การเติมเต็มที่ดีจาก คุณลูกหมูอ้วน


การบริหารและพัฒนา “คน” ถือเป็นสุดยอดของทรัพย์สินที่มีคุณค่าที่สุด

     เมื่อวานนี้ (22 ต.ค. 2548) ผมได้รับข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจาก คุณลูกหมูอ้วน ในบันทึก แผนพัฒนาตนเอง ปี 49 ก็เห็นเป็นประโยชน์มากครับ เป็นการเติมเต็มที่ดีต่อกันจริง อยากจะได้แยกไว้เป็นบันทึกต่างหากดังนี้ครับ
     ที่ผ่านมามัวแต่เตรียมชุมชนที่รับผิดชอบ  และวางแผนการทำงานเลยไม่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สักเท่าไหร่  แต่ก็เข้ามาอ่าน ความรู้บนโลกไร้พรมแดนตลอดทุกวัน วันนี้หัวข้อนี้น่าสนใจมากซึ่งปีเตอร์ แซงเกร์ได้กล่าวถึงเรื่อง"การพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ (personalmastery)"
     วินัยทั้ง 5 ประการของ Peter M. Senge ประกอบด้วย
          1) Personal Mastery ต้องมีวินัยในตัวเอง มีสติสามารถบังคับตนเองได้ ควบคุมตนเองได้ ปรับปรุงตนเองสม่ำเสมอ มีพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นปกติ กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
          2) Mental Model ไม่มีมิจฉาทิฐิ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีจิตใจที่มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์ทั้งคิดเชิงบวก คิดนอกกรอบและคิดแบบบูรณาการ
          3) Shared Vision สร้างความฝันร่วมกัน รู้เป้าหมายทั่วทั้งองค์การ ใฝ่ฝันถึงอนาคตร่วมกัน
          4) Team Learning มีการเรียนรู้ร่วมกันของทีม สร้างความเข้าใจร่วมกับคนอื่นๆผ่านกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง พยายามหาความเห็นร่วม (Consensus) ที่เหมาะสมต่อองค์การ เปลี่ยนการทำงานจาก ME เป็น WE (จากฉันเป็นเรา)
          5) Systemic Thinking คิดเป็นระบบ เห็นภาพรวม (Big picture) มองความเชื่อมโยงของส่วนต่าง ๆ ในองค์การ มองให้ออกว่าแต่ละส่วนขององค์การส่งผลกระทบต่อกันและกันอย่างไร

     เลยถือโอกาสร่วมแชร์ความรู้ในส่วนนี้ เพราะว่า การบริหารและพัฒนา “คน” ถือเป็นสุดยอดของทรัพย์สินที่มีคุณค่าที่สุดของ องค์กรหรือธุรกิจ การแพ้ชนะขององค์กรหรือธุรกิจไม่ได้อยู่ที่เงิน เทคโนโลยี วัตถุดิบ ทั้งนี้เพราะว่าใคร ๆ ก็สามารถหาเงิน เทคโนโลยี วัตถุดิบได้ แต่สัจธรรมที่ประจักษ์ชัดอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีองค์กรหรือธุรกิจไทยจะแสวงหาคน สร้างคนได้ในลักษณะเฉกเช่นเดียวกันได้ทุกองค์กร  ดังนั้นหากธุรกิจหรือองค์การ “พัฒนาคน” ให้มีความรู้ ความสามารถ เพิ่มขีดศักยภาพในอันที่จะสืบสานต่อธุรกิจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้นำองค์กร จึงต้องใช้"กลยุทธ์” ที่ก้าวข้าม “พรมแดนแห่งความรู้” ในเรื่องการบริหารและการพัฒนาคน เพื่อนำพาองค์กรเข้าสู่โลกของการแข่งขันไร้พรมแดนได้  ทำไมการพัฒนาบุคลากรจึงสำคัญนัก  เพราะการพัฒนาบุคลากร...
          1. ช่วยทำให้ระบบและวิธีปฏิบัติงานมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น  มีการติดต่อและประสานงานดียิ่งขึ้น
          2. เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการประหยัดและลดความสิ้นเปลืองของวัสดุที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
          3. ช่วยลดระยะเวลาของการเรียนรู้ให้น้อยลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเข้าทำงานใหม่หรือรับตำแหน่งใหม่
          4. เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างาน ในการให้คำแนะนำหรือตอบคำถามแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
          5. เป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยกระตุ้นบุคลากรให้ปฏิบัติงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน
          6. ช่วยให้บุคคลนั้น ๆ มีโอกาสได้รับความรู้และความคิดใหม่ๆ ทำให้เป็นคนทันสมัย ทันต่อความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ

     ก่อนอื่นตัวเราเองต้องตั้งคำถามเองว่าเรารู้จักตัวเราเองดีพอหรือยัง?
          1. การวิเคราะห์ตนเอง ถ้าวิเคราะห์ให้ละเอียดก็ต้องแยกองค์ประกอบเหล่านั้นให้เป็นส่วนย่อยลงไป  แล้วประเมินผลส่วนย่อยเหล่านั้นทีละอย่าง เช่น วิเคราะห์การพูดของตน  ควรแยกออกเป็นเสียงพูด จังหวะของการพูด ความเร็วของการพูด ความดังของเสียง ความชัดเจนของเสียง ชัดถ้อยชัดคำ ลีลาการพูด การลำดับเรียบเรียงคำพูด กิริยาอาการของการพูด
          2. การรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น เป็นการแสดงถึงความมีใจกว้างจะยอมรับความจริง เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นตัวเราเอง ตัวเราเองอยู่ใกล้ตัวเรามากเกินไปก็มองไม่เห็น ฉะนั้นจึงต้องอาศัยเสียงสะท้อนจากคนอื่นในที่กล้าวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาและวิจารณ์ด้วยความปรารถนาดี  ได้แก่ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ และเพื่อนสนิท การวิจารณ์คำวิจารณ์ของผู้อื่นก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง ความจริงคำวิจารณ์ที่ได้รับฟังนั้นเป็นข้อมูล เพื่อให้เรานำมาวิเคราะห์ตนเองเท่านั้น  เมื่อได้รับข้อมูลแล้วก็พิจารณาว่าคำวิจารณ์นั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกวิเคราะห์ต่อไปว่า ควรจะหาทางปรับปรุงตนเองอย่างไร ถ้าเห็นว่าไม่ถูกก็ควรจะต้องมีเหตุผลรองรับว่าเราเห็นว่าไม่ถูกเพราะอะไร อย่าสรุปเอาง่าย ๆ อย่าหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (กันยา  สุวรรณแสง, 2533)
     ซึ่งปรัชญาในการพัฒนาตัวเอง มี 3 ข้อ คือ
          1. บอกตัวเองว่า “เรายังไม่ดีพอ”
          2. ต้องแก้ไขปรับปุง
          3. มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ
    
     ปัจจุบันเราจะต้องมีการพัฒนา  3  ด้านให้มาก คือ
          1. ด้านภาษา
          2. ด้านคอมพิวเตอร์
          3. วิธีคิด ที่เป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

     การทบทวนตัวเอง
          1. ทำความเข้าใจกับสังขารตัวเราก่อนว่า ตอนนี้เราอายุเท่าใดเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และเวลาที่เหลือมีอักกี่ปี เราควรจะทำอย่างไร
          2. ดูปัจจัยภายในตัวเราเองว่า อะไรทำให้เราประสบความสำเร็จ
          3. ดูปัจจัยภายนอกที่เกื้อกูลให้เราประสบความสำเร็จ เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ครอบครัว

     ความสำเร็จของบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัย  3  ด้าน
          1. เก่ง
          2. นิสัยดี
          3. มีความสามารถ

หมายเลขบันทึก: 5755เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2005 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท