Global Health เป็นท่าทีและวิธีทำงาน



มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งหน่วยงาน MUGH (Mahidol University Global Health) เพื่อทำงานวิชาการด้าน GH ที่กำลังเป็นแฟชั่น มี รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา เป็นผู้อำนวยการ

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจเสียก่อน ว่า GH หมายถึงอะไร เราได้ไปดูงานในสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหาคำตอบนี้ ดังบันทึก ชุดนี้ ไปประชุมก็แล้ว ดูงานก็แล้ว เราก็ยังไม่ได้นิยามของ GH หรือกล่าวให้ถูกต้องกว่า ว่า GH มีหลายนิยาม หลายความหมาย

ผมอ่านประวัติของนักวิจัย/วิทยาศาสตร์/แพทย์ ท่านหนึ่ง ชื่อ Peter J. Hotez พบว่าท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือนักจุลชีววิทยา และในขณะเดียวกัน เป็นนักวิจัยด้าน GH ด้วย ซึ่งฟังดูขัดๆ เพราะเรามักเข้าใจว่า นักวิจัยพื้นฐานต้องคร่ำเคร่งอยู่กับการวิจัยในห้องปฏิบัติการ จะมาเสียเวลาทำงาน GH ที่เป็นงานเชิงสังคมศาสตร์ มองเชิงระบบ ที่เป็นระบบโลก ไปทำไม

ผมคิดเอาเองว่า การทำงานทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ การทำงานวิจัยยิ่งเป็นการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่สำคัญคือความหมายของสิ่งที่ทำ ในกรณีของนักจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา ความหมายไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ แต่เชื่อมโยงสู่ชีวิตของคน ซึ่งในกรณีนี้คือคนยากคนจน ที่มักอมโรค ที่เขาให้ชื่อกลุ่มโรคนี้รวมๆ ว่า NTDs (Neglected Tropical Diseases) ซึ่งเนื่องจากเป็นโรคของคนจน จึงถูกทอดทิ้ง เพราะคิดวิธีแก้ปัญหา หรือพัฒนายารักษา คนก็ไม่มีเงินซื้อ

Peter Hotez เก่งด้านการคิดวิธีมองกลุ่มโรค NTDs เชื่อมกับชีวิตคนจน ท่านชี้ให้เห็นว่าวิธีมองว่า คนจนอยู่ในโลกส่วนประเทศยากจนนั้น มีส่วนผิดอยู่ด้วย เพราะในประเทศรวย ในเมืองใหญ่ที่มั่งคั่งนั้น มีคนจนอาศัยอยู่จำนวนมาก (ผมมองว่าคนจนเหล่านั้นคือผู้ค้ำจุนคนฐานะดีในเมือง ผมคิดอย่างนี้มากว่า ๒๐ ปี ตอนไปอยู่คอนโดที่พญาไท)

จึงเกิดคำว่า วัคซีนป้องกันความยากจน (anti-poverty vaccines) ที่มี ๒ ความหมาย ความหมายแรกคือ เมื่อดูแลบำบัดป้องกัน NTDs ก็จะช่วยป้องกันและลดความยากจน ความหมายที่สองคือ มีการคิดพัฒนาวัคซีนป้องกัน NTDs ซึ่งก็จะมีผลลดความยากจนด้วย มีการตั้งสถาบันพัฒนาวัคซีนป้องกัน NTDs หลากหลายชนิด ชื่อ Sabin Vaccine Institute

เขาพยายามชี้ว่า การทำงานแก้ปัญหา NTDs เป็นการทำงาน Global Health ที่ไม่ใช่แยกส่วนเฉพาะประเทศยากจนเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อประเทศร่ำรวยด้วย การแก้ปัญหาคนยากจนในประเทศร่ำรวย เป็นการลดปัญหาสังคมในประเทศร่ำรวยเหล่านั้น การทำงานแก้ปัญหา NTDs จึงมีธรรมชาติเป็น GH อยู่ในตัวของมัน เขาเรียกชื่อกิจการเพื่อสุขภาพแบบนี้ว่า Blue Marble Health

Peter Hotez ร่วมคบคิดกับคนที่ใจตรงกัน ตั้งหน่วยงานขึ้นขับเคลื่อนการแก้ปัญหา NTDs ที่เป็น Blue Marble Health ได้แก่ Sabin Vaccine Institute และ National School of Tropical Medicine อยู่ใน Baylor College of Medicine

การสร้าง "วิธีผสมศาสตร์" แบบใหม่ๆ ที่มองประเด็น มองปัญหา แบบข้ามพรมแดน ข้ามศาสตร์ เป็นนวัตกรรม ที่มีความต้องการมากในวงการอุดมศึกษาไทย เราต้องการคนที่ก้าวข้ามความคับแคบ ออกไปสู่ความเชื่อมโยง และก่อเกิดความรู้ และศาสตร์ใหม่ แนวทางดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาหรือแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้สมกับการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน"



วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 580632เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2014 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2014 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โลกเราแคบขึ้น ขอบเขตประเทศลดความสำคัญลง เรากลายเป็นพลเมืองโลกนะคะอาจารย์ ต่อไปคงแบ่งเป็น คนรวย ปานกลาง และคนจน คนจนก็เป็นคนจนของโลกเช่นกัน ตอนนี้คนรุ่นใหม่น่าจะเข้าใจผลของ "บริบท" (ที่เปลี่ยนไป) ได้ชัดเจนขึ้น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท