Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาน้องนิค : ทำอย่างไรจึงจะมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วย กม.ไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง


กรณีศึกษา “น้องนิค” นายนิวัฒน์ จันทร์คำ

: ทำอย่างไรจึงจะมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152640129293834

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

กรณีศึกษา “น้องนิค” นายนิวัฒน์ จันทร์คำ เป็นกรณีศึกษาที่มูลนิธิกระจกเงา เสนอให้มีการศึกษาเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ – พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙”

โดยการสอบปากคำเบื้องต้น น้องนิคทราบจากป้าจันทร์ซึ่งเลี้ยงเขามาว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๘ โดยไม่ทราบสถานที่เกิดที่ชัดเจน ทราบเพียงว่า เกิดในประเทศเมียนมาร์ เขาอาศัยอยู่กับป้าจันทร์มาตลอด เพราะบิดาและมารดาแยกทางกัน และฝากน้องนิคให้อยู่ในความดูแลของป้ามาตั้งแต่เขาจำความได้

เขาไม่เคยมีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เมื่อเขามีอายุ ๑๕ ปี เขาเคยไปร้องขอทำบัตรประชาชนกับอำเภอ แต่ด้วยเขาไม่มีเอกสารใดๆ ของรัฐเพื่อรับรองการเกิดของเขา เจ้าหน้าที่อำเภอจึงปฏิเสธที่จะทำบัตรประชาชนให้แก่เขา

ในส่วนที่เกี่ยวกับบุพการีของน้องนิคนั้น น้องนิคเล่าว่า บิดาของเขามีชื่อว่า นายหนุ่ม เป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ ส่วนมารดานั้น มีชื่อว่า นางจริง จันทร์คำ เป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อเช่นกัน ในขณะที่น้องนิคเกิด บิดาและมารดายังไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก แต่ต่อมา มารดาได้ไปร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และเจ้าหน้าที่ของงานทะเบียนราษฎรเมียนมาร์ก็ยอมรับว่า เธอมีสัญชาติเมียนมาร์ จึงยอมรับบันทึกชื่อของนางจริงในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และออกบัตรประชาชนตามกฎหมายเมียนมาร์ให้นางจริงถือเพื่อแสดงความเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ ในปัจจุบัน นางจริง ซึ่งเป็นมารดาของน้องนิคก็ยังอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์

น้องนิคเล่าว่า เขาน่าจะเกิดในประเทศเมียนมาร์ และเดินทางตามบิดาและมารดาเข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อมีอายุประมาณ ๓ - ๔ ปี ในเวลานั้น ทั้งบิดาและมารดา ตลอดจนตัวน้องนิคไม่น่าจะมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐใดเลย มารดาพาน้องนิคมาฝากเลี้ยงไว้กับพี่สาวคนหนึ่ง ซึ่งน้องนิกเรียกว่า “ป้าจันทร์” ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง

เมื่อบิดาและมารดาแยกทางกัน เขาและน้องสาวจึงอาศัยอยู่กับป้าจันทร์ ณ จังหวัดตรัง

ในช่วงที่น้องนิคเรียนหนังสือที่โรงเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เขาเคยกรอกข้อมูลในแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) เพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร ซึ่งสำรวจโดยโรงเรียน และข้อมูลที่กรอกถูกส่งไปที่ว่าการอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แต่อำเภอสิเกาก็ไม่ได้บันทึกชื่อของน้องนิคในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในที่สุด

ใน พ.ศ.๒๕๕๕ น้องนิคจึงตัดสินใจย้ายมาอาศัยพี่สาวอีกคนของมารดาที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้องนิคเรียกว่า “ป้าเอื้อยคำ” ด้วยความหวังที่จะได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

ที่เชียงราย น้องนิคสมัครเรียนที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย น้องนิคเคยติดต่อคุณครูประจำการเรื่องการสำรวจและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร พร้อมกับทำบัตรประจำตัว แต่คุณครูแจ้งว่าบัตรประจำตัวลักษณะนี้เปิดทำเป็นช่วงเวลาเท่านั้น

หลังจากการสอบปากคำของน้องนิค ตลอดจนป้าเอื้อยคำ คณะนักวิจัยฯ ได้แนะนำให้น้องนิคพยายามติดต่อนางจริง ผู้เป็นมารดา และเพื่อที่น้องนิคจะมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง คณะนักวิจัยจึงแนะนำให้น้องนิคหารือกับนางจริง มารดา เพื่อดำเนินการ ๓ ลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) พาน้องนิคไปพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์กับทางราชการเมียนมาร์ อันจะทำให้น้องนิคได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และได้รับบัตรประชาชนที่แสดงความเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์

(๒) พาน้องนิคไปทำหนังสือเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์

และ (๓) พาน้องนิคไปร้องขอวีซานักเรียนจากสถานกงสุลไทยประจำเมียนมาร์เพื่อเดินทางกลับมาเรียนหนังสือต่อไปในประเทศไทย ดังที่น้องนิคตั้งความหวัง

ต่อมา น้องนิคแจ้งให้คณะนักวิจัยฯ ทราบว่า เขาหาตัวนางจริงมารดาจนเจอแล้ว และเขาก็ได้พยายามที่จะติดต่อทางราชการเมียนมาร์เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำของคณะนักวิจัยฯ อันทำให้น้องนิคได้การบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์แล้วในราวเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ และได้รับบัตรประชาชนตามกฎหมายเมียนมาร์ และในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ทางราชการเมียนมาร์ก็ได้ออกหนังสือเดินทางเพื่อรับรองสถานะคนสัญชาติเมียนมาร์ให้แก่น้องนิคอีกด้วย

ในปัจจุบัน เขายังอาศัยอยู่ ณ ศูนย์ทางเลือกการเรียนรู้สู่การพัฒนาและป้องกันชีวิตเด็ก “บ้านนานา” มูลนิธิพันธกิจเด็กและชุมชน บ้านป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และยังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในวันนี้ น้องนิคมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[1]

---------

คำตอบ

---------

ปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองเป็นปัญหาระหว่างรัฐเจ้าของดินแดน (Territorial State) และคนต่างด้าวที่ร้องขอเข้าเมือง จึงเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน และเมื่อเรื่องตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของน้องนิค ซึ่งเป็นคนที่เกิดในประเทศเมียนม่าร์ จากบุพการีซึ่งฟังไม่ได้ว่า เป็นสัญชาติไทย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของนิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นเรื่องระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนม่าร์ ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชนย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี แม้จะมีลักษณะระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

โดยหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่นานาอารยประเทศยอมรับ สิทธิดังกล่าวของคนต่างด้าวย่อมมีลักษณะเป็นสิทธิมีเงื่อนไข (Conditional Right) ดังนั้น คนต่างด้าวจึงไม่อาจมีเสรีภาพอย่างเด็ดขาดดังที่เป็นสิทธิของคนสัญชาติ โดยทั่วไป คนต่างด้าวจะเข้าเมืองได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงาน การเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมทำให้คนต่างด้าวนั้นมีสถานะเป็นคนที่ผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

เมื่อกรณีตามข้อเท็จจริง เป็นเรื่องการร้องขอสิทธิเข้าเมืองระหว่างน้องนิคและรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดน กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณีในที่นี้ ก็คือ กฎหมายไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นรัฐคู่กรณี และกฎหมายไทยที่จะเข้ามามีผลในที่นี้ ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยการเข้าเมืองของคนต่างด้าว เนื่องจากน้องนิคยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยและเล่าเรียนในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายไทยที่มีผลในขณะที่น้องเข้ามาในประเทศไทย กล่าวคือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๔๒

แม้น้องนิคจะอาศัยและเรียนในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น้องไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีสิทธิใดๆ ตามข้อกฎหมายใดๆ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว น้องย่อมมีสถานะเป็นคนที่ผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

จะเห็นว่า ก่อนเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ น้องนิคจึงมีสถานะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เข้ามาในประเทศไทยในลักษณะที่ผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง และตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ น้องนิคย่อมมีสถานะเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะที่ผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

เราคงเข้าใจได้ว่า น้องนิคจัดเป็นอดีตเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่อพยพจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทย ในระหว่างที่มีปัญหาความไม่สงบนักในประเทศเมียนมาร์ ความสำเร็จของการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์ของน้องนิคในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลเมียนมาร์ที่ดีมากขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาร์ ในขณะที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ น้องนิคก็จะมีสถานะเป็นคนที่ถูกถือเป็นคนที่ผิดกฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยคนเข้าเมืองอีกด้วย ไม่เพียงแต่เป็นคนที่ผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น

ขอให้ตระหนักว่า เมื่อน้องนิคได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติเมียนมาร์ในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ น้องจึงไม่อาจตกเป็นคนผิดกฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยคนเข้าเมือง เพราะกฎหมายนี้ใช้ต่อคนต่างด้าวเท่านั้น น้องไม่อาจถูกถือเป็นคนต่างด้าวในประเทศเมียนมาร์อีกต่อไป

ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาสำหรับน้องนิคและจะต้องแก้ไขต่อไปเพื่อน้องจะสามารถเรียนหนังสือได้จนจบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้น้องนิคพ้นไปจากสถานะคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ?

คำตอบก็คือ สถานะคนที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองย่อมมาจากการที่รัฐไทยอนุญาตให้สิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยแก่น้องนิค อย่างน้อยเพื่อการศึกษาที่ยังค้างคาอยู่

ดังนั้น ประเด็นต่อไปที่จะต้องพิจารณา ก็คือ ทำอย่างไรที่จะขอวีซ่าเข้าเมืองตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองแก่น้องนิค ?

จะเห็นว่า น้องนิคมีสิทธิเข้าเมืองตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ เพราะน้องมีคุณสมบัติที่จะร้องขอเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะทั่วไป ๔ ประการแรก กล่าวคือ (๑) น้องนิคมีเอกสารรับรองตัวบุคคลเพื่อเดินทาง อันได้แก่ “หนังสือเดินทาง” ที่ออกโดยประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ (๒) น้องนิคมีสุขภาพดี จึงไม่น่าจะเป็นภาระทางสาธารณสุข (๓) น้องนิคมีผู้สนับสนุนค่าเลี้ยงชีพและค่าเล่าเรียนในประเทศไทย กล่าวคือ มารดา บ้านนานา มูลนิธิกระจกเงา และมวลมิตรที่ให้การสนับสนุน และ (๔) น้องนิคไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม ดังนั้น หากเขาได้รับการตรวจลงตรา (VISA) เพื่อแสดงการอนุญาตให้เข้าเมือง และในส่วนระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย น้องนิคอาจร้องขอมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในสถานะนักเรียนนักศึกษาตามมาตรา ๓๔ (๑๐) และมาตรา ๓๕ (๓) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

และเมื่อน้องนิคได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อศึกษาในประเทศไทย น้องนิคก็จะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ในวันนี้ จึงมีความจำเป็นที่บ้านนานาและมูลนิธิกระจกเงาจะต้องช่วยเหลือน้องนิคในการเดินทางไปยื่นขอวีซ่านักเรียนต่อสถานกงสุลในประเทศเมียนมาร์เพื่อที่น้องนิคจะได้กลับมาประเทศไทยเพื่อศึกษาจนจบในชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยดังที่น้องตั้งความปรารถนา

แม้ในวันนี้ น้องน้องนิคจะยังไม่มีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ในวันพรุ่งนี้ น้องนิคย่อมมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง เมื่อมีการตรวจลงตราโดยสถานกงสุลไทยในหนังสือเดินทางของน้องนิคที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์แล้ว

เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ คณะนักวิจัยในโครงการเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปหารือกับคณาจารย์ของโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายถึงแนวคิดและขั้นตอนในการจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่น้องนิค


[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคฤดูร้อน

หมายเลขบันทึก: 574697เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 03:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 03:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท