KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 197. สร้าง (และใช้) ความรู้โดยไม่รู้ตัว


        ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เราสร้างและใช้ความรู้ขึ้นตลอดเวลาโดยมักไม่รู้ตัว      เป็น unconscious knowledge generation และ unconscious knowledge application

        KM ช่วยให้กระบวนการที่ unconscious มีส่วนที่เป็น conscious มากขึ้น     ที่สำคัญ KM ใช้กระบวนการเชิงบวกในการ ลปรร. กระตุ้น unconscious knowledge process ให้กลายเป็น conscious knowledge process     หรือทำให้ความรู้ที่จับต้องไม่ได้ ไม่รู้ตัว กลายเป็นความรู้ที่จับต้องได้     เขียนออกมาได้  จัดหมวดหมู่ได้

        เครื่องมือสำคัญในการทำให้ความรู้ที่ไม่ชัด ชัดเจนขึ้น    ทำให้ความรู้ที่จับต้องไม่ได้ กลายเป็นความรู้ที่จับต้องได้ คือ การเล่าเรื่อง (storytelling)      เรื่องเล่า คือ "หม้อต้มยำความรู้"     ความรู้ปฏิบัติไม่ได้อยู่แยกกันเป็นชิ้นๆ     แต่อยู่รวมกันเป็นเสมือนต้มยำ บางส่วนประกอบของความรู้ปฏิบัติไม่มีวันสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสตามปกติ     เหมือนกรณีที่เราไม่สามารถสัมผัสมะนาวในต้มยำได้จากจักษุสัมผัส และกายสัมผัส     แต่สัมผัสได้จากชิวหาสัมผัส (การลิ้มรส)     ถ้าความรู้อยู่แยกกันเป็นส่วนๆ ก็ใช้การไม่ได้  เหมือนอย่างส่วนประกอบของต้มยำแต่ละอย่างกินไม่ได้     แต่เมื่อเอามาผสมกันและปรุงเป็นต้มยำแล้วกินได้และอร่อย 

        การ "สร้างและใช้" ความรู้ปฏิบัติ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว คือทำตามสถานการณ์ในขณะนั้น ตามใจและทักษะที่มีในขณะนั้น     โดยอาจปรับตามสถานการณ์แบบคิดมากบ้าง คิดน้อยบ้าง หรือแทบไม่คิดเลยบ้าง     ซึ่งเป็น "การทดลองโดยปฏิบัติจริง" และจะมีการกระทำหรือปฏิบัติบางแบบที่ได้ผลดีมากอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน     นำเอาเรื่องราวของความสำเร็จเช่นนั้นแหละมาเล่าเรื่อง และชื่นชมกัน     จะทำให้ความรู้ที่เกิดขึ้นแบบ unconscious กลายเป็น conscious knowledge

        ในกระบวนการ KM ที่ดี กิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นแบบที่ไม่มีพิธีรีตอง     ไม่ต้องมีการจัดการประชุมใดๆ ก็ได้      เพราะคนที่ค้นพบวิธีทำงานได้ผลดีอย่างน่าพิศวงจะรู้สึกประหลาดใจ     และอยากหาคำอธิบายว่ามีเหตุผลอะไรจึงเกิดผลดีเช่นนั้น     ก็จะไปเล่าให้เพื่อนฟัง     เพื่อนไม่เชื่อ เอาไปลองทำ     ถ้าได้ผลดีจริงก็กลับมาเล่า และช่วยกันตีความหาเหตุผล     หรืออาจต้องเล่าให้หัวหน้าฟัง เพื่อให้หัวหน้า ซึ่งตามปกติมีความรู้เชิงทฤษฎีมากกว่า ช่วยคิดหาเหตุผล     ซึ่งก็คือช่วยกัน "ถอด" ความรู้นั่นเอง

        ผู้ที่อยู่ในทีม KM ลองสังเกตดูเถิด ว่าเกิดกระบวนการเช่นนี้บ้างหรือไม่     ถ้าเกิด และไม่เป็นความลับของหน่วยงาน     โปรดนำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

วิจารณ์ พานิช
๒๗ ตค. ๔๙
ระหว่างนั่งรถยนต์ไปชุมพร

หมายเลขบันทึก: 57571เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีคะอาจารย์ วันนี้เลยคะ แบบไม่รู้ตัว...มีพี่จากส่วนกิจการนักศึกษามาพบและบอกว่าอยากขอขั้นตอนการจัดการเรื่องการรับรองวิทยากรเพื่อนำไปพูดคุยกับทีมงานในการรับรองวิทยากรของมหาวิทยาลัยงาน“สัมมนาสภานิสิต-นักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 13” ระหว่างวันที่10-13 พฤศจิกายน 2549 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีวิทยากรที่ต้องรับรองหลายท่านทำให้ทีมงานต้องมาจัดการ เตรียมตัวกันเพื่อไม่ให้งานขาดตกบกพร่อง
...คิดอยู่นานว่าเรามีหรือเปล่า...และก็นึกได้ว่าเราเคยมีการจัดทำข้อมูลการรับรองวิทยากรเช่นกัน แต่ก็ยังไม่รู้สึกมาก่อนว่าแนวทางการจัดทำข้อมูลของเรานั้นเป็นวิธีการทำงานที่ดี...เพียงการเรารู้ว่าการรับรองในครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี...มารู้สึกภูมิอกภูมิใจก็วันนี้ที่วิธีการทำงานของเราเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงาน...ดีใจคะ

เรียน หมอวิจารณ์.

ผมว่านึ่คือของจริงครับที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอยู่แล้ว  จะว่าเป็น Tacit Knowledge ของ KM อีกทีก็ว่าได้  เขาบอกไม่ได้แต่ทำได้ ไม่เหมือนกับนักวิชาการบางคนที่พูดได้เป็นฉากๆเกือบทุกเรื่อง แตทำไม่เป็น

สำหรับนัก KM นั้นน่าจะปรับความรู้ฝังลึกมาเป็นความรู้ชัดแจ้ง ใช่ไหมครับ  ในหลักการของประเด็นนี้ นักจัดการความรู้ในระดับชุมชนที่ผมทำอยู่กับครูบาสุทธินันท์ จะอยู่ในประเด็นที่ทำเป็นแต่พูด และเขียน หรือนำเสนอไม่ค่อยเป็น ก็เลยทำให้ตกเกณฑ์ในบางเรื่อง และเป็นอุปสรรคหนึ่งของการทำงานในโครงการ เมื่อตัวชี้วัดเป็น blog และรายงานครับ ก็ไม่เชิงแก้ตัวนะครับ ผมรู้สึกมานาน แต่หาช่องพูดไม่ค่อยได้ หรือไม่ถูกเหมือนกัน

ท่านอาจารย์คงทราบดีว่าผมหมายความว่าอย่างไร  ผมก็ตกอยู่ในภาวะคล้ายๆกับชาวบ้านในบางเรื่องเหมือนกัน แต่คงต่างประเภทความรู้กันที่ ทำได้แต่อธิบายได้ไม่ทั้งหมด หรือแม้อธิบายได้แต่เขียนไม่ได้ หรือแม้แค่เขียนได้แต่ก็ไม่ค่อยชัดเจน  อย่างนี้ถือเป็นระดับของ tacit knowledge หรือเปล่า หรือยังเป็นการจัดการความรู้ไม่สมบูรณ์  ในมุมมองของผม ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นระดับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความรู้ไปในขณะเดียวกัน จาก Tacit เป็น Explicit 

วันหลัง ถ้าจังหวะเหมาะผมจะขอเวลาให้อาจารย์อธิบายสัก ๑-๒ นาทีได้ไหมครับ หรือจะตอบทาง blog ก็ได้ครับ

ด้วยความเกรงใจอย่างยิ่งครับ

แสวง

๘ พย ๔๙ (Kyoto)

สำหรับภาคชุมชนนั้น การบอกเล่าความคืบหน้าด้วย blog อาจดูเหมือนไม่สะดวกนักตามที่ อ.แสวงให้ความเห็น แต่ในกรณีที่เป็นการทำงานตามโครงการ และเห็นชอบทั้ง 2 ฝ่าย ถึงวิธีการบอกเล่าผ่าน blog อย่างนี้    ซึ่ง สคส. ก็เข้าใจได้ว่าอาจไม่สามารถทำได้จริง ในสถานการณ์จริงที่ช่วงทำข้อเสนอคาดว่าจะทำได้     อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายวิธี ซึ่งโครงการก็ต้องเสนอมาว่าจะใช้วิธีใดที่ทดแทนได้และสะดวกด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย     แต่หากไม่ทำอะไรเลย คงเป็นไปไม่ได้       อีกกรณีหนึ่งคือ ในด้านการจัดการความรู้ เราอยากเห็นพระเอกหลายๆ คน ได้แสดงบทบาทของตนเองตามสมควร หากน้อยเกินไปและไม่บรรลุตามเป้าหมายของโครงการ  ก็คงต้องหารือร่วมกันค่ะ

ฝาก อ.แสวง พิจารณาและให้ข้อชี้แนะด้วยนะคะ

ด้วยความเคารพ

อุรพิณ

ขอบคุณครับคุณอ้อม

ผมไม่ได้ตั้งใจจะแก้ตัวจริงๆนะครับ ผมเพียงอยากถามข้อข้องใจและยกตัวอย่างประกอบเท่านั้น

ไหนๆถามมาก็จะตอบสั้นๆเพราะพิมพ์ไม่ค่อยเป็น

พูดตรงๆ การกำหนดกรอบงานที่ผ่านมานั้นใช้สมมติฐานที่คลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง ทั้งส่วนของหัวปลา ตัวปลา และหางปลา หัวปลาและฟันปลา (ศัพท์ใหม่นะเนี่ย) ไม่แหลมและไม่คมเหมือนที่ตั้งกรอบไว้ ครีบปลา(ใหม่อีกแหละ) ไม่ค่อยโบกรอแต่แรงส่งจากหางปลา ตัวปลาแยกส่วนจากหัวและหาง หางปลาก็มีสาหร่ายพันจนขยับไม่ค่อยไหว พอจะขยับก็หาตัวปลาไม่ค่อยเจอ ต้องไปส่งแรงให้หัวปลาแทน หัวปลาบางหัวก็ทื่อ ดันไม่ไป  (เอ๊ะ ผมว่าปลาทูของอาจารย์ประพนธ์ประหลาดเกินไปแล้ว น่าจะเป็นพระยานาคจะใกล้เคียงกว่านะครับ-ขอหารืออาจารย์ประพนธ์หน่อยนะ ไม่สบายใจกับปลาทู ๕๐ หัว ๑๐ ตัว หางเดียวของครูบาสุทธินันท์) หรือผมเข้าใจอะไรผิดไปครับ ต้องเป็นพระยานาคจึงจะว่ายไหวนะครับ

คุณอ้อมลองนึกดูซิว่าปลาทูของอาจารย์ประพนธ์ที่สตึกจะว่ายน้ำอย่างไร ครูบาเห็นท่าไม่ไหวก็เลยสั่งรื้อปลาทูออก แล้วจัดกระบวนทัพใหม่ แทนที่จะตั้งกองทัพปลาทู ๕๐ หัว หาตัวยาก และหางเดียว ก็มาเป็นยุทธศาสตร์รวมดารา ตอนนี้จัดกระบวนอยู่ครับ ตัวชี้วัดก็ต้องมาไล่กันใหม่ แบบจริงล้วนๆไม่เอาฝัน เดี๋ยวจัดกระบวนเสร็จจะเล่าให้ฟังครับ ขอหารือกับหางปลาก่อนนะครับ ผมกำลังมันกับงานนี้มากครับ ที่ผ้านมาครูบากับผมเจ็บสาหัสพอๆกัน ตอนนี้ช่วยผลัดกันเอายาแดงป้ายแผลให้กันอยู่นี่แหละครับ แผลหายเมื่อไหร่จะไปว่ายโชว์ครับ  แม้แต่แผลยังอยู่ผลงานเราก็ไม่น้อยหน้าใครในจักรวาลนี้นะครับ ผมเอางานมานำเสนอที่ Kyoto วันนั้ มีแค่คนทึ่ง เพราะเสนอแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน ยังไม่มีใครกล้าแซวสักคนเลยครับ มั่นใจซะอย่าง พวกตาน้ำข้าวหลบเปิดทางให้วิ่งสบายเลย ตบมือให้อีกต่างหาก

กลับไปแล้วจะเล่าให้ฟัง ถ้าคุณอ้อมมีเวลารับโทรศัพท์ผมครับ

แสวง

๘ พย ๔๙ (Kyoto)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท