Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

หากนายสมิท คนสัญชาติอังกฤษ จะมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เขาจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองอย่างไร ?


กรณีศึกษานายสมิท : สิทธิในสถานะคนเข้าเมืองและคนอาศัยตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทย

ของนักท่องเที่ยวต่างด้าวในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗

-----------

ข้อเท็จจริง[1]

-----------

ปรากฏตามหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอังกฤษว่า นายสมิทเกิดในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ โดยมีบิดาและมารดาเป็นผู้มีสัญชาติอังกฤษ เขาจึงมีสัญชาติอังกฤษ

เขาต้องการร้องขอเข้ามาในประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยว

เขามีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก ไม่มีประวัติอาชญากรรม ทั้งยังมีสุขภาพดีมาก

เขาชอบภาษาไทยมาก เขาศึกษาภาษาไทยในประเทศอังกฤษจนสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างดี ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน

--------

คำถาม[2]

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า

๑.นายสมิทมีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

๒.จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาการเข้ามาและการอยู่ในประเทศไทยของนายสมิท ? เพราะเหตุใด ?

๓.โดยผลของกฎหมายดังกล่าว นายสมิทมีคุณสมบัติที่จะร้องขออนุญาตเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

๔.หากนายสมิทได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย เขาจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้นานเพียงใด ? เพราะเหตุใด ?


------------

แนวคำตอบ

------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ขอให้คำตอบต่อคำถามดังต่อไปนี้

(๑)นายสมิทมีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยพิจารณาธรรมชาติของหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอานาจอธิปไตยของรัฐ เอกชนจึงอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใดรัฐหนึ่งได้ใน ๒ ช่วงเวลา กล่าวคือ ในขณะที่เกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ๒ สถานะ กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นที่เกิดของบุคคล และ (๒) รัฐเจ้าของสัญชาติหรือภูมิลำเนาของบิดาหรือของมารดา ต่อมา ภายหลังการเกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใน ๒ สถานะ กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติหรือภูมิลำเนาของบุคคลในครอบครัว และ (๒) รัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาของบุคคล

จากการพิจารณาข้อเท็จจริงของนายสมิท จะพบว่า นายสมิทไม่มีความสัมพันธ์อย่างแท้จริงกับประเทศไทยตั้งแต่เกิดทั้งโดยหลักดินแดนและหลักบุคคล ทั้งนี้ เพราะนายสมิทเกิดในประเทศอังกฤษจากบิดามารดาซึ่งมีสัญชาติอังกฤษ นอกจากนั้น ยังไม่ปรากฏว่า นายสมิทมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างใดอย่างหนึ่งกับประเทศไทยภายหลังการเกิดทั้งโดยหลักดินแดนและหลักบุคคล กล่าวคือ เขาไม่ปรากฏว่า เขามีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือครอบครัวของเขามีสัญชาติไทยหรือภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย

จะเห็นว่า การเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยย่อมไม่ก่อให้เกิดจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทย

(๒)จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาการเข้ามาและการอยู่ในประเทศไทยของนายสมิท ? เพราะเหตุใด ?

เนื่องจากปัญหาการเข้าเมืองและการอาศัยอยู่เป็นกรณีระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนและเอกชนที่ต้องการจะเข้ามาในดินแดนหรืออาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นกรณีตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กฎหมายที่มีผลกาหนดปัญหาดังกล่าวย่อมได้แก่ กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองไทยและการอาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีผลในขณะที่นายสมิทต้องการจะกล่าวอ้างสิทธินั้นๆ ซึ่งเมื่อปรากฏว่า นายสมิทประสงค์จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปัจจุบัน กฎหมายที่มีผลในปัจจุบันในเรื่องนี้ ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

(๓)โดยผลของกฎหมายดังกล่าว นายสมิทมีคุณสมบัติที่จะร้องขออนุญาตเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยผลของมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คนต่างด้าวโดยทั่วไปที่อาจได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองไทย ก็คือ บุคคลที่มีลักษณะ ๕ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) มีเอกสารพิสูจน์ตนออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคล (๒) รัฐเจ้าของดินแดนอนุญาตให้เข้าเมืองได้ (๓) ไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจ (๔) ไม่เป็นภาระทางสาธารณสุข และ (๕) ไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม ดังนั้น จะเห็นว่า นายสมิทมีหนังสือเดินทางที่ออกโดยทางการอังกฤษ ไม่มีลักษณะต้องห้ามใดเลย จะเห็นว่า เขามีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก ไม่มีประวัติอาชญากรรม ทั้งยังมีสุขภาพดีมาก จึงไม่อาจเป็นภาระทางเศรษฐกิจ หรือ ภาระทางสาธารณสุข หรือเป็นภัยต่อรัฐและสังคม

นอกจากนั้น ยังปรากฏว่า กระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบที่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาท่องเที่ยวไม่เกิน ๙๐ คน เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ต้องร้องขอการตรวจลงตราก่อนเข้ามาในประเทศไทย นักท่องเที่ยวสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จึงสรุปได้ว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนอนุญาตให้นายสมิทเข้าเมืองได้

(๔)หากนายสมิทได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย เขาจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้นานเพียงใด ? เพราะเหตุใด ?

โดยผลของมาตรา ๓๔ (๓) และ ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คนต่างด้าวที่ประสงค์จะมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอาจได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองไทยเพื่อการนี้ได้ภายในเวลาไม่เกิน ๙๐ วัน จึงสรุปได้ว่า นายสมิทมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน ๙๐ วัน


[1] ข้อเท็จจริงที่ปรุงแต่งขึ้น

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ เกริก ปีการศึกษา ๒๕๔๔ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

หมายเลขบันทึก: 579886เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท