“ครูเพื่อศิษย์” ชวนกัน คิด สร้าง ทำ (๒)


ในโรงเรียนทางเลือกปัญหาเรื่องครูออกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นธรรมดา หากเราคิดว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เราจะรับรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่รบกวนเรา แต่หากเราตั้งรับกับปัญหานี้เอาไว้ไว้ตั้งแต่ต้น รู้ล่วงหน้าว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ปกติที่จะต้องเกิดขึ้น เราก็จะไม่แตกตื่น

โรงเรียนทอสีกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของโรงเรียน


รอบนี้ คุณครูประไพ หัวหน้าฝ่ายวิชาชีวิตครูและ คุณครูแหม่ม – อาภาภัทร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี มานำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกลับไปทบทวนการทำงานที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานโรงเรียนจากกลุ่มกัลยาณมิตรในวง PLC นี้


การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น


  • โรงเรียนได้เปลี่ยนจากโรงเรียนวิถีพุทธ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาเป็น การศึกษาพุทธปัญญาซึ่งหมายถึงการศึกษาเริ่มต้นจากตนเอง ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง นำไปสู่การเข้าใจผู้อื่นและสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี เป็นที่พึ่งแก่ตนเองและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้
  • ปรับการบริหารจัดการให้เป็นการกระจายอำนาจมากขึ้น
  • ปรับโครงสร้างการทำงานมาเป็นการดูแลแบบช่วงชั้นอย่างเต็มรูปแบบ ช่วงชั้น ๑ ดูแล ป.๑ - ๓ ช่วงชั้น ๒ ดูแล ป. ๔ - ๖ ซึ่งแนวคิดเรื่องการจัดแบ่งเป็นช่วงชั้นนี้ได้มาจากประสลการณ์การทำงานของโรงเรียนเพลินพัฒนา
  • จัดครูเป็นสองกลุ่ม คือ ครูประจำชั้น และครูกลุ่มสาระ เพื่อให้ครูมีขอบเขตการทำงานที่คมชัดมากขึ้น ซึ่งแนวคิดเรื่องการจัดครูออกเป็น ๒ กลุ่มนี้ก็ได้มาจากประสบการณ์ของโรงเรียนเพลินพัฒนาเช่นเดียวกัน


การทำงานของครู


ก่อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ ครูทุกคนมีภาระงานมากมาย เพราะต้องรับผิดชอบหน้างานหลากหลาย ทั้งการพัฒนาชีวิต และการพัฒนาสาระวิชาจนไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่


หลังการปรับโครงสร้างใหม่ จัดครูเป็นสองกลุ่ม คือ ครูประจำชั้น และครูกลุ่มสาระ โดยให้


ครูประจำชั้น สอนวิชาชีวิต เช่น แนะแนว ชมรม และดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ ในการสร้างพฤติกรรมคุ้นเคยที่ดีงาม กติกา วิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกัน ครูประจำชั้นจึงต้องมาจากกลุ่มครูที่มีประสบการณ์มีความเข้าใจเด็กจริงๆ เพราะการพัฒนาชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ ครูต้องพาคิด พาทำกิจกรรมทำให้นักเรียนเรียนได้อดทนและพยายาม ซึ่งภารกิจหลักของครูประจำชั้น คือ การเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ดีงาม พัฒนานักเรียน ให้คำปรึกษานักเรียน สอนวิชาทักษะชีวิต ชมรม แนะแนว ประชุมกับผู้ปกครอง และการพัฒนาหลักสูตรวิถีชีวิต


งานครูกลุ่มสาระ จัดการเรียนการสอนทำเอกสารการสอน จัดกิจกรรมต่างๆ และประชุมผู้ปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านสาระวิชา มีคาบสอนไม่เกิน ๑๐ คาบ / สัปดาห์ เน้นการเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง และการพัฒนาชีวิตให้งอกงามเป็นหลัก ถ้าครูผู้สอนเชื่อมโยงให้เด็กเข้าใจไม่ได้ว่าเรื่องที่เรียนมีความสัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร เด็กก็ไม่อยากรู้ไม่อยากเรียน หรือบางครั้งปฏิเสธเลย


การประเมินผลด้วยการสอบถาม พบว่าครูประจำชั้นยังเหนื่อยเหมือนเดิม แต่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ส่วนครูสาระก็มีเวลาคิดออกแบบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กมากขึ้น หัวหน้าสาระมีโอกาสพูดคุย และดูแลความก้าวหน้าของครูในทีมได้มากขึ้น เมื่อทุกคนมีเวลาลงรายละเอียดกับงานของตัวเองมากขึ้น ก็สามารถพาเด็กไปในจุดที่ดีขึ้นได้


คุณครูปาด – ศีลวัต กล่าวเสริมว่าการที่ครูเห็นรายละเอียดของงานมากขึ้นเป็นสัญญาณที่ดี ในขั้นต่อไปเขาจะพัฒนางานได้เอง


แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

คุณครูแหม่ม – อาภาภัทร อยากขอให้วงช่วยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าแต่ละโรงทำอย่างไรเมื่อขาดครู


คุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ เวลาที่มีครูขาด และต้องให้ครูที่เป็นหัวหน้าเข้าไปสอนแทน ต้องเข้าไปเพื่อให้ได้โครงสร้าง แผน สื่อ และทรัพยากรทุกอย่างที่จะช่วยครูใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาสอนต่อจากเราได้มีหลักยึดเอาไปสานงานต่อ ข้อมูลเหล่านี้ต้องถูกแชร์ในระบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ ดูได้ตลอดเวลา และต้องหาคนใหม่ที่กล้าทำงานหนัก สู้ พร้อมเรียนรู้ เราต้องได้อะไรที่เป็นรูปธรรมเก็บไว้ในระบบก่อนจะกลับออกไป แม้จะไม่ดีสมบูรณ์ที่สุด และควรวางแผนว่างานเดิมที่รับอยู่จะให้ใครเข้ามาช่วยดูแลในส่วนใดได้บ้าง


คุณครูอ้อ – ชัชฎาภรณ์ เวลาที่ได้เข้าไปสอนแทน ทำให้เราได้รู้ว่ายังมีอะไรที่ไม่ตรงเป้าหรือไม่เมื่อลงไปดูหน้างานจริง เมื่อมีทีม แผนชัด ทำบทบาทตัวเองให้เต็มที่ มีเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็จะไม่มีใครตำหนิกันเลย ทุกคนพร้อมจะช่วยกัน เพราะรับรู้สถานการณ์มาด้วยกัน


คุณครูเต้ย – โกเมน วิธีการคือ ไม่ได้เข้านิเทศแต่เข้าไปช่วยสอนและทำให้ดู รับรู้สภาพปัญหา ความเคลื่อนไหวในห้องจริงๆ การมองจากแผนและช่วยแนะนำจะไม่รู้จริง เมื่อได้ลงสอนก็จะได้รู้จริง


คุณครูต้อย – สุวรรณา ปัญหาเรื่องครูขาดเป็นปัญหาที่จะต้องเจอตลอดไป เป็นประสบการณ์ที่ต้องหาช่องทางของตัวเอง ทุกครั้งที่มีปัญหาเราจะเรียนรู้เร็วขึ้น เข้าใจในความยากของครูได้มากขึ้น และข้อมูลที่เรามีมากขึ้นนั้นก็จะนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยครูทำแผน นิเทศก์ได้


คุณครูปาด – ศีลวัต เวลาลูกเรือตกน้ำ คนขับเรือจะทำอะไร บ่อยครั้งก็อยากจะวางมือจากพังงาเรือเพื่อกระโดดลงไปช่วยลูกเรือ ขอยืนยันจากประสบการณ์ว่า ในโรงเรียนทางเลือกปัญหาเรื่องครูออกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นธรรมดา หากเราคิดว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เราจะรับรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่รบกวนเรา  แต่หากเราตั้งรับกับปัญหานี้เอาไว้ไว้ตั้งแต่ต้น รู้ล่วงหน้าว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ปกติที่จะต้องเกิดขึ้น เราก็จะไม่แตกตื่น แรงตึงจากการที่ลูกเรือจมน้ำ การช่วยเหลือลูกเรือในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นกระทบถึงถึงมือคนขับอยู่แล้ว แต่ไม่ควรถึงเป็นคนแรก ควรจะเป็นลูกเรือคนอื่นๆ ก่อน


โจทย์ของคนที่เป็นหัวหน้า คือ

  • พิจารณาว่างานไหนตัดได้บ้าง เพื่อลดภาระงานเขาชั่วคราว
  • ถ้าตัดไม่ได้ สามารถเชื่อมโยง ควบ โยกย้ายปรับเข้าหากันได้ไหม
  • คนที่เข้าไปช่วยสอนแทนอัตราที่ขาด อาจไม่ใช่คนเดิมตลอดทั้งปี แต่อาจจะหาคนอื่นไปหมุนเวียนเพื่อให้เขาออกมาพักได้


คุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ ที่เพลินพัฒนามีวงแลกเปลี่ยนของครูแกนนำช่วงชั้นที่ทำให้ทีมมีการช่วยเหลือประคับประคองกันอยู่ตลอดเวลา


คุณครูรัตน์ – เนาวรัตน์ คนที่เป็นหัวหน้าถ้าไปลงห้องแบบใจที่มีความเป็นผู้รับ เราจะได้เห็นธรรมชาติของเด็ก ของครูแต่ละคนอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ต่อเมื่อเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย


คุณครูแหม่ม – อาภาภัทร ได้กำลังใจและคนลงเรือลำเดียวกันเพิ่ม เราให้ความสำคัญของวิชาชีวิตของเด็ก สิ่งที่งอกงามคือการพัฒนาวิชาชีวิตเด็ก จากการปรับโครงสร้างงานครูประจำชั้นของครูในครั้งนี้ เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง


คุณครูปาด – ศีลวัต แม้ปัญหาเรื่องครูออกจะเป็นเรื่องปกติ แต่เราทำให้เบาบางได้ ด้วยการจัดเก็บ สื่อ แผนการสอน และทรัพยากรในการเรียนรู้ให้เป็นระบบ เพราะจะช่วยให้คนใหม่ใช้เวลาในการเรียนรู้งานได้เร็วขึ้น


คุณครูน้อย – จันทนา โรงเรียนเพลินพัฒนามีสภาครอบครัว ที่ได้ริเริ่มให้มีโครงการผู้ปกครองอาสา เวลาที่ครูอนุบาลขาด ผู้ปกครองอาสาก็จะเป็นกำลังเสริมในการเข้าช่วยครูได้

คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองอาสา คือ

  • มีความเป็นแม่
  • พร้อมช่วยเหลือครู
  • ต้องไปในทิศทางเดียวกันกับโรงเรียน และ ครู

เมื่อไหร่ที่ขาดครูจะมีผู้ปกครองอาสามาช่วยสอนแทนครู จะมาเห็นบรรยากาศ เห็นหน้างาน วิถีชีวิตครู จะลดอคติต่อครูและสภาจะกำหนดตัวแทนห้องเรียน ๒ คน/ห้อง มาประชุม สส. จะร่วมดูพื้นที่ในการออกภาคสนามและเข้าร่วมบ้าง ฝากเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ต้องเปิดครูของเราด้วย เมื่อทำมาเรื่อยๆก็เกิดผลดีต่อครูและผู้ปกครอง ได้เลี้ยงลูกไปด้วยกัน และได้มุมมองที่หลากหลาย


คุณแม่บี๋ – สิติมา ตอนที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ปกครองอาสา จะมีความกังวลมาก ถ้าเราไม่อยู่สามีจะแอบไปดูลูกทุกวัน โทรหาเราทุกวัน เมื่อมีดครงการผู้ปกครองอาสาก็ได้ลองมาทำดู คุณครูห้องที่เข้าไปช่วยได้สอนอะไรให้เราหลายอย่าง ทำให้สามารถกลับไปบอกวิธีการ ไปต่อยอดกับลูกที่บ้านได้ ทำให้ลูกซึ่งแต่เดิมขี้กังวลเหมือนเราดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น วันนี้ได้มาฟังเรื่องราวจากทุกโรงเรียน ก็ทำให้คลายความสงสัยในโรงเรียนเพลินพัฒนา เพราะได้มารับรู้ว่าปัญหานี้ที่โรงเรียนอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกัน

หมายเลขบันทึก: 578446เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2014 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท