รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ส่งจดหมายมาบอกว่าในชุมชนชนบทมีข้อมูลมากมาย แต่ชาวบ้านใช้ไม่เป็น คือไม่มีวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล พร้อมทั้งส่ง ซีดี เรื่อง “พลังข้อมูล พลังชุมชน คนคูหาใต้”มาให้
ดูวีดิทัศน์ชุดนี้ใน YouTube แล้วเกิดความคิดหลายอย่าง รวมทั้งคิดในเชิงเปรียบกับที่ผมเพิ่งไปเห็นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๗ ว่าจุดแข็งของที่ ต. คูหาใต้ (อ. รัตภูมิ จ. สงขลา) คือชาวบ้านจัดทำระบบข้อมูล กันเอง และเป็นเจ้าของข้อมูล รวมทั้งเป็นผู้จัดการข้อมูลเองต่างจากที่สารภี ที่นักวิชาการเป็นเจ้าของและผู้จัดการข้อมูล
ผมมีโอกาสถาม ดร. สุธีระว่า กิจกรรมจัดการและใช้ข้อมูลที่ ต. คูหาใต้ ดำเนินการมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันหรือไม่ ท่านตอบว่า ดำเนินการต่อเนื่อง เพราะชาวบ้านคิดทำข้อมูลกันขึ้นเอง และเมื่อไปเห็นระบบข้อมูลที่โรงพยาบาลรัตภูมิ ก็ปิ๊งว่า หากปรับมาใช้เป็นระบบข้อมูลชุมชนก็น่าจะมีประโยชน์มาก นายแพทย์สุวิทย์ คงชูช่วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จึงเขียนโปรแกรมให้ตามความต้องการของคนในชุมชน
นี่คือตัวอย่างของชุมชนที่มีวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล
เป็นตัวอย่างที่ดีของข้อมูลชุมชน แต่แตกต่างจากของ อ. สารภี ที่ได้เล่าไปแล้ว
วิจารณ์ พานิช
๑๓ก.ย. ๕๗
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก