ก็ในเมื่อมีสัมมาวายามะคือการพยายามดับอกุศลวิตกแล้ว ทำไมต้องมีสัมมาสังกัปปะอีก


เวลาที่เราเกิดความรู้สึกทุกข์ใจด้วยอาการต่างๆ เช่น อึดอัดเพราะได้อารมณ์ที่ไม่ดี (โทมนัส), คับแค้นใจ (อุปายาส), แห้งใจ (โสกะ) เพราะเรื่องอะไรสักอย่าง เรามีทางเลือกอยู่สองทาง คือ หลงใหล และ ใคร่หาทางออก

ซึ่งเราจะเลือกทางใด ก็ขึ้นอยู่กับความเคยชินของการตัดสินใจ, ความยึด, ความอยากยึด, ความรู้, ความตั้งมั่นของจิต, ปัญญา และ ความเพียร ฯลฯ

หากเราเคยชินที่จะไหลไปตามความอยาก เราก็จะยอมรับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นไว้ ยึดเรื่องราวนั้นๆไว้ในใจ ได้ทุกข์เพราะความคิด การกระทำทางกาย วาจา ไปต่างๆด้วย ความไม่รู้

หรือ แม้จะรู้ว่าไม่ควรยึดเพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่ก็ยังอยากยึดเพราะ การพิจารณาที่ยังไม่ถ้วนทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังการเห็นโทษที่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาทั้งคุณ โทษ ทางออก จนวางใจเป็นกลางกับเรื่องนั้นๆ การเห็นผิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ว่าเป็นความสุข คือเห็นคุณของการได้เสพสุขเวทนาจากการคิดไปตามใจอยากทั้งๆที่สิ่งที่คิดไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบันและการจดจำการคิดนั้นว่าเป็นสุข ด้วยไม่รู้ว่าทั้งการคิด ทำ พูด เพื่อเสพ การเสพ และการจดจำสิ่งต่างๆเหล่านั้นจะนำทุกข์ที่ยิ่งขึ้นมาให้ จึงอยากยึดเรื่องนั้นไว้ด้ว ความรู้ไม่ทั่ว

เราจึง “หลงใหลในทุกข์”เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้ ความรู้ไม่ทั่ว นี้ และความที่ปัญญามาไม่ทันสถานการณ์ เราจึงปล่อยใจให้ไหลไปตามความคิดจนยากที่จะหยุดความคิดนั้นๆได้ หรือแม้จะรู้ตัวขึ้นมาว่ากำลังปล่อยใจให้ไหลตามความอยาก ก็ยังยากที่จะห้ามใจ ไม่สามารถหยุดคิด พูด ทำไปตามใจเพราะความที่จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น มีกำลังใจมากพอที่จะละไปจากเรื่องนั้นๆได้

จนกว่าเราจะได้ไตร่ตรองตามธรรมที่ได้ทรงจำไว้ (โยนิโสมนสิการ อันเป็นบุพพนิมิตแห่งมรรค) จนเห็นตรงตามความเป็นจริง (สัมมาทิฏฐิ) เห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นเป็นสุข เห็นเรื่องนั้นๆและสิ่งที่เกี่ยวข้องกันเป็นทุกข์ คือตั้งอยู่ได้เพียงชั่วขณะ เห็นว่าทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็ดับ เห็นว่าเรื่องราวในความเป็นจริงนั้นดับไปแล้ว แต่ที่เรื่องนั้นยังตั้งอยู่ในใจเราราวกับไม่เคยจากไปไหนก็เพราะการยึดไว้ด้วยความพึงพอใจบ้าง ด้วยความขัดเคืองบ้าง ด้วยการไม่เห็นการเกิดและดับบ้าง ด้วยการยอมให้กิเลสครอบงำจิตจนคิดเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง

จึงดำริที่จะออกจากทุกข์เพราะการเบียดเบียนนั้นๆ (สัมมาสังกัปปะ - ดำริที่จะออกจากกาม,ดำริออกจากความเบียดเบียน,ดำริออกจากความพยาบาท)

ผลของการเห็นตรงสภาวะและการดำริดังกล่าว จึงทำให้ได้ไตร่ตรองจน รู้ หน้าที่หรือ กิจ ที่ต้องทำในเรื่องต่างๆคือ

รู้ด้วยการกำหนดว่าสิ่งที่ประสบเฉพาะหน้าใดบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาจนเห็นทั่วทั้งคุณ โทษ ทางออก จนวางใจเป็นกลางได้

รู้ว่าควรละเหตุที่ทำให้ตนเบียดเบียนตนให้ได้ทุกข์ พาตนให้ตกต่ำ ซ้ำยังเป็นเหตุให้ตนเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย วาจาต่างๆ เช่น การคิดไปตามใจอยากอันเป็นเหตุให้ตนหม่นหมอง รุ่มร้อนอยู่ในใจ, การเสพสุขเวทนาที่ได้จากการคิดอันเป็นเหตุให้โลกในความคิดต่างจากโลกในความจริง จนวันหนึ่งตนต้องทนทุกข์เพราะทนรับความจริงไม่ได้ อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันไม่ได้, การสอดส่ายสายตา หู เพื่อรับรู้เรื่องราวอันนำมาสู่การปรุงแต่งไปตามใจอยากอันยิ่งทำให้อกุศลวิตกจรเข้ามาได้บ่อยยิ่งขึ้น ฯลฯ

รู้ว่าควรหาวิธีที่จะละความยึดมั่น ความคิดนั้นๆ ทำให้ไม่มี ทำให้เกิดขึ้นใหม่อีกไม่ได้

เมื่อรู้ว่าต้องทำอะไร หรือ ไม่ทำอะไร เพื่อนำไปสู่ความดับแล้ว ก็ลงมือทำอย่างจริงจัง เช่น

การเตรียมจิตให้พร้อม ให้มีกำลังเพื่อสามารถละไปจากอารมณ์นั้นได้ และ เพื่อให้สามารถรู้เห็นตามที่เป็นจริง ด้วยการฝึกสมาธิ (สัมมาสมาธิ)

สำรวมกาย ตั้งสติติดตามสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อป้องกันการฟุ้งซ่าน รวมไปถึงการพิจารณาหาแง่มุมต่างๆของเรื่องนั้นและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นที่จรเข้ามา หรือเมื่อประสบเฉพาะหน้า เพื่อสามารถวางใจเป็นกลางได้ (สัมมาสติ)

ละจากอารมณ์นั้นเมื่อมีสติ รู้ตัวว่ากำลังถูกอารมณ์นั้นๆครอบงำอยู่ด้วยอุบายต่างๆ (สัมมาวายามะ)

พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เคยถามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ราวกับจะตั้งข้อสังเกตว่าสัมมาวายามะ ต่างจากสัมมาสังกัปปะอย่างไร โดยท่านถามพระอาจารย์มั่นว่า สัมมาวายามะนั้นคือการละอกุศลวิตกแล้ว ทำไมต้องมีสัมมาสังกัปปะอีก

พระอาจารย์มั่นตอบว่า

“ต่างกัน เพราะ สมฺมาวายาโม นั้น เป็นแต่เปลี่ยนอารมณ์ เช่น จิตฟุ้งซ่าน หรือ เป็นอกุศลก็เลิกนึกถึงเรื่องเก่าเสีย มามีสติระลึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล จึงสงเคราะห์เข้าในกองสมาธิ ส่วน สมฺมาสงฺกปฺโป มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษของกาม เห็นอานิสงส์ของเนกขัมมะ จึงได้คิดออกจากกามด้วยอาการที่เห็นโทษ หรือเห็นโทษของพยาบาทวิหิงสา เห็นอานิสงส์ของเมตตากรุณา จึงได้คิดละพยาบาทวิหิงสา การเห็นโทษและเห็นอานิสงส์นี้แหละ จึงผิดกับ สมฺมาวายาโม ท่านจึงสงเคราะห์เข้ากองปัญญา”

เมื่อเพียรอย่างไม่ถอยหลังในการสร้างเหตุคือการกระทำ แต่ไม่หวังผลคือความสำเร็จอันอาจก่อให้เกิดทุกข์ใหม่ซ้ำซ้อนขึ้นมา ฯลฯ ในที่สุดก็จะรู้ ว่า งานใดได้ทำแล้ว งานใดกำลังทำอยู่ และ ยังไม่ได้เริ่มทำเพื่อนำไปสู่ความดับ

สิ่งที่จะทำให้รู้ได้ว่ากิจอะไรควรทำ หรือกิจใดได้ทำแล้ว ก็คือการได้อารมณ์นั้นๆเฉพาะหน้าโดยบังเอิญ หรือ เมื่ออารมณ์นั้นๆจรมาสู่ใจ หรือ การน้อมนึกถึงเรื่องนั้นๆขึ้นมาในยามที่จิตเป็นสมาธินั่นเอง

หากพบว่าความรู้สึกทุกข์ค่อยๆลดน้อยลง ก็แสดงว่าความยึดมั่นค่อยๆน้อยลงแล้ว จนวันใดที่ได้อารมณ์นั้นๆแล้วไม่เดือดร้อน ไม่สะดุ้ง ไม่กลับมาสะดุ้ง ก็แสดงว่าได้พบภาวะที่ไร้ทุกข์ในเพราะเรื่องนั้นแล้ว (นิโรธ)

ส่วนใหญ่ เราไม่ทันได้เห็นว่าเราพบภาวะที่ไร้ทุกข์เพราะสมุทัยนั้นแล้ว ไม่ทุกข์เพราะเรื่องนั้นแล้ว มักเป็นเพียงรู้ว่าเรื่องนั้นๆจรเข้ามาแล้วก็จรจากไป ไม่สะดุ้งหวั่นไหว จิตเสมอราบเรียบเหมือนจิตในขณะที่เรื่องนั้นยังไม่จรเข้ามา

มักมารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อได้หยิบเหตุการณ์นั้น และภาวะที่จิตเสมอนั้น มาพิจารณาซ้ำ หรือ เกิดสะดุดใจว่า อารมณ์ที่เคยทำให้หวั่นไหวที่เพิ่งผ่านไป ไม่ทำให้ตนหวั่นไหวได้ หลังจากที่ได้อารมณ์นั้นอีกในครั้งต่อมา

จึงได้รู้ว่าตนพ้นจากทุกข์เพราะเรื่องนั้นๆมาครั้งหนึ่งแล้ว เหตุแห่งทุกข์ในครั้งนั้นได้ละไปแล้ว

ความเพียรปฏิบัติตามองค์มรรคเท่านั้นค่ะ ที่จะทำให้ได้พบภาวะไร้ทุกข์เพราะอารมณ์ได้ แต่ ถึงแม้จะพ้นทุกข์ได้แล้วเรื่องหนึ่งก็ไม่พึงวางใจ

เพราะยังมีเรื่อง ให้ค้นหา ให้หยิบมาพิจารณา อีกหลายต่อหลายเรื่อง

ดังที่พระสังฆราชทรงเคยบรรยายว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะรีบหมดกิเลส รีบนิพพาน

จนล่าช้าในการปฏิบัติ

พระองค์ตรัส

ว่า เป็นเพราะ เรา

“มีกิเลสมากดังภูเขา” ... นั่นเองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 578909เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2014 05:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2014 05:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"มาชวน " ยายธี..อยากบวชอีกครั้ง..กับหลวงแม่..สิ้นปีนี้..เท่าที่ทราบมา...วันที่๕ถึง๑๔ธค...แต่ยังไม่แน่ใจ..เราเคยพบกันครั้งหนึ่งใช่ไหม..เจ้าคะ..ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี...ยายธีจะถึงเมืองไทย..๒๕..พย.นี้..เจ้าค่ะ...

ขออนุโมทนากับคุณยายธีก่อนค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท