เรียนรู้ข้าว-ฟังเรื่องเล่าจากชาวนา ปลูกสำนึกเยาวชน “รักษ์บ้านเกิด”


ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ เป็นโครงการย่อยที่สนับสนุนกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนโครงการฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา) ได้เข้าร่วมกิจกรรมในการเปิดบ้านดิน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทัศนคติ ได้เห็นคุณค่าของข้าว และความสำคัญของชาวนาว่า มีเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างไร เพราะกว่าจะได้ข้าวแต่ละเมล็ดให้ทุกคนได้ทานอิ่มท้องนั้นชาวนาต้องลำบากเพียงใด

นาแปลงหนึ่งที่บ้านกลาง ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ในวันนี้ กำลังงามได้ที่ ดอกข้าวเพิ่งผลิบาน อีกไม่กี่วันนับจากนี้ จะกลายเป็นรวงรอวันเก็บเกี่ยว

ข้างในนาแปลงนี้ เป็นผลงานของเด็กและเยาวชนชาย-หญิง กว่า 50 คน ที่ขะมักเขม้นช่วยกันปลูกด้วยความรู้สึกสนุกสนานและตื่นเต้น เพราะนี่คือการลงมือดำนาครั้งแรกในชีวิตของหลายๆ คน แม้ว่าบางคนพ่อแม่จะมีอาชีพทำนาแต่พวกเขาก็ไม่เคยที่จะทำเลยสักครั้ง

การทำนานี้เป็นหนึ่งในกิจกรรม ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ ของโครงการ “ฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา)”ซึ่งอยู่ในชุดโครงการสุขภาวะทางปัญญาของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ เป็นโครงการย่อยที่สนับสนุนกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนโครงการฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา) ได้เข้าร่วมกิจกรรมในการเปิดบ้านดิน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทัศนคติ ได้เห็นคุณค่าของข้าว และความสำคัญของชาวนาว่า มีเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างไร เพราะกว่าจะได้ข้าวแต่ละเมล็ดให้ทุกคนได้ทานอิ่มท้องนั้นชาวนาต้องลำบากเพียงใด

“เราจะพาให้น้องๆ ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจตนเอง สิ่งที่เขาอยู่และใช้ชีวิตร่วมกับข้าว มีอะไรที่เขาหลงลืมไปบ้าง สอนให้เขาได้รู้ถึงจิตวิญญาณของชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราคาดหวังให้เด็กรู้คุณค่า ไม่คาดหวังให้ทุกคนกลับไปทำนา แต่เขาจะได้เข้าใจความเหนื่อย ความลำบากเป็นมันเป็นยังไง บางคนพ่อแม่ทำอยู่ แต่ตัวเองไม่เคยทำเลยก็มี” ธนภัทร แสงหิรัญ หรือ “ตั้ม” ผู้รับผิดชอบโครงการ เน้นย้ำวัตถุประสงค์ของค่ายกิจกรรมครั้งนี้

นอกจากจะให้น้องๆ ได้ลงมือดำนาด้วยสองมือตัวเองแล้ว ยังมีกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักร่วมด้วย ซึ่ง ตั้ม บอกถึงกิจกรรมนี้ว่า “พ่อฮักแม่ฮัก” จะเป็นกิจกรรมที่ให้น้องๆ ไปใช้ชีวิตอยู่กับบ้านของชาวนา เสมือนไปเป็นลูกของบ้านนั้นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ น้องๆ จะได้รู้ว่าในหนึ่งวันคนที่เป็นชาวนาจะต้องทำอะไรบ้าง และต้องทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัวพ่อฮักแม่ฮักด้วย ชาวนาที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็จะต้องสอนลูกตัวเองด้วยเช่นกัน ท้ายสุดแล้วก็จะมาร่วมสรุปกันว่า ได้เรียนรู้อะไรกันบ้างจากมุมมองของชาวบ้าน และความคาดหวังกับอาชีพการทำนาต่อลูกหลานอย่างไรในอนาคต

ปัจจุบันอาชีพเกษตรกรรมถูกละเลยจากคนหนุ่มสาวที่มุ่งหน้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพราะไม่อยากเหนื่อยกับการทำไร่ ทำนา หรือทำสวน จนทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและปล่อยให้ผู้เฒ่าผู้แก่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปราชญ์แห่งเทือกเขาภูพาน อ.อากาศอำนวย บอกว่า ในวิถีชีวิตคนชนบทอาศัยอยู่กับดินกับน้ำมาตลอด คนมองว่าอาชีพทำนาลำบาก แต่ความจริงแล้วเป็นอาชีพที่ดี ถ้าไม่มีทำนา คนทั้งโลกก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีข้าวกิน ชาวนามีอิสระ ไม่มีอะไรหรือใครมากำหนดเช่นขายแรงงาน หากเราไม่ทำลายธรรมชาติ ฝนฟ้าอากาศก็ปกติ แต่ถ้าเราทำลายป่าก็จะทำให้มีปัญหาความแล้ง เกิดความแปรปรวน เกษตรกรต้องปลูกพืชหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง และปลูกทุกอย่าง ทำให้เกษตรกร ไม่รวย ไม่จน ไม่มีหนี้ เพราะปลูกเพื่อกินถ้าเหลือจึงจะเอามาขาย

“เราต้องสอนให้เด็กเห็นคุณค่า เอาที่ดิน เป็นกระดาน เอาจอบเป็นเสียมเป็นปากกา เอาน้ำฝนน้ำบ่อเป็นน้ำหมึก เอาพืชพันธุ์มาเป็นตัวพยัญชนะ ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่มีคำว่าจน และร่วมกันอนุรักษ์ท้องถิ่น ดิน น้ำป่า มีความสำคัญของทุกชีวิตบนโลก หากใครทำลายเท่ากับทำลายชีวิตตัวเอง หรือผู้อื่นด้วย” พ่อเล็ก กล่าว

ขณะที่ อนณ ชูประสูติหรือ แบงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวหลังร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้น ดีใจที่ได้มาลงมือทำนา ทำให้ได้รู้ว่าชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน ต้องลำบากเหนื่อยยากขนาดไหน พ่อแม่เขามีอาชีพทำสวนยางพารา จึงไม่รู้ว่าทำนากันอย่างไร วันนี้ได้ประสบการณ์ได้ลงพื้นที่จริง ได้รู้คุณค่าข้าวแต่ละเมล็ด

การทำนาหรืออาชีพเกษตรกร เป็นงานอิสระ เป็นนายตัวเอง ซึ่งหลจากนี้แล้ว แบงก์อยากไปทำค่ายเยาวชนเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวนา ที่นครศรีธรรมราช เพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นว่าการทำนา หรือเกษตรกรมันเหนื่อยยังไงและจะช่วยเหลืออย่างไร ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่เหนื่อย แต่ก็เป็นอาชีพที่มีข้อดีด้วยเช่นกัน

ส่วน กฤษติกาล ฮาบพนม หรือ น้องจุ๊บแจง นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา บอกว่า จะสานต่อและร่วมกิจกรรมบ่อยๆ จะไปบอกให้น้องๆ มาช่วยกิจกรรมแบบนี้ตลอดไป ได้ เพราะตัวเองก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะได้ทำนาเป็นครั้งแรก แม้ว่าพ่อแม่จะมีอาชีพทำนา เมื่อได้ลองทำดูก็อยากทำอีกเพราะมันเป็นวิถีชีวิต และอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนัก และช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

การเปิดโอกาสให้เยาวชน ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำ ย่อมทำให้พวกเขาซึมซับวิถีชีวิตชุมชนได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะกระตุ้นให้เกิดการสำนึกรักษ์และหวงแหนถิ่นเกิดของตัวเองได้ในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 579651เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2014 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2014 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความสุขอยู่ที่บ้านเรา...
....
เยี่ยมเลยครับกับวาทกรรมนี้

ส่งใจมาช่วย...doingfix...ดิน น้ำลมไฟ...ต้นไม้สัตว์..คน..เป็นเพื่อนร่วมโลก..บุบบี้ใบนี้...๕...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท