nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ขนมขี้มอด


         จากบันทึกเรื่อง “ขนมโบ๊ะ??? - ขนมโบราณเมืองจันท์” ที่ไปเจอที่เมืองจันท์หลายปีก่อนตอนที่ลูกชายไปทำงานที่โน่น ทำให้คิดถึงขนมโบราณ “ตระกูลขี้” คือ “ขี้มัน – ขี้มอด – ขี้หนู” เขียนบันทึกเรื่อง “ขนมขี้มัน” ไปแล้ว

          มีคนเขียนมาถามเรื่องวิธีทำขนมขี้มัน ซึ่งได้เขียนไปแล้ว (ว่าจะทำกินเอง แต่ขี้เกียจนั่งเคี่ยวกะทิ เอาไว้ขยันเมื่อไหร่จะทำกินแล้วถ่ายภาพมาเขียนบันทึกค่ะ) เหลือแค่ขนมขี้มอด

          สมัยเด็กๆ ยายทำขนมขี้มอดให้ฉันเอาไปขายในโรงหนัง ไม่ก็ตามงานวัด นานๆ หนังมาฉายที แต่เขาประกาศล่วงหน้า

          ขนมขี้มอด ทำจาก ข้าวเจ้า มะพร้าว และน้ำตาลทราย


ในภาพนี้ ฉันใช้ข้าวสารญี่ปุ่น ซึ่งเม็ดสั้น ป้อมกว่าข้าวสารไทย


          วิธีทำง่ายๆ คือ เอาข้าวสารแช่น้ำค้างคืน รุ่งขึ้นก็เอาใส่กระทะ คั่วจนเหลืองหอม เอาไปโม่เป็นผงสีเหลืองทอง มะพร้าวขูดด้วยกระต่ายแล้วเอาไปคั่วในกระทะจนเหลืองหอมฉุยเช่นกัน นำข้าวคั่วป่นกับมะพร้าวคั่วมาผสมกัน โรยน้ำตาลทรายพอออกหวาน

          (โม่หิน คนสมัยใหม่คงไม่รู้จักแล้ว แต่ฉันคุ้นกับมันมาตั้งแต่เด็กเพราะต้องนั่งโม่แป้งทุกคืน ทุกวันนี้ยังเก็บโม่หินไว้เพื่อรำลึกถึงยายค่ะ)

            สมัยนั้นไม่มีถุงพลาสติก เราใช้กระดาษมาพับเป็นกรวย ปลายแหลมเปี๊ยบ ตักขนมขี้มอดใส่จนเต็ม พับปาก ตกแต่งให้สวยงามด้วยกระดาษว่าวหลากหลายสี เอามาตัดเป็นริ้ว ทากาวแปะปากกรวย

          แค่นี้ก็สวยงามพร้อมขาย หยิบใส่กระเช้าคล้องแขนเดินเฉิบไปโรงหนัง ยืนขายหน้าโรงหนัง พอหนังฉายก็ตีตั๋ว ๑ บาทเข้าไปด้วย หนังพักเปลี่ยนฟิล์มม้วนใหม่ก็เดินเร่ขายในโรง ขายกรวยละสลึงเดียว

          เวลากิน พวกผู้ใหญ่มักแกะปากกรวยเทกิน แต่เด็กๆ จะฉีกตรงปลายแหลมเทใส่ปาก กินทีละนิด จะได้กินนานๆ

สมัยนี้ไม่ใครรู้จักขนมขี้มอดแล้ว

          ทำกินเองที่บ้านวันนี้ ไม่ได้เพราะอยากกิน แต่เพราะคิดถึงความหลังวัยเยาว์เมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน ที่อาศัยแสงจากตะเกียงทำขนมขาย เงินสลึงเดียวที่ลูกค้าใส่มือให้เด็กเล็กๆ อย่างเราช่างมีคุณค่าควรแก่ความภูมิใจ เงินน้อยนิดรวมกันต่อชีวิตเราสองยายหลาน

          ขนมขี้มอด ทำกินเองวันนี้ รสชาติคงเดิม แต่ความรู้สึกไม่เหมือนเดิม.

อาทิตย์ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 578192เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2014 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2014 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

น่าสนใจค่ะ ขนมขี้มอดนี่ไม่เคยได้ยินเลยอย่าว่าแต่กินเลย ดูเครื่องปรุงและกรวยแล้วต้องอร่อยแน่ เคยกินแต่ขนมขี้หนูค่ะ ห่อใบตอง ซึ่งเดี๋ยวนี้พอมีขายแต่เปลี่ยนแพ็คเกจเป็น ถุงหรือกล่องพลาสติก ทั้งรสและความรู้สึกเปลี่ยนไปค่ะ  แต่ถ้าเจอห่อใบตองไม่ลังเลที่จะซื้อเลย ขนมขี้มอดนี่คงต้องทำกินเอง ไว้ว่าง ๆก่อน

น่าสนใจค่ะ...เพิ่งเคยเห็น ขอบคุณมาก

สมัยนั้นไม่มีถุงพลาสติก เราใช้กระดาษมาพับเป็นกรวย

....

ทวนความทรงจำได้อย่างมีพลัง เลยครับ

-สวัสดีครับพี่หมอ

-ชอบใจขนมขี้มอด..ไม่เคยเห็นครับ

-เคยเห็นแต่ขนมขี้หนูสีสวย...

-ขอบคุณพี่หมอ..เดี๋ยวต้องหาเวลาทำบ้าง..อิๆ 

อาจารย์ GD คะ  แปลกใจเหมือนกันค่ะที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักขนมขี้มอด 

ลองทำนะคะ ทำง่ายๆ  ดิฉันเก็บใส่ขวดไว้ปิดให้สนิท (กันกลิ่นหืนของมะพร้าว) เพิ่งทานหมดเมื่อวานเองค่ะ  

ขนมขี้หนูสมัยนี้ก็อร่อยสู้สมัยก่อนไม่ได้ค่ะ  แต่ก่อนเราใช้ดอกมะลิสดอบกลิ่นด้วยค่ะ  ขนมขี้หนูสมัยก่อนจึงหอมชื่นใจค่ะ

น่าจะเป็นขนมทางใต้ (บ้านนอก) ค่ะพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบคุณอาจารย์ แผ่นดิน ค่ะ

คนใกล้แก่ก็อย่างนี้แหละนะคะ ชอบคิดถึงความหลังค่ะ

น้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง ทำแล้วอย่าลืมถ่ายรูปมาอวดพี่ด้วยนะคะ

ตอนโตๆ นี่พี่เคยเห็นยายเอาแป้งข้าวจ้าวมาคั่วจนเหลืองแทนเอาข้าวสารมาคั่ว  แต่ไม่อร่อยเท่าค่ะ

ตามมาอ่านการทำขนมขี้มอดจ้ะพี่นุ้ย

แต่ไม่เจอแป้งเปียก...เดาว่า...

เอาไว้แปะปากกรวยใช่ไหมจ๊ะ

อยากทำขนมขี้มอดบ้าง แต่คงตั้อง " ปั่น"

ข้าวคั่วแทนการโม่แล้วล่ะจ้ะ..แล้วก็ต้อง

ไปขอกระต่ายขูดมะพร้าของแม่

เอามาขูดมะพร้าวด้วย เฮ้อ ! หลายเรื่อง

เอาการทีเดียวนะเนี่ยะ...!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท