นเรศวรวิจัยกับการพัฒนาภาคเหนือตอนล่าง


วันนี้ผมมีความสุขมาก ว่าได้มีส่วนช่วยเป็นสะพานให้เพื่อนอาจารย์ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของเขา (ที่ไปเรียนปริญญาเอกมาจากเมืองนอกกว่า 300 คน) มาช่วยกันพัฒนาประเทศ แม้ว่าจะเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็เต็มไปด้วยความหวังในอนาคตครับ

         วันจันทร์ที่ 6 พ.ย. 49 ผมถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของ มน. อีกวันหนึ่งตรงที่ว่า มน.ได้ประกาศและลงมือทำอย่างจริงจังอย่างเป็นกระบวนการต่อหน้าภาคีสำคัญต่าง ๆ ในวันนี้ ที่ว่า ตอนนี้เราอายุ 16 ปีแล้ว ถมที่สร้างอาคาร ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ อาจารย์ที่ส่งไปเรียนทยอยกลับมาจำนวนมากแล้ว โดยภาพรวม ๆ เราประกาศว่าพร้อมได้ที่แล้วที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่กับทุกภาคีในการที่จะช่วยกันพัฒนาภูมิภาคและพัฒนาประเทศ

         เช้าวันที่ 6 พ.ย. 49 หลังจากที่ได้ไปทำหน้าที่ประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ “The Seminar on Local Wisdom and Culture Learning Through Ethnoseience Research Approach” ที่คณะศึกษาศาสตร์ มน. แล้ว ผมต้องรีบกลับมาสมทบกับท่านอธิการบดี (รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี) และทีมวิจัย มน. ที่ห้อง Main Conference (CITCOMS) เพื่อ ลปรร. “1 กลุ่มจังหวัด 1 กลุ่มอุตสาหกรรม” กับภาคีต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ

         1. ภาคราชการ นำโดยท่านรองผู้ว่าจังหวัดพิษณุโลก (นายยงยศ เมฆอรุณ) และทีมงานจากส่วนราชการต่าง ๆ อีกว่า 20 คน (เดิมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนัดว่าจะนำทีมมาด้วยตนเองแต่ว่าติดภารกิจเร่งด่วนจึงไม่สามารถมาได้)

         2. ภาคเอกชน จากโรงงานน้ำตาลในเขตภาคเหนือตอนล่าง เกือบ 10 คน

         3. ภาคประชาชน ที่มีอาชีพทางด้านเกษตรกรรม เช่น ปลูกอ้อย ปลูกกล้วย ประมาณ 5 คน

         4. ภาควิชาการ มี รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ (รอง ผอ.สกว.) มาช่วยเป็นที่ปรึกษาด้วย

         5. ทีมนักวิจัย มน. กว่า 20 คน จากคณะเกษตรศาสตร์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยพลังงานทดแทน ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอาวกาศฯ และสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา ส่วนนี้นำโดย ดร.เสมอ ถาน้อย และ ผศ.วิจิตร อุดอ้าย

         เรื่องที่ ลปรร. คือ “การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานจากชีวมวล (เอทานอล) โดยใช้วัตถุดิบอ้อยเป็นหลัก” ได้บรรยากาศของมิตรภาพและการร่วมแรงร่วมใจดีมาก ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องติดต่อกันมานานตั้งแต่ต้นปี 2549 ผมเคยนำมาเล่าไว้ครั้งหนึ่งแล้ว < LINK >

         บ่าย วันที่ 6 พ.ย. 49 เปลี่ยนเรื่อง ลปรร. เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุโขทัย ย้ายที่พูดคุยไปกันที่ชั้น 6 CITCOMS (ห้องประชุม IRDA) มี 6 คนครับที่ร่วมปรึกษาหารือกัน ประกอบด้วย รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ (สกว.) ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต 1 จำนวน 3 คน (นำโดย น.ส.ระย้า คงขาว) ฝ่าย มน. มี ดร.เสมอ ถาน้อย นางจรินทร จันทร์นฤมล และตัวผมเอง

         ช่วงบ่ายนี้เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการจัดให้มีการ ลปรร. แบบเมื่อเช้า แต่จัดที่จังหวัดสุโขทัย ตัวแทนจากสุโขทัยเห็นตัวอย่างเมื่อเช้าแล้วคิดว่ามีประโยชน์มาก นัดกันว่าวันที่ 14 หรือไม่ก็วันที่ 15 ธันวาคม 2549 จะช่วยกันจัดที่สุโขทัยบ้าง ทีมของสุโขทัยจะนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ว่าเรื่องที่จะพูดคุยเปลี่ยนเป็น “วัฒนธรรม --> การศึกษา --> อุตสาหกรรมท่องเที่ยว”

         เสร็จแล้วเหลือเรา 3 คน คือ ท่านอาจารย์พีรเดช ดร.เสมอ และตัวผม เราตกลงกันว่าภายในปีหน้า (2550) จะช่วยกันผลักดัน ส่งเสริมสนับสนุน และติดตามการดำเนินงานทำนองเดียวกันนี้ให้ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเพิ่มให้ครบเป็น 6 จังหวัดตามความพร้อม จังหวัดที่น่าจะพร้อมอันดับต้น ๆ นอกเหนือจาก พิษณุโลก สุโขทัย แล้วยังมี อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร และลำปาง (ภาคเหนือตอนบน) และจะเพิ่มให้ครบทั้ง 10 จังหวัดในปีถัด ๆ ไป

         นอกจากนี้ ท่านอาจารย์พีรเดชยังกรุณาให้เกียรติมอบความไว้วางใจผมกับดร.เสมอให้เป็น “ผู้ประสานงานวิจัย” ให้กับ สกว. โดยให้รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (9 จังหวัด) และจังหวัดลำปาง (ภาคเหนือตอนบน) อีกหนึ่งจังหวัด รวมเป็น 10 จังหวัดอีกด้วย

         วันนี้ผมมีความสุขมาก ว่าได้มีส่วนช่วยเป็นสะพานให้เพื่อนอาจารย์ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของเขา (ที่ไปเรียนปริญญาเอกมาจากเมืองนอกกว่า 300 คน) มาช่วยกันพัฒนาประเทศ แม้ว่าจะเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็เต็มไปด้วยความหวังในอนาคตครับ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

.

หมายเลขบันทึก: 57678เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้อาจารย์มีความสุขในการเป็นสะพานเชื่อมโยงศักยภาพของผู้คนสู่การพัฒนาประเทศครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์วิบูลย์...

  • ดีใจกับทุกท่านที่มีโอกาสไปแลกเปลี่ยน + ศึกษาดูงานกันครับ
  • ดีใจที่งานนี้รวมลำปางไปกับทีมภาคเหนือตอนล่างด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท