดับไปสู่การรับรอง "มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน" พร้อมๆ กับการเติมเต็มศักยภาพชาวบ้านให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายที่หลากหลายและกว้างขวาง รวมถึงการเพียรพยายามสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนกับองค์กรต่างๆ เพื่อเสริมพลังให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน

นา-น้ำ : ประเด็น "นา-น้ำ" คืออีกเรื่องที่แนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกันและยึดโยงเกี่ยวพันกับความเป็น "ผืนดิน" อย่างเสร็จสรรพ นับตั้งแต่การทำนาแบบโยนกล้า หรือที่เรียกทั่วไปว่า "นาโยน" ของหลักสูตรเคมี (คณะวิทยาศาสตร์) ที่บ้านดอนนา ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ในวิถีของ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" เช่น โครงการ "การศึกษาและปรับปรุงคุณภาพดินโพนในพื้นที่การทำสวนผักบ้านดอนจำปา" ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดย ดร.ธายุกร พระบำรุง (คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์)



โครงการดังกล่าวฯ กิจกรรมหลักๆ จะเป็นการศึกษาแบบมีส่วนร่วมในเรื่องสถานการณ์การใช้และการเสื่อมคุณภาพของ "ดินโพน" จากวิถี "เกษตรสวนผัก" การค้นหาแนวทางการปรับปรุงดินบนพื้นฐานภูมิปัญญา และปัจจุบันก็ดำเนินการควบคู่ไปกับงาน "วิจัยเพื่อท้องถิ่น" บนความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

หรือโครงการ "กระบวนการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรในการผลิตเชื้อไตรโครมาเพื่อป้องกันกำจัดโรคในนาข้าวเขตชุมชนบ้านหนองขาม" ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งรับผิดชอบโครงการโดย รศ.ดร.มาระตี เปลี่ยนศิริชัย จากสาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ มุ่งสร้างต้นแบบการผลิตเชื้อไตรโครมาเพื่อป้องกันกำจัดโรคในนาข้าวให้กับชาวบ้าน เพื่อนำกลับไปใช้ในวิถีการเกษตรของแต่ละครัวเรือน หรือกระทั่งการผลิตเพื่อจำหน่ายเสริมสร้างรายได้ โดยไม่จำเป็นต้องเฝ้ารอการช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่นๆ เหมือนเช่นเคยมา

นี่คือส่วนหนึ่งในหลายๆ โครงการของหลักสูตรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนภายใต้ประเด็น "ข้าว ปลา นา น้ำ" อันเป็นประเด็นที่ยึดโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัดมหาสารคาม หรือกระทั่งการเชื่อมร้อยอย่างเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในวิถีชีวิตผู้คน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ย่อมทั้งที่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว หรือกระทั่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานที่อาจยังต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยเพื่อประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมว่ากระบวนการทั้งปวงนั้น ก่อเกิดมรรคผลใดบ้างแล้ว


หมายเหตุ
ภาพโดย : พนัส ปรีวาสนา,หลักสูตรเคมี คณะวิทยาศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 580673เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

-สวัสดีครับอาจารย์

-เรียนรู้เรืองข้าว ปลา น้ำ

-หนึ่งหลักสูตรที่เรียนอย่างไรก็ไม่หมดครับ

-ส่งเสริมการเรียนรู้แบบยึดโยงชุมชน...ได้ทั้งสองฝ่ายนะครับ

-ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

-ขอบคุณครับ

เป็นความจริงค่ะ ..... เรียนรู้คู่บริบท .... ในน้ำมีปลา...ในนามีข้าว นะคะ....คนไทยไม่อดตาย นะคะ .. ถ้าพอเพียง


ครับ อ.JJ

ทุกอย่างยังคง ทำไปเรียนรู้ไป
เรียนแบบใจนำพา ศรัทธานำทาง

ครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ปฏิรูปการเรียนรู้จากชั้นเรียน ไปสู่นอกห้องเรียน
ให้ค่าความสำคัญกับการเรียนตรงจากชุมชน เรียนจริงจากสถานการณ์ในมิติ เรียนรู้คู่บริการ
เราเชื่ออยู่อย่างว่า การเรียนรู้เช่นนี้ คือกระบวนการพัฒนาชุมชนผ่านการศึกษาที่มีแนวโน้มยั่งยืน
เราได้พัฒนานิสิต ผู้เรียนไปในตัว
บ่มเรื่องจิตอาสาไปในตัว

ฯลฯ....ขอบคุณครับ

ครับ, พี่ Dr. Ple

ในน้ำมีปลา...ในนามีข้าว ...

พลอยให้คิดถึงแบบเรียนเก่า ๆ ที่เคยได้อ่าน ได้ท่องจำ
คำๆ นี้สื่อภาพสังคมไทยได้อย่างน่ารัก...

ขอบพระคุณครับ

มันรวดเร็วจน ลางเลือน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท