วิสัยทัศน์พนักงานข้าราชการส่วนท้องถิ่น


วิสัยทัศน์พนักงานข้าราชการส่วนท้องถิ่น

วิสัยทัศน์พนักงานข้าราชการส่วนท้องถิ่น

2 สิงหาคม 2557

1. ความคาดหวัง และเป้าหมายในการปฏิบัติงาน

(1) วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ หมายถึง การสร้างภาพอนาคต หรือการมองอนาคตซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการเดินไปสู่อนาคต โดยวิธีการนำเอาระบบการวางแผนมาใช้ หรือหมายถึงสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตและเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม วิสัยทัศน์ จะเกิดจากการรู้จักคิดโดยใช้ปัญญา และมุ่งมั่นให้เกิดขึ้นจริง

สรุปความหมายของวิสัยทัศน์ รวมแยกประเด็นได้ 8 ประการ คือ (1) เพื่ออนาคต (2) ชัดเจน (3) สะท้อนสิ่งที่เป็นแง่บวก (4) ยิ่งใหญ่ (5) ส่งผลปฏิบัติการเชิงรุก (6) เป็นจริงได้ (7) กระตุ้นแรงบันดาลใจ และ (8) กระทำจนสำเร็จ

ขอเสนอวิสัยทัศน์การทำงาน ดังนี้

“ เศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายประชาชน ธรรมาภิบาล ทำงานโปร่งใส

โดยมีแนวทางปฏิบัติตามวิสัยทัศน์เสริมในการทำงานของข้าราชการ ลูกจ้าง ส่วนท้องถิ่น ดังนี้ “ทีมงานต้องเป็นหนึ่ง รู้ซึ้งการพัฒนา ชาวประชาพอใจ” “unique team , create developing , satisfying people”

โดยมีความคาดหวังและเป้าหมายในการปฏิบัติงานตามองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1.1 เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ คือ การดำรงชีวิตในความพอดี มีชีวิตใหม่ หวนกลับมาใช้วิถีชีวิตไทย

1.2 นำหลักการสำคัญของระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Good Governance) 6 ประการ คือ (1) หลักนิติธรรม (2) หลักคุณธรรม (3) หลักความโปร่งใส (4) หลักการมีส่วนร่วม (5) หลักความรับผิดชอบ และ (6) หลักความคุ้มค่า และ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 

(เป็นหลักการเดิมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ซึ่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้มีประกาศยกเลิกแล้ว ด้วยเหตุผลว่าซ้ำซ้อนกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 แต่หลักการยังใช้ได้คงเดิม)

1.3 นำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ทรงพระราชทานแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เนื่องในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยได้สถาปนาครบรอบ 100 ปี มาเป็นหลักในการปฏิบัติงานโดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ “ความสุขสวัสดีของทวยราษฎร์” โดยมีหน้าที่ในการ “อำนวยความสุขสวัสดีแก่ทวยราษฎร์” ในงาน 4 ด้าน คือ (1) การอำนวยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (2) การพัฒนาอาชีพและฐานะความเป็นอยู่ (3) การพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุขและความสามัคคีฯ (4) การให้การศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่แจ่มใส มีหลักปฏิบัติ 3 หลัก คือ (1) ปฏิบัติงานให้ประสานสอดคล้องและดำเนินก้าวหน้าไปด้วยกัน เสมอกัน พร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย (2) ปฏิบัติการทุกอย่างด้วยความสุจริตเที่ยงตรง สมควร และถูกต้องด้วยหลักวิชา ความชอบธรรม โดยไม่มีอคติ (3) ประสานงานกับทุกหน่วยงานด้วยความสมัครสมาน และความเข้าใจอันดีต่อกัน

1.4 นำยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทย และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาเป็นหลักในการปฏิบัติงาน ภายใต้วิสัยทัศน์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 - 2559

ที่ว่า “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”

ดังนี้

- วิสัยทัศน์กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2556 – 2561 คือ

“ เป็นกระทรวงหลักในการบริหารจัดการและบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ”

“ การพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรในการบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ” (ประเด็นยุทธศาสตร์ ข้อ 6)

- วิสัยทัศน์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (Vision)

“ เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ”

โดยมีค่านิยม (Value) ว่า “ ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล มุ่งเน้นบริการให้คำปรึกษา พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ”

- วิสัยทัศน์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (พ.ศ. 2557 – 2560) นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (20 มิถุนายน 2556)คือ

“ เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ”

“To be the main organization responsible for enhancing the efficiency of local administrative organizations in performing their duties in accordance with the good governance principle for the benefit of the people.”

ตามประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 : ยกระดับขีดความสามารถของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้มีสมรรถนะสูง

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลและกิจการสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักธรรมาภิบาล

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานการเงินและการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีอิสระและพึ่งพาตนเองได้

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 : เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ

- ตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (พ.ศ. 2557 – 2560) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ

โดยมีเป้าประสงค์ ดังนี้

1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการจัดบริการสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ทั้งภารกิจที่ดำเนินการเอง ภารกิจถ่ายโอนและภารกิจที่ริเริ่มใหม่

2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดบริการสาธารณะเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศและมีความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบร่วมมือกัน

และโดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

5.1 พัฒนาสมรรถนะบุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้านการจัดบริการสาธารณะ

5.2 พัฒนาระบบฐานข้อมูล สารสนเทศและการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมการจัดบริการสาธารณะ

5.3 สร้างและใช้ภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

5.4 พัฒนาและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐานตามภารกิจถ่ายโอน

5.5 พัฒนาและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

5.6 พัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษา กิจกรรมนันทนาการและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น

5.7 ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

5.8 ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและจัดสรรสวัสดิการทางสังคม

5.9 ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการด้านสาธารณสุข

5.10 ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

5.11 ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

5.12 เตรียมความพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

(2) กลยุทธการปฏิบัติงานและการประสานงาน

- เน้นในเรื่องของการประสานการทำงานร่วมกับอำเภอ จังหวัด ทุกส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ และ ประชาชนในเขตพื้นที่

- การประสานการทำงาน จะใช้ในลักษณะของการประสานอย่างไม่เป็นทางการ (Informal) เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว คล่องตัว

- เปิดใจกว้าง ประสานประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ประชาชน ไม่แบ่งพวก เน้นความสำเร็จของงานส่วนรวมเป็นหลัก

- เน้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ และยอมรับว่า การทำงานทุกอย่างต้องใช้ “แผน”เป็นหลักในการปฏิบัติ

- ส่งเสริม เผยแพร่ ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ให้ประชาชนได้รับรู้ตลอดเวลา

- เป็นผู้นำของพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะสร้าง “ศรัทธา” ให้เกิดแก่ประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะร่วมกันพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ให้สำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล

- ใช้กระบวนการบริหารจัดการ (POSDCORB , MBO ฯลฯ)

- ใช้หลักธรรมมาภิบาล  หรือ ระบบบริหารและการจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance Principles) 

(3) กลยุทธการพัฒนาองค์กรในภาพรวม

- นำหลัก 5 ส. คือ สะอาด สะดวก สุขลักษณะ สะสาง สร้างนิสัยมาใช้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งภายใน และ ภายนอกองค์กร

- เสริมสร้างขวัญ กำลังใจ ไม่ว่าจะในเรื่องความก้าวหน้าในชีวิตราชการ สวัสดิการ ของผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา

- จัดหาอุปกรณ์ประจำสำนักงานที่ทันสมัย ให้เพียงพอกับความต้องการ และ ยุคของความเจริญก้าวหน้าด้านข่าวสาร และ เทคโนโลยีสมัยใหม่

- กระจายอำนาจการตัดสินใจ ลงไปสู่ผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นให้มากที่สุด เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ฯลฯ ได้อย่างอิสระทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ก่อให้เกิดการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

- นำกระบวนการ PDCAหรือ Six sigma (เทคนิคการบริหารสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดความเบี่ยงเบนน้อยที่สุด โดยมีค่าความเบี่ยงเบนในระดับ 6 ซึ่งเท่ากับค่าผิดพลาดเพียง 2 ส่วนในล้านส่วน) มาใช้คือ

P = PLANโดยมีการวางแผนร่วมกันทุกหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน

D =DOดำเนินการปฏิบัติตามแผนทุกขั้นตอนมอบหมายงานให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ

C =CHECKตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกฝ่ายเป็นระยะ

A =ACTIONปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกขั้นตอนจนงานสำเร็จ

2. แนวทางปฏิบัติในการพัฒนางานในหน้าที่

ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งในสถานะของผู้บังคับบัญชาหรือผู้ปฏิบัติงานของพนักงานประจำ (พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ลูกจ้าง) ที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีหลักปฏิบัติ ดังนี้

2.1 หลักความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่

เมื่อมีหน้าที่ ต้องมีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นดูจากบทบาทหน้าที่ที่ได้รับเป็นที่ตั้ง นักบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้อง รับผิดชอบต่อผู้บังคับบัญชา ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ต่อสังคม และ ต่อประชาชนโดยเฉพาะ “การรับผิดชอบต่อประชาชน” สำคัญที่สุด

2.2 แนวทางการทำงาน และความประพฤติ

2.2.1 แนวทางการทำงาน

- ยึดหลักคุณธรรม 4 ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นที่ตั้ง

- ปฏิบัติงานอย่างทุ่มเท และ เสียสละ รักและเห็นความสำคัญของอาชีพราชการ โดยยึดหลักระเบียบ กฎหมายเป็นที่ตั้งกล่าวคือ ยึดหลัก “ความถูกต้อง” ไม่ใช่หลัก “ความถูกใจ”โดยมีเป้าหมายการทำงานอยู่ที่ “ประชาชน”

- ใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการปฏิบัติราชการ เช่น พรหมวิหาร/ธรรมของผู้นำ 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) สังคหวัตถุ/ธรรมอันเป็นเครื่องผูกมิตร 4 (ทาน ปิยะวาจา สมานัตตา อัตถจริยา) อิทธิบาท/ธรรมซึ่งทำให้สำเร็จ 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ธรรมอันทำให้งาม 2 (ขันติ โสรัจจะ) ธรรมอันมีอุปการะมาก 2 (สติ สัมปชัญญะ) ธรรมโลกบาล/ธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก 2 (หิริ โอตัปปะ) หลักธรรมที่ควรงดเว้น 2 ( อคติ/ความลำเอียง 4 อบายมุข/เหตุแห่งความฉิบหาย 6) สัปปุริสธรรม/ธรรมที่ช่วยให้เป็นผู้ประเสริฐ 7(รู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน คน)ฯลฯ

- ส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนให้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหาตามความเหมาะสมและตามอัตภาพของชุมชน

- พัฒนาส่งเสริมด้านการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยให้กับประชาชน ตามแนวที่ว่าการป้องกันดีกว่าการรักษา

- ป้องกันเยาวชนของชาติให้หลีกพ้นจากยาเสพติดอย่างสิ้นเชิงโดยใช้หลักการป้องกันในทุกรูปแบบเป็นหลัก

- ให้ความยุติธรรม ทั้งในด้านของกฎหมาย และการพึ่งพาอาศัยระบบราชการแก่ประชาชนได้ทุกเมื่อ เพื่อเป็นการตัดต้นตอสาเหตุที่ทำให้เกิดมีผู้มีอิทธิพล เพราะประชาชนที่ถูกเอาเปรียบจากระบบราชการ หรือไม่ได้รับความยุติธรรมจะหันไปพึ่งพาผู้มีเงิน มีบารมี มีอิทธิพลในที่สุด

- ยึดประชาชนเป็นเป้าหมายโดยการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ การบริการที่มีคุณภาพสูง ประสิทธิภาพสูง

2.2.2 ความประพฤติ

- ข้าราชการต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างให้เกิดความรัก ศรัทธา อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือกับทางราชการอย่างเต็มที่

- เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการครองเรือน รักครอบครัว ดูแลครอบครัวของเราให้ดีที่สุด คือ ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว

- เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ในการปฏิบัติหน้าที่ ต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความซื่อสัตย์สุจริต

- อ่อนน้อม ถ่อมตน มีเหตุผล

- มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประหยัด เสียสละ มีความเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ

- ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม/หลักธรรมสำหรับนักปกครอง (คุณธรรมที่มาจากหลักธรรมของศาสนาที่เอื้ออำนวยต่อการปกครอง) คือ

1. ทาน (ให้เพื่อบูชา/สงเคราะห์)2. ศีล (การรักษามารยาท)3. บริจาค (ให้เพื่อการสาธารณะ ข่มความโลภ)4. อาชวะ (มีอัธยาศัยซื่อตรง)5. มัทวะ (มีอัธยาศัยอ่อนโยน)6. ตปะ (มีความเพียรเอาชนะบาปความชั่ว)7. อโกธะ (ไม่โกรธ) 8. อวิหิงสา (ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น)9. ขันติ (อดกลั้นต่อกิเลสและทุกข์)10. อวิโรธนะ (ไม่มีผิดจากความเที่ยงตรง)

3. บทสรุป

การปฏิบัติงานในหน้าที่โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการการบริหารเป็นการใช้ศาสตร์และศิลปะการบริหารงานควบคู่กันไปผู้บริหารจะต้องมีภาวะความเป็นผู้นำหลักการบริหารจึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่โดยยึดถือประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นสำคัญดังนั้นหลักธรรมตามพระพุทธศาสนาหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (หลักธรรมมาภิบาล)จึงนับว่าเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งนอกจากนั้นนักบริหาร จะต้องนำหลักการบริหารงานกระบวนการบริหารจัดการมาใช้และดำเนินการไปตามขั้นตอนมีการวางแผนกำหนดเป้าหมายวัตถุประสงค์ควบคุมดูแลตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานรายงานผลการปฏิบัติงานให้ผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การนำเสนอวิสัยทัศน์นี้เป็นการเสนอแนวคิดความคาดหวังเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งพนักงาน หรือ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง

ข้อเสนอแนะ

ไม่ว่าสภาพของสังคมไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ทั้งในแนวความคิด วิธีการทำงาน ความประพฤติ ให้สอดคล้อง สามารถปฏิบัติงานตามนโยบาย และ ภารกิจของกระทรวงมหาดไทยให้สำเร็จ มีประสิทธิภาพให้ได้จึงจะถือว่าปฏิบัติงานได้ผลสมกับที่ประชาชนไว้วางใจ ด้วยวิสัยทัศน์

“ เศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายประชาชน ธรรมาภิบาล ทำงานโปร่งใส

4. ภาคผนวก

เอกสารอ้างอิง

- บันทึกนักปกครอง และ บันทึกท้องถิ่น

- คู่มือการศึกษาอบรม วิทยาลัยการปกครอง

- คู่มือการศึกษาอบรม สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

- นวโกวาท

- "ซิกซิกม่า (SIX SIGMA)", มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

http://uhost.rmutp.ac.th/tasanee.p/Unit%204/4-3Technic.htm#sigma

- "การบริหารคุณภาพด้วย Six Sigma", ศูนย์รวมข้อมูลด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ สยามเอชอาร์เอ็มดอทคอม

http://hrm.siamhrm.com/report/management_report.php?max=23

- "การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าประสงค์"

http://113.53.232.212/~pcc29/Plan/Vision.ppt

- Quality Assurance News, "ความหมายของคำว่าวิสัยทัศน์ (Vision)" ,  จาก www.snamcn.lib.su.ac.th (มหาวิทยาลัยศิลปากร) ดูใน http://suanpalm3.kmutnb.ac.th/thai/readnews.asp?id=498

- รองศาสตราจารย์เทื้อน ทองแก้ว, "การพัฒนาวิสัยทัศน์ : หลักการและแนวปฏิบัติ", มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

http://www.arit.dusit.ac.th/km/wp-content/uploads/2010/11/vision-dev.pdf

หมายเลขบันทึก: 573679เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2014 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2017 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท