จิตตปัญญาเวชศึกษา 208: เสมือนย่างเท้าอยู่บนขอบมีดโกน


เสมือนย่างเท้าอยู่บนขอบมีดโกน (Stroll on the edge of razor blade)

การดูแลผู้ป่วยนั้นเราต้องระมัดระวัง และมีสติอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าบางที ด้วยความที่แพทย์พึ่งพาการแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) เป็นหลัก คือมีหลักมีฐาน มีเหตุผล มีตำราอ้างอิง มีแนวทางการรักษา (clinical practice guidelines) เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความมั่นใจว่าเรากำลังทำสิ่งที่เรา (คิดว่า/รู้ว่า) ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย จนบางครั้งเราเกิดความเผอเรอ คิดว่าเรามีตำราอ้างอิงไปหมดทุกอย่าง ความเผอเรอเป็นพยาธิสรีระและพยาธิกำเนิดของความประมาท ความประมาทแสดงออกเป็นอาการคือขาดสติ ขาด awareness เผลอเข้าเกียร์ออโต้ เมื่อเดินไปไม่ระวัง ก็หกล้มได้

ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในระยะต้นๆ เราสามารถทำงานแบบมั่นใจแบบนั้นได้ แต่ในผู้ป่วย palliative care หรือผู้ป่วยที่ระยะโรคดำเนินมาถึงช่วงท้ายๆ ที่เป้าหมายการรักษามีความเป็นองค์รวม (holistic) มากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นองค์รวมของมนุษย์นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรตายตัว เพราะมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้ง หากใจเราเลื่อนลอย ไม่ได้อยู่กับคนเบื้องหน้า ณ เวลานั้น ตอนนั้น ในสถานที่แห่งนั้น กับคนนั้นจริงๆ เผลอขับเกียร์ออโต้ไปเรื่อยๆ ก็จะพบเรื่องแปลกใจได้เมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด

ความดีที่ใครๆก็มี

เรื่องเล่าโดยพระอาจารย์ครรชิต อกิญฺจโน วัดป่าสันติธรรรม จังหวัดชัยภูมิ พระอาจารย์ได้เข้าไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ได้แนะนำคุณพยาบาลว่าควรจะดึงนำเอาเรื่องความดี ความภาคภูมิใจใดๆของผู้ป่วยขึ้นมาสนทนา เป็นสรณะ แทนที่จะพูดถึงแต่โรคาพยาธิต่างๆ พยาบาลก็นำไปปฏิบัติตาม จนกระทั่งเจอผู้ป่วยรายหนึ่ง เด็กหนุ่มอายุไม่มาก ติดยาเสพติด ติดคุก คราวนี้ป่วยหนักมาก เป็นเอดส์ เป็นติดเชื้อรุนแรง พยาบาลจึงเข้าไปช่วยเหลือ
"น้องขา ใจเย็นๆ พี่จะช่วยให้ยา ให้ไม่เจ็บ ไม่ทรมานนะคะ"
คนไข้ยังกระสับ กระส่าย พยาบาลฉีดยามอื์ฟีนให้ อาการเจ็บปวดดีขึ้น แต่สีหน้ายังทุกข์มาก นึกถึงสิ่งที่พระอาจารย์สอน เลยพูดกับคนไข้
"ไหนลองเล่าให้พยาบาลฟังหน่อยสิคะ ชีวิตเป็นอย่างไร นึกถึงความดีที่น้องเคยทำแล้วมีความสุข คนอื่นมีความสุขเพราะสิ่งที่น้องทำนะคะ"
ปรากฏว่าคนไข้ยิ่งกระสับกระส่าย ทุรนทุราย คุณพยาบาลเห็นท่าไม่ดี เลยใช้ไม้ตาย นึกถึงที่มีคนสอนว่าความดีอย่างหนึ่งที่ทุกคนมีแน่ๆ ก็คือการได้ดูแลพ่อแม่ เลยพูดกับคนไข้อีก
"เอาเรื่องที่น้องอยู่กับพ่อกับแม่ ได้ดูแลพ่อแม่ หรือมีความสุขกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ค่ะ"
ปรากฏว่าคนไข้ถึงกับดิ้นบนเตียง เสียงคร่ำครวญออกจากปากไม่เป็นคำ พยาบาลเห็นท่าไม่ดี เลยถอยออกมา โทรไปปรึกษาพระอาจารย์ครรชิต
"หนูทำทุกอย่างแล้วค่ะ พูดถึงความดีก็แล้ว ความดีที่ทุกคนต้องมีก็แล้ว แต่ไม่ work"
"อือ... คุณพยาบาลรู้เรื่องราวเค้าหรือยัง" พระอาจารย์ถาม
"ยังค่ะ คนไข้พึ่งมานอนโรงพยาบาล"
"ลองไปถามดูก่อนดีกว่า แบบนี้อาจจะไม่ธรรมดา"
"ค่ะ ได้ค่ะ"

พยาบาลไปตามหาคนที่พาคนไข้มาโรงพยาบาล พอเจอก็ถามว่าพอจะรู้ข้อมูลอะไรของคนไข้ไหม ก็เลยได้ความว่า ผู้ป่วยนั้นติดยาเสพติดตั้งแต่เด็ก เที่ยวลักขโมยและทำร้ายชาวบ้านมาเป็นจำนวนมาก พอให้ทบทวนเรื่องความดี ยิ่งคิด ยิ่งทรมาน ยิ่งทุกข์ แล้วพอถามถึงพ่อแม่คนไข้ คนพามาก็หน้าสลด บอกว่าคนไข้เป็นเด็กข้างถนน แม่เอามาทิ้งไว้ข้างถังขยะตั้งแต่ยังเล็กๆมาก มีคนสงสารเลยคอยให้อาหาร แต่ไม่มีใครเลี้ยง ไม่มีใครดูแล โตมาก็เลยเป็นแบบนี้

พอทราบเรื่องราวละเอียด พยาบาลรีบโทรกลับไปหาพระอาจารย์ครรชิต "หนูทราบเรื่องแล้วค่ะ ทำยังไงดีล่ะคะคราวนี้"
"คุณพยาบาลมีพระเครื่องไหม?"
"มีค่ะ"
"ดีแล้ว เอาอย่างนี้ ไปหาเขานะ เอาพระเครื่องใส่ในมือ บอกเค้าว่าตอนนี้เค้าอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ปลอดภัยแล้ว มีพยาบาล มีหมอที่รักเขา เมตตาเขาดูแลอยู่ มีแต่คนที่รักเขาอยู่ มีพระอยู่ในมือแล้ว ขอให้วางใจ สงบใจลงได้"
พยาบาลรีบกลับไปปฏิบัติตาม ปรากฏว่าพอได้กำพระเครื่องในมือสักพักใหญ่ อาการทุรนทุรายเริ่มสงบลง แม้ว่าสัญญานชีพจะแผ่วลงๆ แต่ก็ไม่มีอาการทรมานอะไรเหลืออยู่ แล้วก็ตายอย่าสงบในที่สุด

เราไม่มีวันทราบเรื่องราวความหลากหลายของชีวิตคนได้หมดทุกคน จะอ้างตำรา อ้างอิงประสบการณ์มากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการมีสติ และอยู่กับคนข้างหน้า ณ เวลานั้น ณสถานที่นั้น กับคนๆนั้นจริงๆ สิ่งทีเราเคยรู้ เคยคิดว่ารู้ อาจจะใช้ไม่ได้กับคนข้างหน้า กับตอนนั้น ณ เวลาสถานที่นั้นเลย

เหมือนเดินย่างก้าวอยู่บนคมมีดโกน ต้องมีสติตลอดเวลา

บันทึกโดยนพ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๖ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 580117เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องเลยนะครับ

ที่จะช่วยให้เขาจากไปโดยสงบ

แต่ละคนต่างกันจริงๆ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ขอบคุณคุณหมอค่ะ อ่านแล้วได้แนวทางในการพูดคุยดูแลคนป่วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท