แนะนำมูลนิธิพูนพลัง


ช่วยเหลือการศึกษาแก่เด็กยากจน โดยเฉพาะเด็กกำพร้า

แนะนำมูลนิธิพูนพลัง
วันที่ ๒๒ ตค. ๔๘ ผมไปประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพูนพลัง (www.geocities.com/poonpalang)   ซึ่งเป็นมูลนิธิเล็กๆ    ทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม    ในด้านการช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้รับการศึกษาและความรักความเอาใจใส่    มีการรับรองรายงานการประชุมคราวที่แล้ว    จึงนำมาเผยแพร่  


รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิพูนพลัง
ครั้งที่ 3/2548  วันที่ 31 .. 2548 เวลา 10:30 น.
ณ สำนักงานมูลนิธิ          

ผู้มาประชุม                                                    
1.นาย วิจารณ์      พานิช
2.นาย ภูมิพัฒ      แสงอุดมเลิศ
3. นาย เศรษฐา  ปานงาม
4. นางสาว รัชดา     ด่านพงษ์เจริญ
5. นาย วฤษณิ์       สีดอกไม้         
6. นางสาว มุทิตา  พานิช                 
ผู้เข้าร่วมประชุม
1. นาง วิริชดา    ปานงาม
ผู้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม
1. นางสาว ตติยา  ตรงสถิตกุล
เริ่มประชุมเวลา 10:30

วาระที่1  เรื่องแจ้งเพื่อทราบ

รายงานการดำเนินกิจการมูลนิธิ เดือน เมษายน - มิถุนายน 2548
1.1 สถานภาพทางการเงิน  ณ วันที่ 30 มิ.ย. 48  
ทรัพย์สินปัจจุบัน  1,686,144.23  บาท
เงินบริจาค เดือน มี.ค. - เม.ย.  รวม  8  ราย    332,420.00   บาท
(จาก C.A.N. H.E.L.P. Thailand 245,920.00 บาท)
เงินบริจาค เดือน พ.ค. - มิ.ย.  รวม 11  ราย   990,623.50   บาท
(จาก C.A.N. H.E.L.P. Thailand 839,613.50 บาท)
พระมานิต มานิโต สวนโมกขพลาราม บริจาคแสตมป์เพื่อใช้ตอบจดหมายเด็กๆ 2 ครั้งแล้ว ครั้งละประมาณ 300 บาท
1.2  กิจกรรมต่างๆ 16 เม.ย.-15 ก.ค. 2548    
5-7 พ.ค. ตลาดนัดความรู้ผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเยาว์
7-15 มิ.ย. พิธีมอบทุนการศึกษาครั้งที่ 1/2548 จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม
18-19 มิ.ย. พิธีมอบทุนการศึกษาครั้งที่ 2/2548 จังหวัดกรุงเทพมหานคร
13-15 ก.ค. ตลาดนัดผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 2
1.3 โครงการทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา
- น.ส. ตอยีมะห์ ดอเลาะ (ปัตตานี) แจ้งว่าเงินกู้ยืมยังไม่ออกอีก ทั้งๆที่ศึกษาสถาบันเดิม
- น.ส. ดอกรักษ์ แพงแก้ว (มุกดาหาร) ตกลงใจเข้าเรียนวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม
- น.ส. ปะวีนัด อินทร์ศรี (มุกดาหาร) เข้าเรียนราชภัฎสกลนคร สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
- นักศึกษาคนอื่นๆรายงานตัวตามปกติ (ยาการียา ลาเต๊ะ เงินกู้ยืมยังไม่ออก)
1.3 โครงการนิทานสานฝัน
แจ้งผลนิทานสานฝันแล้ว
ประกวดสำหรับเทอม 1/2548 กำหนดให้มีการประกวดการเขียนและการวาดที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องน้ำใจ(ปิดรับสมัครสิ้นเดือนกันยายน เพื่อให้นักเรียนทางอีสานเหนือมีโอกาสประกวดด้วย)    กับการประกวดนิทานในหัวข้อ กระเป๋า (หัวข้อเพื่อคัดเลือกไปประกวดที่ญี่ปุ่น)
1.4 โครงการสนับสนุนการศึกษาชนเผ่าภาคเหนือ
            - โอนทุนการศึกษาปี 2548  70,000 บาท ไปมูลนิธิไทย-ลาหู่ (เงินบริจาคจาก C.A.N. H.E.L.P. Thailand)
            - โอนค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่บ้านพักกาสะลอง 7000 บาทต่อเดือน * 12 เดือน
            - เตรียมค่ายเดือนสิงหาคมทำระบบน้ำ โครงการด้านการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง
1.5 โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเยาว์
            งานตลาดนัดความรู้ผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเยาว์ 5-7 พฤษภาคม ที่ อาศรมวงศ์สนิท จ.นครนายก (เอกสารแนบที่ 1.5.1) ความขัดแย้งทางความคิดที่มี 2 ขั้วค่อนข้างชัดเจน คือ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีใจแบ่งปันให้สังคม กับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือนักพัฒนาอิสระ
            กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ เห็นว่า ต้องพึ่งตนเองให้ได้ก่อน คือต้องมีเงินก่อน เมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว (บนพื้นฐานความพอเพียงของตนเอง) สามารถแบ่งปันให้สังคมได้มากเท่าที่ต้องการ ทั้งด้านเวลา (สามารถจัดเวลาได้) และทรัพยากรอื่น นักพัฒนามีแต่ใจ ไม่มีศักยภาพในการดำเนินงานให้ต่อเนื่องจริงๆ เพราะโลกปัจจุบันต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
            กลุ่มนักพัฒนา    เห็นว่า  ต้องมีอุดมการณ์ ทำตามความฝันเพื่อสังคมให้ได้ ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร การทำธุรกิจมุ่งเน้นกำไรมาก่อน พูดทุกอย่างเริ่มต้นด้วยเงิน การมาแบ่งปันเพื่อสังคมก็เพื่อให้ภาพลักษณ์ธุรกิจดูดี   ปัญหาเรื่องเงินของกลุ่มนักพัฒนา สามารถแก้ไขได้โดยหาแหล่งทุนที่เข้าใจและไม่กำหนดเงื่อนไขมาก
            ระหว่างกระบวนการพยายามนิยามกลุ่ม มีความพยายามขีดกรอบคุณลักษณะของสมาชิกหลายครั้ง แต่ละครั้งจะมีคนที่ถูกกันออกไปนอกกรอบ บรรยากาศมีการแบ่งแยก  แต่ก็มีคนที่คิดเป็นกลางอยู่บ้าง
            สุดท้าย ผู้จัดสรุปนิยามจากที่ทุกคนแสดงความเห็น พยายามให้ทุกคนอยู่ในกรอบเพื่ออยู่ในกลุ่มได้ทั้งหมด นิยามจึงออกมากว้างมาก
            แต่เมื่อได้นิยามที่ไม่มีใครอยู่นอกกลุ่ม ทุกคนก็สบายใจและไม่สนใจที่จะพยายามนิยามอีก มุ่งไปที่ว่ารวมกลุ่มแล้วอยากทำอะไรร่วมกัน
            จริงๆแล้วหากไม่สนใจเรื่องนิยาม คนในกลุ่มสามารถรับรู้ความมุ่งมั่นที่แบ่งปันของผู้เข้าร่วมทุกคนได้
งานตลาดนัดผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 2 วันที่ 13-15 กรกฎาคม ที่แก่งกระจานริเวอร์ไซด์รีสอร์ทค่าย จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ของเอ๊ะ (พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์) สมาชิกในกลุ่มคนหนึ่ง (เอกสารแนบที่ 1.5.2) บรรยากาศเป็นมิตรมากขึ้น เนื่องจากทุกคนรู้จักกันมากขึ้น มีผู้เข้าร่วม 25 คน เป็นสมาชิกใหม่ 8 คน มีคนทำสื่อวีดีโอ รายการทีวีด้วย 1 คน พูดคุยกันในเนื้องานของแต่ละคน กิจกรรมที่จะมีต่อไปทั้งส่วนตัวและของกลุ่ม มีการร่วมมือกันจัดกิจกรรมเกิดขึ้น (คอร์สทดลองตลาดวิชา อาศรมวงศ์สนิท เรื่องการวาดด้วยใจ พี่ไกรฤกษ์เป็นวิทยากร)  หลังจากงานมีการไปเยี่ยมกิจการบ้านช่องของเพื่อนที่อยู่ใกล้เคียง
            ในงานมีวิทยากร 2 ท่าน คือ คุณโสภณ สุภาพงษ์ และคุณ ศุ บุญเลี้ยง ช่วยลบเส้นแบ่งความแตกต่างด้านความคิดปลีกย่อยของสมาชิกในกลุ่มได้ค่อนข้างมาก คุณศุ บุญเลี้ยงและภรรยาสนใจให้ความร่วมมือกับกลุ่ม โดยสมัครเป็นสมาชิกและร่วมกำหนดวันตลาดนัดครั้งที่ 3 คือวันที่ 9-11 ตุลาคม ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
            หลังงาน มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องหลายเรื่อง เช่น หมอนิล (มารุต เหล็กเพชร) ทำ weblog ของกลุ่ม ใช้ชื่อ ผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเรา http://ysvn.exteen.com เอ๊ะ (พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์) บริจาคเงินเพื่อสร้าง website กำลังจองในชื่อ www.ysvnthailand.net หรือ .org  พี่จุ้ย(ศุ บุญเลี้ยง) และพี่จ๋า (พวงมณี บุญเลี้ยง) ส่งข่าวที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในกลุ่มมาเรื่อยๆ เช่น ซัมซุงเปิดโครงการให้หน่วยงานหรือกลุ่มที่ทำงานเพื่อคนด้อยโอกาสขอทุน แนะนำสถานที่ที่สามารถจัดกิจกรรม แนะนำคนที่น่าสนใจพูดคุยแลกเปลี่ยน (ขณะนี้มีเวทีแจ้งข่าวใน group [email protected])  มุ (มุทิตา พานิช) กับริน (ไพริน พงษ์สุระ) เดินเรื่องพาเยาวชนไปเข้าค่ายแลกเปลี่ยนและประชุมนานาชาติเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคม พี่ไกร (ไกรฤกษ์ พงษ์ทอง) แนะนำเพื่อนที่ทำชมรมสร้างสรรค์สุนัขพันธุ์ไทยที่มีโครงการในฝันอีกหลากหลาย
1.9 กำหนดการ 16 ก.ค. –   
31 ก.ค.  ออกจดหมายข่าวฉบับเดือนสิงหาคม 2548

4-23 ส.ค.  ค่ายอาสาจากญี่ปุ่น ทำเล้าไก่ คอกหมู และปรับปรุงสิ่งแวดล้อม บ้านพักกาสะลอง จ.เชียงใหม่

10 ส.ค. กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์ พบเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคม(รุ่นใหญ่)

27ส.ค. – 1 ก.ย. มอบทุนการศึกษาต่อเนื่อง จังหวัด มุกดาหาร นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ พร้อม เยี่ยมนักเรียนทุน

4-16 ก.ย. ค่ายเยาวชนแลกเปลี่ยน สร้างบ้านด้วยฟางข้าว จังหวัดยามางูจิ ประเทศญี่ปุ่น 

17-19 ก.ย. ประชุมนานาชาติ

9-11 ต.ค. ตลาดนัดผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์ ครั้งที่3
 ที่บ้านแห่งความหวัง อ.ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่

วาระที่2  รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 2/2548

            ฝ่ายเลขานุการได้จัดส่งรายงานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ครั้งที่ 2/2548 ให้กรรมการทุกท่านเพื่อพิจารณารับรอง เมื่อวันที่  20 มิถุนายน 2548  จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
มติ         ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ครั้งที่ 2/2548
                                                                                                มูลนิธิพูนพลัง 
                                                                                                31 กรกฎาคม 2548
วาระที่3  เรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน
3.1 การจัดพิมพ์หนังสือ น้ำใจไมตรีที่วิเศษ รวบรวมโดย คุณอาทร จันทวิมล
เลขานุการดำเนินการจัดพิมพ์เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2,000 เล่ม ราคา 30,000 บาท นำไปแจกให้กับนักเรียนทุนและโรงเรียนที่นักเรียนเรียนอยู่  พร้อมประกาศรับสมัครประกวดด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำใจ มีนักเรียนส่งข้อเขียนมาแล้วพอสมควร
3.2 การจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ และเปลี่ยนแปลงข้อบังคับมูลนิธิ
     เลขานุการดำเนินการที่เขตวังทองหลางแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2548 ยังเหลือการไปสัมภาษณ์ของกรรมการบางท่าน คือ กรรมการ รัชดา ด่านพงษ์เจริญ และ กรรมการวฤษณิ์ สีดอกไม้ จะไปสัมภาษณ์โดยเร็ว
3.3 เรื่องการตรวจบัญชีมูลนิธิ ตามที่คุณปาจรีย์ พฤฑฒิกุล ให้ข้อมูลเรื่องมีบริษัทตรวจบัญชีที่รับตรวจบัญชีมูลนิธิในราคายุติธรรม เลขานุการสอบถามไปทางสำนักงานเฟื่องทองการบัญชีและทนายความแล้ว เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำอย่างดีและยินดีตรวจบัญชีให้ แต่ถ้าจะตรวจในราคาถูกพิเศษ (มีเงินทุนสะสมเกิน 1 ล้าน แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท คิด 1,500 บาทต่อปี) ต้องเป็นสมาชิกตลอดชีพของสมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ถ้าไม่เป็นสมาชิกค่าตรวจปีละ 5,000 บาทขึ้นไป
            เลขานุการติดต่อสมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทยฯ เพื่อลองสอบถามเรื่องบัญชีมูลนิธิ (สันนิบาตจะให้คำปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธิ) แต่ไม่ได้รับคำปรึกษา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ด้านมูลนิธิออกไปสัมมนาต่างจังหวัดหมด คนรับโทรศัพท์พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ประทับใจสันนิบาตนัก
           
วาระที่4  เรื่องเสนอเพื่อพิจารณาและขอคำปรึกษา
4.1  การเข้าเป็นสมาชิกตลอดชีพสมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย เพื่อขอใช้บริการตรวจบัญชีราคาถูกพิเศษ มีค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
                        รองประธานเสนอว่าอาจสามารถหาอาสาสมัครตรวจบัญชีมูลนิธิให้ได้ ที่ประชุมจึงมีมติให้เลขานุการจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้แก่รองประธานเพื่อใช้ในการหาอาสาสมัครช่วยตรวจบัญชี และเพื่อขอคำแนะนำในการจัดทำบัญชี
4.2        ด.ช. ชาลีรักษ์ ส่งเอกสารเพื่อขอรับทุนต่อเนื่อง (อาสาสมัครช่วยตอบจดหมาย ชลทิศ (ดง) เป็นผู้เสนอ พระมานิต มานิโต  สวนโมกขพลาราม ช่วยดูแล)   
(เอกสารแนบที่ 4.2)
             ที่ประชุมมีมติอนุมัติทุนการศึกษา ด.ช. ชาลีรักษ์ ทัพแสง โดยให้เลขานุการดำเนินการโอนทุนให้นักเรียนต่อไป
4.3        ทิศทางโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์
   ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมขบวนการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะบุคลิกของกลุ่มที่เป็นกันเอง และแทบทุกคนไฟแรง ชอบทำกิจกรรม แทบทุกคนเลี้ยงตัวเองและเลี้ยงกิจการกิจกรรมที่ทำอยู่ได้ แต่ยังมีความฝันเพิ่มเติมอีก เมื่อมาพบกันจึงเป็นการช่วยให้กำลังใจ ช่วยกันทำความฝันที่สนใจให้เป็นจริง
       อย่างไรก็ตามยังมีสมาชิกบางคนในกลุ่มที่มีทีท่า “รอเงินสนับสนุน” ”อยากให้คนจากแหล่งทุนมาเข้าร่วมสนทนาและช่วยเหลือ” อยู่บ้าง
              เลขานุการเสนอขอความเห็นจากกรรมการเรื่องทิศทางโครงการนี้
               กรรมการให้ความเห็นต่อโครงการนี้อย่างหลากหลาย สรุปได้ว่า มูลนิธิพูนพลังจะไม่เป็นแหล่งทุนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์ โดยสนับสนุนให้กลุ่มดำเนินการตามเป้าหมายร่วม ที่ได้ตั้งไว้ คือ เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเยาว์ และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นเยาว์
4.4 เรื่องการจ้างเจ้าหน้าที่   หากมูลนิธิจะทำหน้าที่เป็นกองหนุนขบวนการผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นเยาว์อย่างเต็มที่ (ในเรื่องการจัดทำข้อมูล การส่งข่าวสารประสานงาน การเผยแพร่กิจกรรม) คงต้องเริ่มจ้างเจ้าหน้าที่แล้ว เนื่องจากเลขานุการทำคนเดียวไม่ไหว (โดยเฉพาะช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. จะหนักมาก) ถ้าจะจ้างเจ้าหน้าที่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ พูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย มีใจรักงานด้านนี้ สามารถออกต่างจังหวัดได้ ควรตั้งเงินเดือนไว้ที่กี่บาท (สภาพการเงินประมาณนี้มีพอจ้างเดือนละ 7,000 บาท ได้ทุกปีเป็นเวลา อย่างน้อย 4 ปี)
             ประธานเห็นว่าการดำเนินการกลุ่มต้องมีองค์ประกอบที่ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้ในระยะยาว หากจะจ้างเจ้าหน้าที่ควรเลือกจากคนที่เห็นคุณค่าในงาน ควรปรึกษาคุณวิเชียร เจษฎากานต์ (มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์) รวมทั้งให้คุณวิเชียรช่วยดูแลเจ้าหน้าที่ดังกล่าวหากมีการจ้างจริง (ไม่ควรผูกติดกับมูลนิธิพูนพลัง)
วาระที่ 5  เรื่องอื่นๆ 
กําหนดประชุมครั้งต่อไป วันอาทิตย์ที่ 22  ตุลาคม 2548
มูลนิธินี้รับรองว่าเงินบริจาคถึงมือเด็กจริงๆ ประธานมูลนิธิรับประกันครับ     ใครสนใจบริจาคติดต่อได้ที่ [email protected] หรือ 02 514 1794, 01 772 2358 ติดต่อคุณมุทิตา พานิช    บริจาคเพียงปีละ 2,000 บาท ช่วยเหลือเด็กชั้นประถมได้ ๑ คน    3,000 บาท ช่วยเด็กชั้นมัธยมได้ ๑ คน   หรือจะบริจาคแบบไม่ระบุวัตถุประสงค์ก็ได้ ความช่วยเหลือถึงตัวเด็กเหมือนๆ กัน  และมีการตรวจสอบติดตามผลด้วย

             

                        กรรมการ 1                                      กรรมการ 2

                                        

                                                 บรรยากาศการประชุม


วิจารณ์ พานิช
๒๒ ตค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #มูลนิธิ#philantropy
หมายเลขบันทึก: 5744เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2005 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท