AAR การศึกษาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไส และโรงเรียนวนิษา


AAR ( After Action Review ) รายวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

โดย นางสาวอุไรวรรณ ภูจ่าพล นักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่ 13 สาขาหลักสูตรและการสอน 

รหัส 57D0103124 ผู้สอน ผศ.ดร. อิดศร เนาวนนท์ 

วันที่ 7-8 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557 เรื่อง การศึกษาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไส และโรงเรียนวนิษา

1. ได้เรียนรู้อะไรในวันนี้ 

จากการศึกษาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี จากที่ได้ไปศึกษาดูงาน ข้าพเจ้าพบว่า การจัดการเรียนการสอนของทางโรงเรียนจะยึดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 เหมือนกับโรงเรียนทั่ว ๆ ไป แต่จะมีรายวิชาเพิ่มเติมที่จัดให้กับนักเรียนคือ วิชา “คุฯค่าความเป็นมนุษย์” ส่วนแนวทางการสอนของโรงเรียนนี้จะแตกต่างจากโรงเรียนอื่นตรงที่จะเน้นที่ จิตใจ ของมนุษย์ โดยอาศัยหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ มีความรักความเมตตา ความจริงใจ ความประพฤติชอบ สันติ และอหิงสา คือไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ การให้นักเรียนเป็นคนดี ดังนั้นการออกแบบการศึกษาของโรงเรียนนี้จึงได้ออกแบบเพื่อฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ที่เต็มพร้อมทางด้านจิตใจและความรู้ เช่น ตอนเช้าจะให้นักเรียนทำสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ พร้อมทั้งมีการเล่านิทาน ปลูกฝั่งคุณธรรม จริยธรรม โดยที่นักเรียนไม่รู้ตัว จากนั้นก็จะมีการให้นักเรียนนั่งสมาธิเป็นเวลา 50 นาที เพื่อเป็นการเรียกสติให้กับนักเรียน แต่เสียดายที่คณะของข้าพเจ้าเดินทางไปไม่ทันเวลาที่นักเรียนทำกิจกรรมในตอนเช้า และในคาบเรียนแรกของทุก ๆ วัน นักเรียนจะได้เรียนวิชา คุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่วนในการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระตามหลกสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษา ฯ นั้น ครูก็มีบทบาทในการบูรณาการคุณค่าความเป็นมนุษย์เข้าไปผสมผสานในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยอาศัยการจัดการเรียนการสอนที่หลายรูปแบบ เช่น เปรียบเทียบ แก้บทเรียนด้านลบเป็นด้านบวก การตัดสินใจ และการระดมความคิด ในห้องเรียนบรรยากาศจะเต็มไปด้วยการเล่านิทาน เล่นเกม มีดนตรีประกอบเป็นระยะ ๆ และมีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นต้น และในช่วงคาบเรียนสุดท้าย ทุก ๆ วันศุกร์จะมีคาบเรียนที่เป็นการบูรณาการกลุ่มสาระวิชาในช่วงชั้นเดียวกัน ครั้งละ 2 ชั่วโมง ครูผู้สอนจะต้องมาประชุมกันเพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จัดเป็น ฐาน จัดกิจกรรมหมุนเวียนกันจนครบทุกฐาน และนักเรียนต้องสรุปว่าได้เรียนรู้อะไร เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม ความรักสามัคคี จากการศึกษาดูงานที่โรงเรียนวนิษา จังหวัดประทุมธานี จากที่ข้าพเจ้าได้ไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนวนิษา พบว่าทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมศักยภาพทางสมอง ( Brain-Compatible Learning ) หรือ การจัดการเรียนรู้ที่ใช้สมองเป้นฐาน ( BBL : Brain-based Learning ) มีการกำหนด theme ในการจัดกิจกรรมการสอนในแต่ละเทอม ซึ่งช่วงที่ข้าพเจ้าได้ไปศึกษาดูงานนั้นจะเป็น theme เหลียวหลัง ซึ่งครูและนักเรียนจะช่วยกันทำ Mind Map เกี่ยวกับ theme ที่กำหนดขึ้น โดยจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนที่ การเดนทางในแต่ละจังหวัด ตามความสนใจของผู้เรียน แล้วนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยจะใช้วิธีการบูรณาการในแต่ละวิชาให้มีความเชื่อมโยงกับ theme ที่กำหนดขึ้น และนอกจากนั้นครูยังออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในทุกรายวิชาให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝน ทำซ้ำเพื่อให้เกิดทักษะที่คล่องแคล่ว ใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนได้ตื่นเต้น นอกจากการทำแบบฝึกหัดในรูปแบบต่าง ๆ หรือดัดแปลงเป็นเกมที่สนุกท้าทายแล้ว นักเรียนยังได้นำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริง ด้วยเหตุนี้การมาโรงเรียนวนิษาในแต่ละวัน จึงมีสีสัน น่าสนใจ และน่าค้นคว้า เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักเรียน สดชื่น แจ่มใส สนใจใฝ่รู้ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ทางโรงเรียนได้หึความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณครูทุกคนจะให้เกียรติผู้เรียน ด้วยการใช้คำพูดเชิงบวก เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก และการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยทางอารมณ์ โรงเรียนวนิษาจะหึความสำคัญในทุกรายละเอียด เช่น การพูดกับนักเรียนในระนาบสายตาเดียวกัน เพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตนเอง คุณครูชื่นชมการทำงาน และผลงานทุกชิ้นของนักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน หากมีการวิจารณ์ต้องวิจารณ์ชิ้นงาน ไม่ใช่วิจารณ์ที่ตัวของนักเรียน และวิจารณ์ด้วยวิธีที่ผู้ฟังมีใจยินดีที่จะรับฟังคำวิจารณ์ การปฏิบัติเหล่านี้ ส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนวนิษามีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าของคนเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดี และมีความสุขในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต คุณครูทุกคนของโรงเรียนวนิษา ใช้เวลาในการวางแผนการเรียนรู้และดำเนินการสอนร่วมกันเป็นทีม เพื่อความชัดเจนว่า นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรมาแล้ว และจะต่อยอดประสบการณ์เดิมได้อย่างไรบ้าง

2. รู้แล้วคิดอย่างไร

คิดอะไรต่อ จากที่ได้ไปศึกษาดูงานจากโรงเรียนทั้งสองแห่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น โรงเรียนทั้งสองจะมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ส่วนสิ่งที่แตกต่างกัน คือ โรงเรียนสัตยาไส เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ เศรษฐกิจพอเพียง และมีการสวดมนต์ในทุก ๆ วัน ส่วนโรงเรียน วนิษาไม่มีการสวดมนต์ ชุดที่ใส่ไปเรียนจะเน้นที่ตัวผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งองค์ความรู้นั้นจะมาจากการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ นักเรียนทั้งสองโรงเรียนจึงมีความกล้าที่จะแสดงออก กล้าคิดกล้าทำ และสามารถอธิบายและถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีให้ผู้อื่นฟังได้ และสิ่งที่สำคัญ คือ ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั้งสองโรงเรียนอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะในรายวิชาที่เป็นรายวิชาหลัก ซึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจะทำให้นักเรียนเกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และเกิดความรู้ที่คงทนถาวร สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน 

3. จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างไร 

ข้าพเจ้าคิดว่าจะนำรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนของทั้งสองโรงเรียนที่ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานมานั้น นำกลับมาใช้กับโรงเรียนของตน ซึ่งจะนำมาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ คือจะเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ และเกิดเป้นความรู้ที่คงทนถาวร

คำสำคัญ (Tags): #สัตยาไส#วนิษา
หมายเลขบันทึก: 579513เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท