​After Action Review:ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)


After Action Review

หัวข้อการอบรม Flipped Classroom

วิทยากร ดร. ปกรณ์ สุปินานนท์

ผู้บันทึก นางสาวณัฐฏ์พัชรสร สมบัติ รหัสนักศึกษา 57D0103107

ระดับปริญญาโท ภาคพิเศษ สาขาหลักสูตรและการสอน

*************************************************************************************

1.ความคาดหวังในการเข้าร่วมอบรม

Flipped Classroom น่าจะเป็นอีกรูปแบบการสอนหนึ่งที่จะพัฒนาผู้เรียนและส่งเสริมการเรียนรู้

2.ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม

ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าท้ายความสามารถของมนุษยชาติ เพราะเป็นยุคที่โลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และข้อมูลข่าวสารทุกอย่างก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรอบตัวเราอีกต่อไป แค่เพียงคลิกที่ปลายนิ้ว เราก็สามารถก้าวข้ามพรมแดนไปได้ทุกซอกทุกมุมโลก ซึ่งแวดวงทางการศึกษาทั่วโลกต่างก้าวพ้นรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ครูเป็นศูนย์กลาง มาเป็นการเรียนรู้ในแบบกระบวนทัศน์ใหม่ เรียกได้ว่าเป็นการจัดการศึกษายุคฐานแห่งเทคโนโลยี หรือTechnology Based Paradigm

ในขณะที่สังคมต่างวิพากษ์ระบบการศึกษาว่ามิได้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมิได้พัฒนาผู้เรียนเต็มศักยภาพ คือเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกและธำรงวิถีการดำเนินชีวิตที่เปี่ยมสุขภาวะไว้ได้ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วระบบการศึกษาและโรงเรียนเป็นกลไกสำคัญในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสังคม ที่มุ่งหาคำตอบเพื่อตอบโจทย์คุณลักษณะสำคัญของผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อร่วมยกระดับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะที่ดีขึ้น อาชีพการงานที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้นและโอกาสการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

ทักษะของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ ๓R x ๗C ซึ่ง ๓ R ได้แก่ Reading (การอ่าน), 'Riting (writing = การเขียน) และ 'Rithmetics (arithmetics =คณิตศาสตร์) ส่วน ๗ C ได้แก่ Critical thinking & problem solving (การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา) Creativity & innovation (ความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรม) Cross-cultural understanding (ความเข้าใจบนวัฒนธรรมที่แตกต่างหลกาหลาย) Collaboration, teamwork & leadership (การประสานความร่วมมือ การทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ) Communications, information & media literacy (การสื่อสาร และการมีความรู้เท่าทันสื่อและข้อมูล) Computing & ICT literacy (คอมพิวเตอร์และข้อมูลสารสนเทศ) และ Career & learning skills (ทักษะอาชีพและการเรียนรู้)

ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา โดยมีแนวคิดว่า การให้เด็กเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้าจากที่บ้านแล้วมาพูดคุยในชั้นเรียนนั้น จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น เหลือเวลาสำหรับเติมสิ่งอื่นๆ เพราะเมื่อก่อน 70% ของชั้นเรียนเป็นการบรรยายของครู แต่ถ้ากลับด้านห้องเรียนแล้ว แทนที่เด็กจะมาตัวเปล่า นั่งรอรับความรู้จากครู เด็กก็จะมาเรียนด้วยความเข้าใจ เพราะเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้ามาแล้ว ส่วนในชั้นเรียนจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กซักถาม และมีส่วนร่วมในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ต้องทุกข์ทนกับการทำการบ้านเพียงลำพัง เพราะเขาจะมีครูคอยสอน คอยอธิบายในสิ่งที่ไม่เข้าใจและยังมีเพื่อนที่ช่วยกันคิด ช่วยกันทำงานในชั้นเรียน การเรียนรู้วิธีนี้จึงช่วยให้นักเรียนมีความสุขมากขึ้น และยังเป็นกระบวนการที่ทำให้พวกเขาเข้าใจเนื้อหาการเรียนได้อย่างแท้จริง

ห้องเรียนกลับด้าน หรือ Flipped Classroom เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่จะทำให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมากกว่าการบรรยายหน้าชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว โดยครูจะสอนด้วยวิดีโอที่ตนเองสร้างขึ้นมาส่วนนักเรียนก็ไปเรียนรู้เนื้อหาดังกล่าวนอกเวลาเรียน จากนั้น นักเรียนจะนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชั้นเรียน ส่วนครูก็จะมีหน้าที่สอน และให้คำปรึกษาเวลาที่นักเรียนไม่เข้าใจ มากกว่าที่จะคอยบอกเล่าเนื้อหาการเรียนรู้ดังเช่นที่ผ่านๆ มา ดังนั้น กระบวนการเรียนและการบ้านทั้งหมดจึงพลิกกลับ และสลับด้านกัน การจดบันทึกที่เคยทำในชั้นเรียน จะถูกนำไปทำที่บ้านผ่านทางวิดีโอที่ครูสร้างขึ้น และสิ่งที่เคยทำที่บ้าน เช่น การบ้าน รายงาน จะถูกนำมาทำในชั้นเรียนแทน เราจึงเรียกวิธีการเรียนรู้นี้ว่า "ห้องเรียนกลับด้าน"อีกเรื่องที่สำคัญคือกระบวนการเรียนรู้แบบFlipped Classroomซึ่งคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงและทุกที่ทุกเวลา พื้นที่การเรียนรู้จึงเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่ทั้งมิติเขิงขนาดและเวลา ไม่ใช่แต่เพียงครูและโรงเรียนเท่านั้นที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่พัฒนาผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ แต่ต้องพัฒนาทุกคนให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยเช่นกัน

3. รู้แล้วคิดอะไรต่อ

ในอนาคตอันใกล้ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นทำให้การเข้าถึงความรู้ในสาขาต่างๆเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถค้นคว้าได้ ไม่จำเป็นจะต้องเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม การที่ผู้สอนได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง มีอิสระทางด้านความคิด จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเองเป็นความรู้ที่คงทน ฝึกการแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกันในสังคม

4.นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ครูจะต้องปรับแนวทางการเรียนการสอน (pedagogy) โดยครูจะต้องทำให้เด็กรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีเป้าหมายในการสอนที่จะทำให้เด็กมีทักษะชีวิต ทักษะการคิด และทักษะด้านไอที ซึ่งไอทีในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ใช้คอมพิวเตอร์เป็นหรือใช้ไอแพดเป็น แต่หมายถึงการที่เด็กรู้ว่า เมื่อเขาอยากรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเขาจะไปตามหาข้อมูล (data) เหล่านั้นได้ที่ไหน และเมื่อได้ข้อมูลมาเด็กต้องวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด และสามารถแปลงข้อมูลเป็นความรู้ (knowledge) ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากการฝึกฝน ครูจะต้องให้เด็กได้มีโอกาสทดลองด้วยตนเอง

คำสำคัญ (Tags): #flipped classroom
หมายเลขบันทึก: 580129เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท