ว่าด้วยอำนาจคือความจริง


ว่าด้วยอำนาจคือความจริง

Michel Foucault : Power is Truth

บทวิเคราะห์ ว่าด้วยอำนาจคือความจริง


เป็นที่ถกเถียงหรือโต้แย้งกันว่า อะไรคือความจริง บางแนวคิดว่าความจริงขึ้นอยู่กับผู้มองเป็นอัตวิสัย บางคนบอกว่าความจริงนั้นอยู่ที่สิ่งที่เรามองเป็นปรวิสัย หรือบางคนบอกว่า บอกไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ความจริงนั้นแปรเปลี่ยนไปเรื่อย เป็นสัมพัทธนิยม

พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน[๑] ได้นิยามความหมายของคำว่า Truth ไว้ว่า “ความจริง” คุณสมบัติของข้อความที่มีลักษณะพิเศษที่ถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังที่ปรากฏในทฤษฎีความจริงที่สำคัญ ๓ ทฤษฎีต่อไปนี้

๑.ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย

๒.ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย

๓.ทฤษฎีความจริงแบบปฏิบัตินิยม


จากการให้ความหมายของราชบัณฑิตยสถานผู้เขียนเห็นว่าได้สะท้อนให้เห็น ความจริงนั้นยังไม่เป็นที่ตกลงกันอย่างแน่ชัดว่า “ความจริง”ที่เป็นความจริงนั้น เป็นอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ในพุทธศาสนานั้นได้กล่าวถึงความจริงไว้สองประการด้วยกันคือ สมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจ์ กล่าวคือ ความจริงนั้นมีอยู่อย่างแน่นอน มีอยู่ด้วยตัวมันเอง มีอยู่คู่กับโลก เป็นไปตามธรรมชาติ หากแต่มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนั้นด้วยตัวของมนุษย์เอง ความจริงดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่จำกัดไว้ด้วยภาษาของมนุษย์ หรือการสื่อสารให้เห็นด้วยวิธีการต่างๆ ได้อย่างสอดรับกับความเป็นจริงนั้น อย่างไรก็ตามแนวคิดของพุทธศาสนานั้นก็เป็นทัศนะหนึ่ง(Perspective) ที่ได้ให้ไว้ ซึ่งสามารถโต้แย้งได้


ในแง่คิดทางปรัชญา เป็นที่ยอมรับกันว่าปรัชญานั้นโต้แย้งกันเรื่อยมาในสองประการหนึ่ง คือความจริงเป็นสิ่งที่แยกออกจากผู้มองหรือสิ่งที่ถูกมองหรือไม่ หากแยกขาดจากกันจะมากน้อยเพียงใด หรือไม่แยกขาดออกจากกัน แล้วมันจะมีจุดเชื่อมต่อกันอย่างไรหรือไม่ ซึ่งเป็นการนำไปสู่ปัญหาการโต้แย้งในเรื่อง “กายกับจิต” สัมพันธ์กันอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ล้วนมีนักปรัชญาร่วมโต้แย้งและเสนอแนวคิดไว้มากมาย ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ท้าทายปัญญาของมนุษย์แต่อาจเป็นที่ตั้งคำถามได้เช่นกันว่า “มนุษย์จะใช้เวลาเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์กับเรื่องเช่นนี้ไปทำไม” ซึ่งเมื่อตั้งคำถามอย่างนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่าคำกล่าวนั้นเป็นทัศนะหนึ่งหรือมุมมองหนึ่งไม่ใช่ความจริงเช่นกัน แล้วอย่างไรที่เรียกว่า “ความจริง” ผู้เขียนคิดว่าความจริงนั้นคือปัญหาในการค้นหาความจริงนั้นๆ ซึ่งอาจมิใช่การค้นพบว่าความจริงเป็นเช่นไร ซึ่งเป็นมุมมองหนึ่งในเบื้องต้น แต่การจะโต้แย้งเรื่องความจริงเป็นเช่นไร ก็ล้วนจะต้องเชื่อไว้ก่อนว่า ความจริงนั้นมีอยู่ การมีอยู่ของความจริงนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่พ้นไปจากการมีอยู่ของผู้มองคือตัวของมนุษย์ แม้ว่าจะกล่าวว่าสิ่งนั้นๆ มีอยู่ แต่บรรยายไม่ได้แต่ว่ารู้สึกมันได้ อาจกล่าวได้ว่า “ความเชื่อ” เป็นเบื้องต้นในการค้นหา ส่วนจะนิยามความเชื่อว่าอย่างไรนั้นเป็นอีกประการหนึ่ง


อำนาจสัมพันธ์กับความจริงอย่างไร

อำนาจคือความจริง [Power is Truth ] หรือไม่ เบื้องต้นนี้ผู้เขียนคิดว่า ความจริงนั้นมีหลายระดับ แม้ทฤษฎีความจริงได้แสดงไว้ สามประการก็ตาม หากแต่ความจริงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ที่มนุษย์เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นเช่นไร แล้วก็นำมาใช้เพื่ออะไรจนกระทั่งนำไปสู่อำนาจ


ตัวความจริงผู้เขียนเห็นว่าแม้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หากแต่ยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนได้ จนกว่าจะถูกนำไปใช้ อย่างเช่น พระศาสดาในศาสนาต่างๆ ที่ทรงค้นพบความจริงหลายระดับ แต่เลือกที่จะนำมาใช้เพื่อนำมนุษย์สู่การหลุดพ้นจากทุกข์ของชีวิต หากแต่มนุษย์บางคนค้นพบความจริง ในอีกระดับหนึ่งอย่างนักวิทยาศาสตร์ค้นพบการตัดต่อพันธุกรรมหรือจีโนม เป็นต้น ก็ใช้ไปอีกเงื่อนไขหนึ่ง แม้แต่การค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถค้นพบได้ หากแต่ไม่เพียงเป็นความจริงที่จำกัดด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎี” แต่ยังนำไปสู่การแสดงให้เห็นที่เรียกว่า “การปฏิบัติ” จนก่อผลให้ประจักษ์เชิงอำนาจอำนาจจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความจริงได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่รู้ความจริงก็ใช้ความจริงนั้นเพื่อให้สู่การมีอำนาจเพื่อการครอบงำเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามอำนาจกับความจริงนั้นไม่สามารถแยกออกจากันอย่างเด็ดขาดให้แนวคิดของผู้เขียน หากแต่เป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขในตนเองหมายความว่า อำนาจนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่า อำนาจคืออะไร มีลักษณะอย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร เป็นเพียงแต่การถูกำหนดไว้ด้วยกรอบของสังคม ประเพณี วัฒนธรรม สังคมนั้น ที่ได้ยอมรับกันไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเงื่อนไขอะไรที่สังคมนั้นเชื่อและยึดตามกัน ว่าสิ่งดังนั้นนั้นเป็นอำนาจ อำนาจจึงเป็นสิ่งที่ติดพร้อมด้วยตัวของบุคคล หากปราศจากบุคคลก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าอำนาจเป็นเช่นไร กล่าวคือ อำนาจเป็นสิ่งที่ผูกติดไว้กับตัวตนของผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่ใช้อำนาจ ไม่มีใครที่ไม่มีอำนาจ มนุษย์ทุกคนมีอำนาจในตัวเอง และไม่เพียงแค่นั้นแต่ยังใช้อำนาจนั้นเพื่อครอบงำ หรือเพื่อการครอบครองสิ่งอื่น หรือผู้อื่นไปด้วย

Michel Foucault กับแนวคิดเรื่อง Power is Truth


ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ Foucault ต้องการนั้นคือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นความจริงมากกว่าอำนาจ ความจริงดังกล่าวของ Foucault นั้นคือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นชายขอบของความคิดที่มีการผลักให้ตกเป็นประเด็นตรงกันข้ามกับแนวคิดหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เพศที่สาม คนโรคจิต ประสาท หรือคนบ้า เป็นต้น หากแต่สิ่งที่ Foucault เน้นย้ำคือการที่แนวคิดชายขอบนั้นเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธด้วยผู้ที่มีอำนาจๆ ที่เชื่อว่ามีเพียงสิ่งที่เป็นสิ่งที่เป็นความจริงเพียงชุดเดียวเท่านั้นที่เป็นสากลที่คนส่วนใหญ่นั้นยอมรับ หรือให้เป็นสิ่งที่ Foucault เสนอนั้นเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆที่มีอำนาจในตนเอง อำนาจในตนเองเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ ไปได้ โดยมิถูกจำกัดไว้เพียงชุดหนึ่งของความคิดเท่านั้น การเสนอของผู้ที่มีอำนาจที่ผ่านมาในทุกสังคมจึงเป็นการบีบ ปกปิด ปิดบัง ทำลายหรือลดคุณค่าของสิ่งที่อำนาจตรงกันข้ามหรือมีอำนาจน้อยให้ตกไปจากสังคม กลายเป็นการแบ่งแยกสังคมออกเป็นสองบริบท อาจกล่าวได้ว่าเป็น “สองนครา” คนกลุ่มน้อยกับคนกลุ่มใหญ่ ที่จะยังมุ่งหาอำนาจของตน หรือเพื่อการแย่งชิงอำนาจในการสร้างความจริงของตนเองในบริบทที่กว้างมากยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพยายามสร้างวาทกรรมของตนเองเพื่อการครอบงำอำนาจฝ่ายตรงกันข้าม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์จึงกล่าวได้ว่า เป็นการแย่งชิงพื้นที่ของอำนาจเพื่อการสร้างวาทกรรมของแต่ละกลุ่ม เพื่อแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ที่เหนือกว่า การแบ่งแยกอำนาจออกจากความจริงจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ในแนวคิดของ Foucault อำนาจไม่เพียงทำให้เกิดความจริง แต่ความจริงนั้นสามารถทำให้เกิดอำนาจได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ถูกปกปิด มาอย่างยาวนาน เพราะอำนาจนั้นที่สัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจ ได้ใช้ไปเพื่อการสร้างความจริงของกลุ่มนั้นๆ เพื่อการรักษาอำนาจของตนเป็นสร้างความจริงอีกต่อหนึ่งเพื่อการครอบงำสิ่งที่ตรงกันข้าม


ความมีอยู่ของอำนาจกับการถูกใช้

ผู้เขียนยังเห็นว่า ประการแรกที่ต้องคำนึงถึงคือเบื้องต้นของอำนาจที่มีอยู่นั้นมีอยู่อย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นคือ อำนาจนั้นสัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจอยู่ก่อนแล้ว มนุษย์เกิดมาทุกคน เมื่อเป็นเด็กก็ถูกครอบงำไปด้วยพ่อแม่ ญาติพี่น้อง โตขึ้นมาเข้าโรงเรียน ทำการทำงาน อยู่ในสังคม กลุ่ม ชมรมหรือสมาคมใดๆ ไม่มีใครไม่ถูกครอบงำด้วยผู้ที่มีอำนาจ ผู้มีอำนาจในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงผู้ที่อำนาจในเชิงการเมือง การปกครองในรัฐเท่านั้น คำว่า “อำนาจ” จึงสัมพันธ์กับผู้ที่ใช้อำนาจแยกไม่ออกกันมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นผู้ใช้และถูกใช้ จะเด่นชัดมากน้อยเพียงไรนั้นอีกประการหนึ่ง


ประการที่สองคือ การแสวงหาอำนาจ จากการที่ตนเองนั้นเป็นถูกที่ถูกกระทำ หรือถูกกดขี่ ข่มเหง จึงจำเป็นต้องมีการแสวงหาอำนาจหรือความจริงเพื่อนำไปสู่การมีอำนาจที่สามารถลดความน่าเชื่อหรือสร้างอำนาจของตนครอบงำอำนาจหรือความจริงฝ่ายตรงกันข้าม อำนาจในประการที่สองจึงต้องเป็นอำนาจที่มุ่งเพื่อการสร้างอัตลักษณ์ที่เหนือกว่าไม่ได้เป็นไปตามสัญชาตญาณหรือสำนึก แต่เป็นไปเพื่อการครอบงำหรือครอบครองที่บ่งบอกให้เห็นถึงความเหนือกว่า ยิ่งใหญ่กว่า สูงส่งกว่า ดังที่ประเทศต่างๆ หรือประเทศใหญ่ๆ พยายามพัฒนาประเทศของตนให้ร่ำรวย มั่งคั่ง แม้จะทำลายหรือเอาเปรียบประเทศอื่นก็ตาม


ผู้เขียนจึงเห็นว่าอำนาจ คือความจริงนั้นเป็นอย่างเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจนั้นหากมีอยู่คู่กับผู้ที่หรือเกิดมาก็มีทันทีก็สามารถใช้อำนาจนั้นเพื่อสร้างความจริงไปได้ทันที หากแต่ผู้ที่ไม่ได้เกิดมาที่มีอำนาจที่เหนือกว่าก็ย่อมจะต้องสร้างความจริงหรือแสวงหาอำนาจเพื่อสถาปนาความจริง ตลอดยุคสมัยของประวัติศาสตร์จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นการแย่งชิงความจริงเพื่ออำนาจหรือการแสวงหาอำนาจเพื่อความจริงมาตลอด ซึ่งเมื่อใครหรือผู้ใดทำสำเร็จก็กลายเป็นผู้มีอำนาจ ความจริงที่เป็นสากล [Universal truth] จึงไม่ปรากฏให้มีได้ เป็นเพียงรสนิยมของความจริงของกลุ่มคนเท่านั้น เป็นการวัดความจริงเชิงปริมาณของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์อย่างเดียวกัน ไม่เป็นไปเพื่อการใดๆในการทำให้เกิดความจริงที่ยอมรับร่วมกัน แม้แต่แนวคิดของ Foucault ที่พยามยามยกประเด็นที่ถูกละเลยของกลุ่มคนบางประเภทให้ตกไปหรือจำกัดสิทธิ นั้นก็ยังเป็นการมุ่งชี้ให้เห็นถึงบริบทบางอย่างที่ขาดหายไปเพื่อให้กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีพิจารณาว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่มีอยู่อย่างเป็นจริงแม้จะไม่เป็นสิ่งที่ปรากฏได้อย่างเด่นชัดว่าเป็นรากฐานหรือสัมพันธ์กับอำนาจใหญ่อย่างไร แต่ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอำนาจหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล


ด้วยเมตตาธรรมค้ำจุนโลกา

””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อังกฤษ-ไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กทม: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๓),


หมายเลขบันทึก: 579023เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท