หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม : เรียนรู้คู่บริการ (จับมือปราชญ์ชาวบ้านร่วมบริการสังคม)




การไปเรียนรู้กับชาวบ้าน (ปราชญ์ชาวบ้าน) ถือเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งในภารกิจการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งดำเนินไปบนฐานคิด “เรียนรู้คู่บริการ” อันหมายถึงเรียนรู้ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ไปพร้อมๆ กับการให้ “บริการวิชาการแก่ชาวบ้าน” แบบไม่แยกส่วน โดยมีนิสิตและชุมชนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้

โครงการ "ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์” เป็นอีกหนึ่งในโครงการของคณะพยาบาลศาสตร์ที่ดำเนินการตามครรลองข้างต้น ซึ่งมี รศ.ดร.พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก



โครงการดังกล่าวนี้จัดขึ้น ณ ชุมชนบ้านโนนแสบง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเบื้องต้นเป็นพื้นที่ที่เคยศึกษาและเก็บข้อมูลในด้านสุขภาวะชุมชนมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ประกอบกับการได้รับรู้ว่าในชุมชนมีปราชญ์ชาวบ้านที่ชำนาญการในเรื่องสมุนไพร นวดแผนไทย และอบสมุนไพร จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่มีต่อการดูแลสตรี หญิงตั้งครรภ์ หรือสตรีหลังคลอดที่จำต้องพักฟื้นร่างกายผ่านกระบวนการและกรรมวิธีผสมผสมระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับการแพทย์สมัยใหม่

กิจกรรมหลักๆ ถูกออกแบบกระบวนการเรียนรู้นับตั้งแต่การนำนิสิตลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือบริบทชุมชน วิเคราะห์ทุนทางสังคมในเรื่องการดูแลสุขภาพของหญิงในวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการศึกษาโดยตรงกับปราชญ์ชาวบ้านที่สันทัดในเรื่องสมุนไพร นวดและการอบสมุนไพร คือ “แม่ทองใบ ศรีจันโคตร”  ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านให้การเคารพรักและยอมรับในเรื่องภูมปัญญาดังกล่าว





ในทางกระบวนการศึกษาเรียนรู้นั้น นิสิตเดินสำรวจข้อมูลชุมชน (transect walks) ผ่านการสังเกต สัมภาษณ์ เข้าร่วมกิจกรรมหลักในชุมชนเป็นระยะๆ รวมถึงการจัดเวทีให้ความรู้แก่ชาวบ้านและนิสิตในเรื่อง “สร้างเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์” โดยใช้วิทยากรจากมหาวิทยาลัยและคุณแม่ทองใบ ศรีจันโคตรเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ร่วมกันตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ”

กระบวนการดังกล่าวสื่อให้เห็นการจัดการเรียนรู้ในมิติการบริการสังคมของมหาวิทยาลัยที่ใช้ทั้งศาสตร์ (วิชาชีพ) ของตนเองไปสู่การให้บริการต่อสังคม พร้อมๆ กับการนำศาสตร์ของชาวบ้าน (ภูมิปัญญาท้องถิ่น)  มาบริการต่อชาวบ้านและนิสิตไปพร้อมๆ กัน

หรือในอีกมิติหนึ่งก็สื่อให้เห็นถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน ด้วยการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการแบ่งปันความรู้ต่อกัน รวมถึงเชิดชูความดีงามหรือศักยภาพของกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการเสริมพลังชีวิตให้แก่กันดีๆ นั่นเอง ดีกว่าการหลงลืม หรือละเลยให้ปราชญ์ชาวบ้านถูกกาลเวลากลืนหายไปอย่างช้าๆ ...




กระบวนการดังกล่าวจึงเหมือนการค้นหาสิ่งอันดีงามและนำพาสิ่งอันดีงาม หรือความสำเร็จ (Success Story)มาแบ่งปันร่วมกัน เพราะเชื่อว่าในความสำเร็จนั้น หากมองย้อนกลับมายังตัวบุคคล ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนคือสื่อ” หรือปัญญาปฏิบัติ หรือตัวอย่างที่ดี (Best Practice : BP) ที่ควรค่าต่อการหยิบยกมาเป็นต้นแบบของการเรียนรู้และสืบสานให้มีพลังร่วมกันอย่างไม่หยุดนิ่ง


นอกจากเวทีที่จัดขึ้นในชุมชนแล้ว โครงการดังกล่าวฯ ยังออกแบบการเรียนรู้ด้วยการนำวิทยากรและชาวบ้านเข้ามาจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ อาทิ บ้านวังหว้า ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  ก่อนจะมาปิดเวทีอีกครั้งเพื่อคืนข้อมูลและยกย่องเชิดชูปราชญ์ชาวบ้าน (แม่ทองใบ ศรีจันโคตร) ผ่านการจัดนิทรรศการชีวประวัติของแม่ทองใบฯ นิทรรศการข้อมูลชุมชน จัดแสดงตัวอย่างสุมนไพรในชุมชน บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านจากนิสิต รวมถึงการฝึกปฏิบัติการทวนซ้ำความรู้ในเรื่องการนวดเพื่อผ่อนคลายสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการดูแลหญิงวัยเจริญพันธุ์





กระบวนการทั้งปวงนั้นเป็นเสมือนการสะท้อน (Refletion) และ ป้อนกลับ (Feedback)ซึ่งข้อมูลคืนกลับให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ร่วมเรียนรู้มาด้วยกัน และทุกขั้นตอนในเวทีดังกล่าวก็ขับเคลื่อนบนฐานของการเรียนรู้และจัดการแบบมีส่วนร่วม เน้นการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (action learning) หรือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (learning by doing)

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงนับได้ว่าโครงการ "ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์” เป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนผ่านภารกิจของมหาวิทยาลัยอย่างน่าสนใจ เป็นการเรียนการสอนโดยให้ “ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ใช้  “ชุมชนเป็นห้องเรียน” และเรียนรู้โดยให้ชาวบ้าน (ปราชญ์)  ทำหน้าที่เป็น “ครู” ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นิสิต อาจารย์และชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน



กระบวนการดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดความรู้ หรือการบริการสังคมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับปราชญ์ชาวบ้านเท่านั้น หากแต่ยังซ่อนนัยสำคัญแห่งการ “เชิดชูปราชญ์” ชาวบ้านไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

การเชิดชูดังกล่าวนี้ บางทีอาจกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้หันมาให้ความสำคัญและขับเคลื่อนสู่คนอื่นๆ หรือด้านอื่นๆ ในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เช่นเดียวกับนิสิตก็ยังสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพได้อย่างไม่ต้องเคอะเขิน เพราะถึงแม้ในหลักสูตรจะไม่มีการเรียนการสอนที่เสริมสร้างทักษะในเรื่องการนวดและสมุนไพรโดยตรง แต่ก็เชื่อว่าการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในโครงการดังกล่าวฯ จะทำให้นิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาความรู้ หรือทักษะเหล่านี้ไปเป็นระยะๆ เพื่อนำไปใช้จริงในวิชาชีพ หรือกระทั่งในชีวิตประจำวันอันหลากมิติต่อไป...


...
หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม
คณะพยาบาลศาสตร์ มมส..
บ้านโนนแสบง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม



หมายเลขบันทึก: 577139เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2014 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2014 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เย่ี่ยมจริงๆ ค่ะอาจารย์

กระบวนการเรียนรู้ คู่บริการ... 

งดงาม เข้ม ขลัง อย่างบอกไม่ถูก

รู้สึกมีความหวัง สุขใจที่ได้รับซับซาบรายละเอียดกิจกรรมผ่านบันทึกและภาพค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ ครู แผ่นดิน สาธุ

เป็นการบริการชุมชน

ที่ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านได้ดีมาก

นิสิตจะได้เรียนรู้ไปด้วยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท