4. แผนการพัฒนาการศึกษา ฉบับล่าสุด


 แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552-2559        

          เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2545-2559 ที่ใช้มาแล้วครึ่งทางและยังเหลือระยะเวลาอีกกว่า 7 ปี

สาระสำคัญของแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 — 2559)

ปัจจุบันแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์แต่เนื่องจากแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับเดิม (พ.ศ. 2545 — 2559) นั้นเป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงเห็นควรให้คงปรัชญาหลัก เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของแผนฉบับเดิมไว้ แล้วปรับปรุงในส่วนของนโยบายเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ปรัชญาหลักและกรอบแนวคิด

การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 — 2559) ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยึดทางสายกลางอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี รู้จักพอประมาณ อย่างมีเหตุผล มีความรอบรู้เท่าทันโลกเพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทยเกิดการบูรณาการแบบองค์รวมที่ยึด “คน” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมี “ดุลยภาพ” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมเป็นแผนที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับรวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาการศึกษากับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นต้น โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

เจตนารมณ์ของแผน

แผนการศึกษาแห่งชาติมีเจตนารมณ์เพื่อมุ่ง (1) พัฒนาชีวิตให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรมมีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” และ (2) พัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งและมีดุลยภาพใน 3 ด้าน คือเป็นสังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และสังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน

วัตถุประสงค์ของแผน

1. เพื่อให้บรรลุตามปรัชญาหลักและเจตนารมณ์ของแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 — 2559) จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนฯ ที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

2. พัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุลเพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนา

3. เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้

4. เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและสร้างสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ 

แนวนโยบาย เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงาน

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสามประการดังกล่าวประกอบกับการคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตที่เน้นการใช้ความรู้เป็นฐานของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประชากร สิ่งแวดล้อมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้กำหนดแนวนโยบายในแต่ละวัตถุประสงค์ ดังนี้

วัตถุประสงค์ 1 พัฒนาคนอย่างรอบด้าน และสมดุลเพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนาแนวนโยบาย

1.1 พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกระดับและประเภทการศึกษา

1.2 ปลูกฝังและเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมมีจิตสำนึกและมีความภูมิใจในความเป็นไทย มีระเบียบวินัย มีจิตสาธารณะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและรังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

1.3 เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิตได้มีโอกาสเข้าถึงบริการการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ยากจน อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ทุรกันดาร

1.4 ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และร่วมมือกับนานาประเทศ

1.5 พัฒนามาตรฐานและระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งระบบประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก

1.6 ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานมีคุณธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

วัตถุประสงค์ 2 สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมภูมิปัญญาและการเรียนรู้แนวนโยบาย

2.1 ส่งเสริมการจัดการศึกษา อบรม และเรียนรู้ของสถาบันศาสนาและสถาบันทางสังคมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

2.2 ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายภูมิปัญญา และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรม พลศึกษา กีฬาเป็นวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพและตลอดชีวิต

2.3 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้และสร้างกลไกการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

วัตถุประสงค์ 3 พัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคม เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและสร้างสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้

แนวนโยบาย

3.1 พัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

3.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโดยเร่งรัดกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษาไปสู่สถานศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3.3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคมและทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา

3.4 ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ และการลงทุนเพื่อการศึกษาตลอดจนบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

3.5 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าประเทศด้านการศึกษาพัฒนาความเป็นสากลของการศึกษา เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ขณะเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกันกับพลโลกอย่างสันติสุขมีการพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน

การบริหารแผนสู่การปฏิบัติ

แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการนำแผนสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองที่เน้นเป้าหมาย 3ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาการขยายโอกาสทางการศึกษาและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการและจัดการศึกษาตลอดจนคำนึงถึงความสอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาดำเนินงานบริหารแผนสู่การปฏิบัติเป็น 2 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 แผนงานรีบด่วน ระหว่างปี 2552 — 2554 ให้เร่งดำเนินการตามข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองโดยให้มีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาตามประเด็นเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาได้แก่

1) แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) แผนขยายโอกาสทางการศึกษา และ 3) แผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษารวมทั้งควรมีการสร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ

ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2552 — 2559 ให้เร่งดำเนินการตามนโยบายทั้ง 14 ด้านให้บรรลุผลตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฯ เมื่อสิ้นสุดระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมทั้งการเตรียมการร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ ให้มีการจัดทำกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลา 5 ปีเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในภาพรวมและแผนพัฒนาการศึกษาแต่ละระดับ/ประเภทการศึกษาที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แก่ แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน แผนพัฒนาการอาชีวศึกษาแผนพัฒนาการอุดมศึกษา เป็นต้น

ในระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดและในระดับเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาให้มีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาแผนพัฒนาการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2553

สามารถดาวน์โหลดแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่11ได้ที่นี่ : http://www.mua.go.th/~bpp/developplan/download/hig...


อ้างอิง : http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readar...

หมายเลขบันทึก: 577145เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2014 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2014 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท