สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

กิจกรรม“ดำนา”สร้างความผูกพันในครอบครัว


ครอบครัวไทยในยุค 2014 ความผูกพันสั่นคลอน กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างสังคมไทย พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย หันหลังให้กันคุยกันไม่รู้เรื่อง กลับกลายมาเป็นภาระของสังคมไม่ว่าเด็กแว๊น ท้องก่อนวัยเรียน ติดยา ติดเกม ขี้เกียจ ไม่เรียนหนังสือฯลฯ จนยากจะแก้ไข หลายชุมชน หลายหน่วยงานต่างพยายามหาวิธีในการแก้ปัญหานี้ ตัวอย่างที่ชุมชนบ้านห้วยม้าลอย หมู่ที่ 4 ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ได้หาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้เช่นดียว ล่าสุดได้มีการจัดกิจกรรมของโรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอยเรียนรู้วิถีชุมชน ครั้งที่ 3 ขึ้นไฮไลต์เด่นอยู่ที่ “กิจกรรมดำนา” เชื่อมความรัก ความผูกพันในครอบครัวแบบเห็นผล


กิจกรรมของโรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอยเรียนรู้วิถีชุมชน ครั้งที่ 3 มีชาวหมู่ 4 บ้านห้วยม้าลอย วัดบ้านห้วยม้าลอย โรงเรียนบ้านห้วยม้าลอย โรงเรียนบ้านโคกหม้อโรงเรียนวัดท่ากุ่ม โรงเรียนวัดกรวด โรงเรียนวัดห้วยม้าลอย โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลบ้านห้วยม้าลอย กว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรมนอกจากจะมีกิจกรรมดำนา ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญที่จะให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกันแล้ว ยังมีการแสดงละครของเยาวชนและชาวบ้านห้วยม้าลอย จำลองวิถีชีวิตชุมชนชนบทผ่านการแสดงละครเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ได้เห็นเยาวชนโชว์บทบาทการแสดงและร้องเพลง สร้างความครื้นเครงให้กับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก



นายพรสันต์ อยู่เย็น นายกอบต.หนองสาหร่าย กล่าวที่มาของกิจกรรมนี้ว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 3 แล้ว เริ่มจากโรงเรียนครอบครัว ซึ่งเป็นโครงการที่ให้คนในชุมชนผูกพันกัน มีกิจกรรมการดำนา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับลูกหลานให้หันกลับมาสนใจและเห็นคุณค่าของอาชีพพ่อแม่ และเมล็ดข้าวที่กิน กิจกรรมนี้จะสอนให้เด็กได้ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีมองแปลงนา และใช้สร้างแรงบันดาลใจให้กล้าคิด กล้าแสดงออก โดยใช้ทุนทางสังคม การนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้ใหญ่ที่มีจิตอาสาทุกภาคส่วน ทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัด โรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ และ อบต.หนองสาหร่าย รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ กิจกรรมนี้ยังเป็นการลดช่องว่างและเชื่อมความสัมพันธ์ของ 3 วัย ได้เป็นอย่างดี การใช้รูปแบบ "โครงการโรงเรียนครอบครัว" มาใช้เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชนได้ทำกิจกรรมพัฒนา "ทักษะชีวิต" ให้กับลูกหลานร่วมกันนับว่ามาถึงปีนี้แล้วได้ผลดีขึ้นตามลำดับ"



ครูเตียง ชมชื่น ผู้ใหญ่โรงเรียนครอบครัวบอกว่า " กิจกรรมดำนานี้ ถ้าถามว่าทำแล้วเห็นผลอะไรกับเด็ก สิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลง คือ เด็กมีความกล้าแสดงออก ซึ่งความกล้าแสดงออกนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะกล้าพูดในที่ชุมชน เรียนรู้วิธีการเข้ากลุ่มในสังคม และเกิดภาวะความเป็นผู้นำ ขณะที่ภาวะแวดล้อมต่างๆ ในชุมชนก็เริ่มดีขึ้น พ่อแม่เริ่มมีความรับผิดชอบหันมาให้ความสนใจกับลูกหลานมากขึ้น"



ผลของการเข้าร่วมกิจกรรมติดต่อกันมาถึง 3 ปี ทำให้ได้เห็นภาพครอบครัวที่มีความแน่นแฟนขึ้นเช่น เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม นางสาวนารินทร์ หงษ์ศาลา อายุ 17 ปี จากโรงเรียนบรรรหารแจ่มใสวิทยา 1 กล่าวว่า "การดำนาทำให้รู้ว่าอาชีพที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ทำเป็นอย่างไร อย่างน้อยได้เป็นการช่วยอนุรักษ์เอาไว้ยังได้เห็นความสำคัญของอาชีพชาวนาด้วยค่ะ" ด.ญ.บัณฑิต อู่อรุณ วัดบ้านกรวด "ชอบกิจกรรมดำนา สนุกและได้ความรู้ จะได้เอาไปสอนเพื่อนๆได้ว่าดำนาทำอย่างไร ยากแค่ไหนค่ะ" น.ส.พรทิพย์ แก้วปานกัน อายุ 17 ปี ม.รามคำแหง "ทำให้เห็นคุณค่าของข้าว รู้ว่ากว่าจะมาเป็นข้าวให้เรากินมีความยากลำบากแค่ไหน และกิจกรรมในปีนี้มีการแสดงละครด้วยทำให้สนุกและทำให้เพิ่มความสัมพันธ์ในชุมชนด้วยค่ะ"



ที่มากันเป็นครอบครัว นางวาริน ชมชื่นแม่ อายุ 34 ปี เป็นตัวแทนสะท้อนว่า "ครั้งนี้มีความพิเศษได้มาแข่งดำนาและแข่งกันทั้งครอบครัวเลย มีคุณย่ามาร่วมแข่งด้วย เห็นภาพที่คุณย่าเอาหงอบมาบังแดดให้หลานก็ดีใจ เพราะปกติ ย่า หลานไม่ค่อยได้คุยกันเลย ทำให้เห็นความสนิทสนมกันมากขึ้น" ครอบครัวชมชื่น ประกอบด้วย นายวิชัย ชมชื่น วัย 44 ปี นางท้อ ชมชื่น วัย 64 ปี และน.ส.วนิดา ชมชื่น อายุ 16 ปี ทำให้เห็นภาพของคนสามวัยที่ทำกิจกรรมร่วมกัน



ปิดท้ายด้วย ยายลี่ วงศ์สุวรรณ อายุ 83 ปี เป็นคนอายุมากที่สุดที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ทั้งร่วมแสดงละครร่วมกับหลานๆ โดยรำนำทีมผู้เฒ่าอย่างสนุกสนานและมีความสุข และยังเข้าร่วมแข่งขันดำนาอีกด้วยสะท้อนว่า "ดีใจที่เห็นเด็กๆ เขาดำนาเป็น เพราะต่อไปคนจะดำนากันไม่เป็นแล้ว"



โรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอย เกิดขึ้นจากแนวคิดของ นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข หรือ (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) เข้ามาจุดประกายให้ชุมชนหมู่ 4 บ้านห้วยม้าลอย ปรับเปลี่ยนแนวคิดการจัดกิจกรรมและพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน จากเดิมที่แยกส่วนกันทำ ไม่มีส่วนร่วมของคนในชุมชน ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมร้อยและต่อยอด ทำให้ที่ผ่านมาจึงเป็นความร่วมมือแบบหลวมๆ ปี 2554 โมเดลดังกล่าวค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในชุมชนหมู่ 4 ทำให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำของคนทุกภาคส่วนทั้งตำบล อาทิ ครู โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายเด็กเยาวชน ผู้นำชุมชน และผู้ใหญ่ใจดีขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนกิจกรรมของคนในชุมชนเอง มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้น โดยมี นายเตียง ชมชื่น ผู้ใหญ่ใจดีอาชีพชาวนาและเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย เข้ามารับหน้าที่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนครอบครัว



นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของอบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) หน่วยงานที่เล็กที่สุดของภาครัฐ ที่ไม่ได้รอการจัดการจากส่วนกลางเท่านั้น ยังสามารถหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาโดยการบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ซึ่งใครจะนำวิธีการนี้ไปใช้บ้าง ทางบ้านห้วยม้าลอยยินดีก็ให้คำแนะนำ #


>>> ทำความรู้จักมูลนิธิสยามกัมมาจลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.scbfoundation.com

หมายเลขบันทึก: 580573เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2014 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้กับได้จริงค่ะสำหรับกิจกรรมดีๆเช่นนี้ เห็นแล้วชื่นใจมากๆ....

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท