Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำนำหนังสือรวมบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย... ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๗


รวมบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย : คำนำ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ ๘ โดยโรงพิมพ์เดือนตุลา

เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗

------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับการพิมพ์หนังสือ “รวมบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย” ในครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๗ นี้ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่ทำในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ทั้งที่ก็มีแนวคิดที่จะเพิ่มคำพิพากษาของศาลปกครอง หรือกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนต่างด้าวอยู่ในสมอง แต่ในที่สุด ก็เลิกล้มความตั้งใจ ด้วยเหตุผลที่ว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะไม่หนามากไปกว่านี้ และควรจะมุ่งเป้าให้เป็น “เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลสำหรับนักศึกษากฎหมายในระดับปริญญาตรี” หรือ “เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่สนใจศึกษาประเด็นเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย” ดังนั้น จึงตัดสินในท้ายที่สุดที่จะคงรายละเอียดของรวมกฎหมายนี้ไว้ตามเดิม และตั้งใจที่จะทำรวมคำพิพากษาและความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าวเป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหาก

หนังสือรวมกฎหมายและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทยฉบับนี้ ยังมุ่งที่จะบอกกล่าวนักศึกษากฎหมายและผู้สนใจถึงกฎหมายและเอกสารสำคัญที่สำคัญ ๗ กลุ่มที่ควรรู้จักและใช้เป็น กล่าวคือ (๑) กฎหมายและเอกสารสำคัญที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและมนุษย์ (๒) บทบัญญัติแห่งกฎหมายและเอกสารสำคัญว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลธรรมดา (๓) กฎหมายและเอกสารสำคัญว่าด้วยสิทธิเข้ามาและอาศัยในประเทศไทยของคนต่างด้าว (๔) กฎหมายและเอกสารสำคัญที่กำหนดวิธีการบันทึกและเอกสารแสดงตนที่แสดงถึงการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์โดยรัฐไทย (๕) กฎหมายและเอกสารสำคัญที่กำหนดเงื่อนไขในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวในประเทศไทย (๖) กฎหมายและเอกสารสำคัญที่รัฐไทยใช้ในการรับรองสิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าวเหนือทรัพย์สินในประเทศไทย และ (๗) กฎหมายและเอกสารสำคัญที่รัฐไทยใช้ในการกำหนดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ

สำหรับผู้รวบรวมแล้ว คนต่างด้าวก็คือ “มนุษย์” เช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในลักษณะเดียวกันและเท่าเทียมกัน ดังนั้น พวกเขาก็ควรจะได้รับการยอมรับให้มีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน พวกเขาอาจจะถูกเลือกปฏิบัติได้บ้างก็เพียงในส่วนที่มิใช่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และในส่วนที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Contribution) ของประเทศไทย แต่หากพวกเขาได้มีส่วนในการร่วมรับผิดชอบสังคมไทย อาทิ จ่ายภาษีอากรด้วยแล้ว พวกเขาก็ควรได้รับการสนองตอบด้วยสวัสดิการสังคมอันเป็นธรรมด้วยเช่นกัน และในยุคที่ประชาคมอาเซียนมาถึง การจัดการสิทธิของประชาชนอาเซียนก็ควรเป็นไปบนพื้นที่ของกฎบัตรอาเซียนและปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/ค.ศ.๒๕๕๕ อีกด้วย

ในวินาทีที่เราคิดถึง “คนต่างด้าว” ผู้รวบรวมอยากที่จะเตือนผู้อ่านว่า มนุษย์ที่เราคิดว่า พวกเขาเป็นคนต่างด้าวเพราะพวกเขาไม่ถือ “บัตรประชาชน” ซึ่งแสดงว่า พวกเขาเป็นคนสัญชาติไทย นั้น อาจจะมีหลายคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยก็ได้ พวกเขาอาจเป็นเพียง “คนที่ถูกถือเป็นคนต่างด้าว” ซึ่งผู้รวบรวมใคร่ขอยกกรณีตัวอย่างจากกรณีศึกษา “ลุงตู่” หรือนายชาญ สุจินดา ซึ่งเป็นงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในช่วง พ.ศ.๒๕๕๕

“ลุงตู่” ซึ่งเกิดในชุมชนนางเลิ้งใน พ.ศ.๒๔๘๔ จากแม่ผิว และพ่อป่วน ซึ่งเป็นดั้งเดิมของชุมชนนางเลิ้ง แต่ลุงตู่กลับถูกถือเป็นคนต่างด้าวจนกระทั่งวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประสบผลสำเร็จจนสามารถนำลุงตู่กลับมาถือบัตรประชาชนที่แสดงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด เราคงสรุปได้ว่า ลุงตู่ถูกถือเป็นคนต่างด้าวมากว่า ๗๒ ปี ทั้งที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน

ดังนั้น ผู้รวบรวมจึงอยากให้เราทั้งหลายมองคนต่างด้าวในสถานะของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และตระหนักเสมอว่า ในคนต่างด้าวคนหนึ่ง อาจจะมีคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยที่โชคร้าย ด้วยการไม่อาจพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยที่มีอยู่ จึงถูกถือเป็นคนต่างด้าว

แม้ในหลายประเด็นที่ปรากฏในกฎหมายไทยจะไม่ได้เอื้อความยุติธรรมต่อคนต่างด้าวและคนที่ถูกถือเสมือนคนต่างด้าว การเรียนรู้กฎหมายเหล่านี้ ก็จะทำให้เราเห็นช่องทางที่จะปรับกฎหมายนี้ให้เปิดพื้นที่ที่เป็นธรรมมากที่สุดแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว และเมื่อโอกาสที่จะปฏิรูปกฎหมายปรากฏขึ้นมา เราก็จะได้ร่วมงานปฏิรูปนี้ด้วยกัน เราน่าจะมาตั้งความหวังให้กฎหมายไทยได้รับการปฏิรูปจนถึงระดับที่จะสร้างความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ทุกคนบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวก็ตาม

ในท้ายที่สุด ขอกราบขอบพระคุณพี่สถาพรที่ผลักดันหนังสือกฎหมายดีเพื่อสร้างความยุติธรรมในประเทศไทยเสมอมา และขอขอบคุณคุณปฐมพงษ์ แก้วดี ซึ่งเป็นผู้ช่วยในการทำหนังสือรวมกฎหมายฉบับนี้   นอกจากนั้น ก็ไม่ลืมที่จะขอขอบคุณคุณเล็กที่ออกแบบปกหนังสือให้เสมอมา

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕

บ้านที่พุทธมณฑล

หมายเลขบันทึก: 579012เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2014 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท