AAR การอบรมเรื่องทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอน โดย รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์


AAR รายวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

โดย นางสาวอุไรวรรณ ภูจ่าพล นักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่ 13 สาขาหลักสูตรและการสอน
รหัส 57D0103124 ระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ หมู่ 1 

ครูผู้สอน ผศ.รศ. อดิศร เนาวนนท์ 

วันที่ 31 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557 เรื่อง การอบรมเรื่องทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอน โดย รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์

1. ได้เรียนรู้อะไร 

หลังจากที่เข้ารับการอบรม ความรู้ที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้มีดังนี้
ลักษณะของครูไทยในยุคศตวรรษที่ 21 โดยการพัฒนาครูในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นการพัฒนาเพื่อให้ครูไทยมีทักษะ ของครูมืออาชีพควบคู่ไปกับการเป็นครูผู้มีจิตวิญญาณ มีคุณธรรมและจรรยาบรรณครู หรือที่เรียกว่าความเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม ลักษณะสำคัญอย่างยิ่งของครูยุคใหม่ คือ ครูต้องเป็นผู้ที่มีสมรรถนะด้านคอมพิวเตอร์ สมรรถนะด้านหลักสูตรและรายวิชา คือ ต้องมีความรู้เรื่องหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร มีความสามารถพัฒนาหลักสูตรระดับต่าง ๆ ได้ สมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอน คือ ความชำนาญในการใช้ความรู้ ความเข้าใจและทักษะที่มีอยู่อย่างชำนาญเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย รวมทั้งสื่อ และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ สมรรถนะด้านการประเมินผลการเรียนรู้สู่การทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน คือ หลังจากที่ครูใช้แผนการจัดการเรียนรู้ไปแล้วจะมีการเขียนบันทึกหลังแผน โดยมีเป้าหมายเพื่อพบปัญหาของเด็ก จุดอ่อนของเด็กเชิงประจักษ์ ซึ่งจะได้จากการประเมินผลการเรียนรู้รอบด้าน จากนั้นครูจะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ โดยจะหาแนวทางทั้งเสริมสร้างและแก้ไข จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ แล้วจัดทำเป็นวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวของผู้เรียน และสมรรถนะการจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวก คือ ความชำนาญในการใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ จัดการชั้นเรียนโดยการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางกายภาพและทางจิตใจ ประกอบด้วยคุณลักษณะหรือเจตคติทางบวกต่อการจัดชั้นเรียน การสร้างบรรยากาศทางกายภาพ คือ ห้องเรียนมีสีสันดูเหมาะสมสบายตา มีบรรยากาศความเป็นอิสระทางการเรียน ส่วนบรรยากาศทางจิตใจ คือ บรรยากาศความคุ้นเคยของผู้เรียนและผู้สอน ครูยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งการเขียนแผนการสอนที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
2. รู้แล้วคิดอย่างไร   คิดอะไรต่อ 

หลังจากการเข้ารับการอบรม ข้าพเจ้าคิดว่าในการอบรมครั้งนี้มีประโยชน์มากเพราะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง และได้ทราบนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ได้เรียนรู้ กลยุทธ์ เทคนิค วิธีการสอนต่าง ๆ ข้าพเจ้าคิดว่าครูผู้สอนไม่ใช่เป็นผู้มอบความรู้ผ่านการสอนให้กับนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ครูยังต้องเป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง นอกจากความรู้ในแต่ละสาขาวิชาแล้ว นักเรียนยังต้องมีทักษะที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม นั่นคือ การคิดวิเคราะห์เป็น รู้จักการแก้ไขปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์ 2.ทักษะชีวิตและอาชีพ โดยเน้นการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ มีทักษะทางสังคมและเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม และ 3.ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี กล่าวคือ ความสามารถในการใช้สื่อหรือเทคโนโลยีในการค้นหาข้อมูลรวมทั้งการผลิตสื่อ หรือเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ทั้ง 3 ทักษะนี้เรียกรวมกันเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นทักษะของกำลังคนที่ประเทศทั่วโลกและประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน มีความต้องการและให้การยอมรับ และจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ทำให้การจัดการเรียนการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยผู้สอนจึงต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย หากผู้สอนนำรูปแบบการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งไปใช้กับผู้เรียนทุกคนตลอดเวลา อาจทำให้ผู้เรียนบางคนเกิดอาการตายด้านทางสติปัญญา ผู้เรียนควรเป็นผู้กำหนดองค์ความรู้ของตนเอง ไม่ใช่นำความรู้ไปใส่และให้ผู้เรียนดำเนิน รอยตามผู้สอน โลกยุคใหม่ต้องการผู้เรียนซึ่งมีวินัย มีพฤติกรรมที่รู้จักยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม จะเรียนอะไรต้องเรียนให้รู้จริง ให้รู้ลึก รู้รอบ ไม่ใช่เรียนแบบงูๆ ปลาๆ ดังจะเห็นจากในอดีตว่ามีการบรรจุเนื้อหาไว้ในหลักสูตรมากเกินไป จนผู้เรียนไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร และสิ่งที่เรียนไปแล้วมีความสัมพันธ์อย่างไรเน้นทักษะ ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกิดกับผู้เรียน

3. จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตนโดย จะฝึกให้ตนเองกลายเป็นโค้ชของนักเรียนแทนที่การสอนแบบบรรยายเป็นส่วนใหญ่ ก็เปลี่ยนมาให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะ และเกิดความชำนาญ

หมายเลขบันทึก: 579514เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท