คุณธรรม จริยธรรม


คุณธรรม จริยธรรม

คุณธรรม และ จริยธรรม หมายความว่าอย่างไร

  • ๑.คุณธรรม
  • คุณธรรม เป็นนามธรรมเป็นเรื่องของจิตที่มีหน้าที่คิด ตามสิ่งต่างๆที่มากระทบ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส เย็น ร้อน

อ่อน แข็ง ใจเป็นทุกข์ เป็นสุข ทำให้คิดถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคต วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดไป เพราะเป็นธรรมชาติของจิตที่มีหน้าที่คิด

คุณ ในข้อนี้ หมายถึง ความคิดที่ดีมีประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่น

ธรรม ในข้อนี้ หมายถึง คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านตรัสสอนตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาแล้ว กับมวลมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันในโลกนี้

คุณธรรม หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์มีชีวิต จิตใจ มีสติ ปัญญา มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีกันทุกคน หรือที่เรียกว่า “ คิดดี ” ส่วนจะมีมากหรือมีน้อยแตกต่างกันไป

ผู้ที่มีคุณธรรม หมายถึง ผู้ที่มีสติ ปัญญาดี รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี รู้บาป บุญ คุณ โทษ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คิดแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง หรือได้ศึกษาและปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดีแล้ว เรียกว่าเป็น

ผู้มีคุณธรรม ประจำใจ

ตัวอย่างผู้ที่มีคุณธรรม ผู้ที่มีคุณธรรม หมายถึงผู้ที่มีความเมตตา กรุณา คือมีความรัก ความสงสาร มีจิตใจ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น มีความกตัญญูรู้คุณ พ่อแม่ ครู อาจารย์ และชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีจิตใจอันสูงส่ง มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป ไม่ดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ด้อยกว่า มีจิตสำนึกอันดี ประพฤติตนเป็นคนดี เป็นแบบอย่างที่ดี สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง นี้คือตัวอย่างผู้ที่ “มีคุณธรรมประจำใจ”

ตัวอย่างผู้ที่ขาดคุณธรรม หมายถึง ผู้ที่มีสติ ปัญญาน้อยขาดความเมตตา กรุณา ไม่มีความรัก ไม่มีความสงสารต่อผู้ใด ขาดหิริโอตตัปปะ ไม่มีความละอายต่อบาป ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป ไม่เชื่อคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อว่ามีชาติก่อน มีชาติหน้า ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตถูกกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ คิดแต่สิ่งชั่วร้าย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง ถือว่าผู้นั้นมีธรรมชาติที่เป็นโทษ หรือเรียกว่า “ ขาดคุณธรรมประจำใจ” นี้คือตัวอย่างผู้ที่ขาดคุณธรรม ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้า อีกมากมายที่ผู้ใดนำมาปฏิบัติตามแล้ว จะทำให้เกิดคุณธรรมแก่ตนเอง

๒. จริยธรรม

จริยธรรม เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องของการแสดงออกทางกาย ทางวาจา

จริย หมายถึง การแสดงออกทางกาย ทางวาจา ของมนุษย์

ธรรม ในข้อนี้หมายถึง ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีกาย วาจา เป็นสื่อภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

จริยธรรม หมายถึงการแสดงออกทางกาย ทางวาจา

การแสดงออกทางกาย คือ ทำแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง เรียกว่า “ ทำดี”

การแสดงออกทางวาจา คือพูดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่นที่เรียกว่า “พูดดี ”

ผู้มีจริยธรรม หมายถึงผู้ที่มีสติปัญญาดี แสดงออกในสิ่งที่ดีงาม ทางกาย ทางวาจา เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง หรือผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอน จากพระธรรมคำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า มีความสำรวมทางกาย ทางวาจาดีแล้ว

เรียกว่าผู้นั้นมี “ จริยธรรม ”

ตัวอย่างผู้ที่มีจริยธรรม ผู้ที่มีจริยธรรม คือผู้ที่มีกิริยาวาจาสุภาพ เรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงออกทางกาย เช่น แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ ตามขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีงามของไทย ไม่แสดงกิริยากระด้าง กระเดื่อง ใช้วาจา สุภาพอ่อนโยน ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด ให้ผู้อื่นต้องเสียใจ นี้คือตัวอย่างผู้ที่มีจริยธรรม คือการพูดดี ทำดี กายประกอบกรรมดี วาจาพูดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ที่เรียกว่า “ พูดดี ทำดี ”

ตัวอย่างของผู้ที่มีและขาด คุณธรรม จิรยธรรรม

๑. ผู้ที่มีคุณธรรม และมีจริยธรรม

๒. ผู้ที่ขาดคุณธรรม และขาดจริยธรรม

๓. ผู้ที่มีคุณธรรม แต่ขาดจริยธรรม

๔. ผู้ที่ขาดคุณธรรม แต่มีจริยธรรม

๑) ตัวอย่างผู้ที่มีคุณธรรมและมีจริยธรรม หมายถึงผู้ที่มีสติปัญญาดี มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเมตตา กรุณา คือ มีความรัก มีความสงสาร ปรารถนาให้

ผู้อื่นเป็นสุข มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป มีขันติโสรัจจะ มี

ความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ไม่คิดชั่วไม่พูดชั่ว ไม่ใช้กาย วาจา ไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เพราะกลัวว่าจะเป็นบาป เป็นโทษ ติดตัวตามตนไปในชาตินี้ และชาติ ต่อ ๆ ไป จึงคิดแต่เรื่องที่ดี พูดแต่คำที่ดี ทำแต่สิ่งที่ดี เรียกว่าเป็น

ผู้ที่ “มีคุณธรรม จริยธรรม”

๒) ตัวอย่างผู้ที่ขาดคุณธรรมและขาดจริยธรรม หมายถึงผู้ที่มีสติ ปัญญาน้อย ไม่เชื่อฟังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า จิตอยู่ใต้อำนาจของกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ จึงไม่มีคุณธรรมประจำใจ เป็นเหตุให้ขาดความเมตตา กรุณา ไม่มีความรัก ไม่มีความสงสาร ขาดหิริโอตตัปปะ ไม่มีความละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่มีขันติโสรัจจะ ไม่มีความอดทน ไม่มีความสงบเสงี่ยม ไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี มีความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น จะคิด จะพูด จะทำอะไร ก็ไม่เกรงกลัวความเดือดร้อน จะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งประเทศชาติบ้านเมือง คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ได้ทุกเวลาทุกโอกาสนี้คือตัวอย่างของผู้ที่ “ ขาดคุณธรรมและขาดจริยธรรม ”

๓) ตัวอย่างผู้ที่มีคุณธรรมแต่ขาดจริยธรรม หมายถึงผู้ที่มีความคิดดี มีความเมตตา กรุณา คือมีความรัก ความสงสาร มีความคิดที่จะช่วยเหลือเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ถือว่าผู้นั้น มีคุณธรรมประจำใจ แต่การแสดงออกทางกิริยา วาจา ตรงข้ามกับความรู้สึกนึกคิด แสดงกิริยา วาจา ไม่สุภาพเรียบร้อย ไม่รู้จักกาลเทศะ

พูดปด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นเสียหาย ถือว่าผู้นั้น ขาดจริยธรรม นี้คือตัวอย่างของ ผู้ที่ “ มีคุณธรรมแต่ขาดจริยธรรม ”

๔) ตัวอย่างผู้ที่ขาดคุณธรรมแต่มีจริยธรรม หมายถึงผู้ที่มีสติปัญญาน้อย ขาดคุณธรรมประจำใจคือ ขาดความเมตตา กรุณา ไม่มีความรัก ไม่มีความสงสาร มีจิตใจโหดร้ายทารุณ เห็นแก่ตัว ไม่สนใจช่วยเหลือผู้อื่น ถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณธรรมประจำใจ แต่การแสดงออกทางกาย ทางวาจา ตรงกันข้ามกับความรู้สึกนึกคิดของจิตใจ แสดงกิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อย ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่เต็มใจ เสแสร้งแกล้งพูดดี ใช้วาจาที่ไพเราะ ซึ่งไม่ตรงกับใจหรือที่เรียกกันว่า “ ปากกับใจไม่ตรงกัน ” ถือว่าเป็นผู้ที่มีจริยธรรม นี้คือตัวอย่างของผู้ที่ “ ขาดคุณธรรมแต่มีจริยธรรม ”

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะมีคุณธรรม และจริยธรรมนั้น บางคนมีคุณธรรมและจริยธรรม มาจากอดีตชาติ คือเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยใจคอดี แต่จะมีมากมีน้อยแตกต่างกัน ผู้ใดมีมาก ก็จะสามารถศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เร็ว เข้าใจในคำสอนมากขึ้น เรียกว่าผู้นั้น มีคุณธรรม จริยธรรมสูง ส่วนผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมจากอดีตชาติมาน้อย ต้องพยายามศึกษาและปฏิบัติตามให้เกิดคุณธรรมตามคำสอนในบทนั้น ๆ ผู้ใดได้ศึกษาและปฏิบัติตามได้มาก ผู้นั้นย่อมมีคุณธรรมและจริยธรรมเพิ่มขึ้น เพราะคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ล้วนเป็นการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมทั้งสิ้น แล้วแต่ท่านจะเลือกคำสอนบทใด มาปฏิบัติให้เกิดคุณธรรมจริยธรรม ให้กับตนเอง แล้วยังสามารถนำไปอบรมสั่งสอน ให้ผู้อื่นมีคุณธรรม และ จริยธรรมตามได้อีกด้วย

ที่มา> http://www.porjarearntum.com/index.php?mo=3&art=335778

อนงค์ภาณุช ปะนะทังถิรวิทย์

หมายเลขบันทึก: 574703เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท