บทเรียนจากการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา


วันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฏาคมนี้ ข้าพเจ้าได้ขอขอบคุณที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม Morning Dialog ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานการประชุม ในหัวข้อ บทเรียนจากการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา นำเสนอโดย คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการ และคุณสุจินดา งามวุฒิพร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ ทั้งนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล มีบทบาทในการเป็นผู้กระตุ้น สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดกระบวนการทำงานในการจัดการความรู้ด้วยวิถีของ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลาดนัดความรู้ และการตั้งวงคุยในลักษณะ Community of Practice (CoP)ที่มีองค์ประกอบแบบองค์รวมและเชิงปัจเจกของบุคลากรทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และนักเรียน บนเส้นทางของ ความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ และขยายผล อย่างกว้างขวางในลักษณะเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน

หัวใจสำคัญของโครงการ คือ การค้นหาและต่อยอดโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจำนวนหนึ่ง ที่สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยกระบวนการทำงานเชิงลึก เพื่อเพิ่มศักยภาพ ด้วยการกำหนดให้แต่ละโรงเรียนสร้างตารางอิสรภาพ ตั้งเป้าหมายและวิเคราะห์จุดอ่อน/จุดแข็ง เพื่อประเมินตนเอง สู่การทำแผนเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการได้รับความสนับสนุนจากผู้ทรงคุณวุฒิในการออกแบบการเรียนรู้ สู่การปฏิบัติบนทุนและความมีใจตั้งมั่นในการทำงานของแต่ละโรงเรียน

ในการพัฒนากระบวนการติดตามการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้ใช้หลัก ๗ คำถามสำคัญ (แนวคิดของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติเกิดการคิดวิเคราะห์ทุกครั้งที่จะลงมือทำ คือ

๑. จะทำอะไร ? ทำไมจึงทำ?

- พิจารณา : ความสำคัญ ประโยชน์ ความคุ้มค่า

๒. มีความพร้อม / ความเป็นไปได้ที่จะทำหรือไม่?

- พิจารณา: ความรู้+5M (man,money,materials,management,market)

- ตัดสินใจ : ทำได้, ทำได้แต่ต้องปรับ / เปลี่ยนเป้าหมาย,ทำไม่ได้

๓. มีความรู้เพียงพอในเรื่องที่จะทำหรือไม่? ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

- พิจารณาและศึกษาหาความรู้ที่จำเป็น : รอบรู้ (รู้กว้าง,รู้ละเอียด,รู้ลึก)

๔. จะทำอย่างไร จึงจะเกิดความพอดี / พอประมาณ และสามารถรองรับปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้?

- ใช้หลักคุณธรรมอะไร? (ทำเพื่ออะไร?-เงื่อนไขคุณธรรม)

- ทำอย่างไรจึงจะพอดี / พอประมาณ

- พิจารณาโดยใช้หลักเหตุ หลักผล / ผลที่จะตามมาจากการกระทำ

- พิจารณาให้เหมาะสมกับตน ไม่เบียดเบียนตนเองให้เดือดร้อน

- พิจารณาให้เหมาะสมกับผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน

- พิจารณาให้เหมาะสมกับบริบท สิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนทำลายสิ่งแวดล้อม

- พิจารณาถึงผลกระทบ ปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคิด เตรียมการที่จะรับมือจากผลกระทบนั้นๆ

๕. ลงมือทำอย่างไร จึงจะสำเร็จ?

- ทำโดยใช้ความรู้ ทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ทำอย่างมีคุณธรรม ขยัน อดทน เพียรพยายาม ซื่อสัตย์ มีสติ ใช้ปัญญา

๖. อะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ทำไม่ได้ดี จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ?

- พิจารณา : ผลที่เกิดขึ้น กระบวนการ/วิธีการที่ทำ บุคคลที่เกี่ยวข้อง

๗. มีการเรียนรู้อะไรบ้างที่มาจากการคิด-การทำงานตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

- พิจารณา : ความรู้ ความคิด การกระทำ เจตคติ การพัฒนาตนเอง


ในช่วงการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ผู้จัดการโครงการนี้และทีมงาน ได้ชี้ประเด็นที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ เช่น

* เข้าใจดี วิเคราะห์ดี ต้องลงมือทำจึงจะเรียนรู้ และพัฒนา

* ความเข้าใจที่ตรงกัน (นิยามศัพท์/วัตถุประสงค์ เป้าหมาย)

* เป้าหมายต้องชัดเจน มีการทบทวนวัตถุประสงค์เสมอๆ ไม่ยึดติด และต้องคำนึงถึงพลวัตร

* ยึดหลักสมดุลในการทำงานที่สัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ และของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

* ความคาดหวัง ต้องมาพร้อมกับความเข้าใจร่วมกัน

* การจัดการโครงการพัฒนาคน คือ การบริหารใจ ศักยภาพ เพื่อสู่เป้าหมาย/ความคาดหวัง

* การเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องมุ่งเน้นให้เด็กลงมือทำเอง

* เมื่อถอดบทเรียนรู้แล้ว ต้องนำไปพัฒนาต่อ

* ครูต้องมุ่งเน้นการบ่มเพาะนักเรียนเกิดเป็นอุปนิสัย ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียน

* ความจำเป็นในการบูรณาการสหวิทยาการ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความเห็นว่า เพื่อความยั่งยืนของผลสำเร็จในโครงการนี้ จะทำอย่างไร ที่ส่วนของ non cognitive part นี้จะไม่ขัดแย้งกับ cognitive part

ข้าพเจ้า ได้ตอบข้อสังเกตส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ว่า เท่าที่ผ่านมา มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ในการสร้างสื่อบูรณาการการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงในหลักสูตร ๘ กลุ่มสาระวิชา รวมทั้งผลิตสื่อช่วยการสอนที่เป็นนิทานและสิ่งตีพิมพ์อ่านนอกเวลาเรียนที่เข้าใจง่าย และสร้างเกมส์เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย

ในช่วง AAR เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ต่างร่วมกันให้ความเห็นว่า หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาเป็นแก่นสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข มั่นคง บนความพอเพียงที่ยั่งยืน

โปรดอ่านรายละเอียดของโครงการนี้ ที่ website ของมูลนิธิสยามกัมมาจล Click


http://www.scbfoundation.com/project/%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%9E

--------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 573432เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2014 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

"หลักของปรัชญาเศรษบกิจพอเพียง สามารถนำมาเป็นแก่นสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข มั่นคง บนความพอเพียงที่ยั่งยืน"

เป็นจริงค่ะ 

ขอบคุณค่ะ

ชอบใจการทำงานการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา

ที่ทีมงาน SCB ที่ลงไปสร้างเครือข่าย ผมได้เรียนรู้ไปด้วยเลยครับ

ขอบคุณพี่ใหญ่มากครับที่เล่าเขียนให้อ่าน

การสอนที่เป็น "นิทาน" และ "สิ่งตีพิมพ์อ่านนอกเวลาเรียน" ....ที่เข้าใจง่าย และ ... สร้างเกมส์เศรษฐกิจพอเพียง... เพื่อแก้ปัญหา ..... อันนี้ดีจังค่ะ พี่ใหญ่ค่ะ ... 


   เพราะจำได้ว่า ตอนเด็กๆๆ หนังสือนอกเวลา มีผลความคิด มีผลต่อจิตใจมากค่ะ ..สมัยเด็กๆ (เปิ้นไ้ดเรียน นิทานเรื่องนกกางเขน ...เคยเรียกน้ำตาของเปิ้นมาแล้ว ค่ะ) ....และ.... ตอนลูกเล็กๆ ก็นำแนวคิดนี้มาใข้ค่ะ  ... ยังเพิ่มให้ลูกฟังเพลง "ดาวลูกไก่" (ลูกคนเล็กที่เป็นนักเขียน : MASAYO YU) .... เขาฟังที่ไร น้ำตาไหล ทุกที่ค่ะ ... สงสารแม่ไก่และลูกไก่ .... แต่ก็เข้าใจคนเล้ีี้ยงไก่ .... ที่ต้องทำอาหารถวายพระธุดงค์นะคะ ... แต่คุณพ่อ-คุณแม่....ควรมีส่วนช่วยอธิบายให้ลูกน้อย..ได้เข้าถึงเหตุผลและความจำเป็น นะคะ ... เพราะบ้างอย่างเขาอาจะเข้าใจลึกซึ่งไม่ได้นะคะ


คิดถึงพี่เสมอค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่

-สวัสดีครับป้าใหญ่

-เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนกลุ่มยุวเกษตรกรคราวใดมักจะน้อมนำเอาหลักการของพระองค์ท่านไปบอกกล่าวอยู่เสมอครับ

-อย่างน้อย ๆก็ได้ปลูกฝังให้เยาวชนได้สานต่อรากเหง้าของตนเอง

-รักและหวงแหนในอาชีพเกษตรกรรม

-ขอบคุณผุ้ใหญ่ใจดีมาก ๆนะครับ


Prof. Vicharn Panich

อ.นุ

ขจิต ฝอยทอง

เพชรน้ำหนึ่ง

เพ็ญศรี

Dr. Ple

พ.แจ่มจำรัส

ฤทธิไกร มหาสารคาม

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

ส.รตนภักดิ์

อร วรรณดา

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่การบทเรียนจากการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา

* น้องอร.วรรณดา... ยินดีมากค่ะที่เห็นคุณค่าของการนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข

* น้องดร.ขจิต...ดีใจที่เห็นประโยชนของการเล่าบทเรียนการขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาเช่นนี้..ฝากนำไปเผยแพร่ในโรงเรียนต่างๆ เพื่อขยายผลต่อไปด้วยค่ะ

* น้อง Dr.Ple....ขอบคุณที่มาเล่าประสบการณ์ถ่ายทอดแนวคิดดีๆผ่านสื่อการเรียนรู้สู่เด็กๆ ที่ช่วยให้เกิดการคิดวิเคราะห์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ลูกสาวโชคดีมากที่มีคุณแม่ปลูกฝังคุณธรรมให้ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต จนเติบใหญ่มีความดีงามเป็นที่ชื่นใจของครอบครัวเช่นนี้ค่ะ

* หลานเพชรน้ำหนึ่ง....ขอบคุณภาพคุณลุงเกษตรกรกับผลผลิตงามๆพร้อมบริโภคและจำหน่าย เป็นพื้นฐานหลักของอาชีพพึ่่งพาตนเองบนความพอเพียง..ดีใจมากค่ะที่ช่วยกันรณงค์สร้างแรงบันดาลใจดีๆของการมีความสุขของวิถีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นนี้

กลับมาแล้วครับ

ขอนำแนวคิด

การทำงานในนี้

Click

http://www.scbfoundation.com/project/%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%9E

ไปเผยแพร่แก่โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่สนใจนะครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ขอตามรอยเท้าพ่อหลวงค่ะ

ครับ พี่ใหญ่...
ผมชอบมากครับกับคำๆ นี้

ทำ อย่างมี คุณธรรม

น้องดร.ขจิต

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับความตั้งใจทีจะขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ในแนวทางที่ปรากฏใน SCBF Website ไปใช้และเผยแพร่ต่อไป...ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อบ่มเพาะให้งอกงามสู่อุปนิสัยของเยาวชนของเรานะคะ

น้อง tuknarak

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจและภาพผักเกษตรเขียวสดที่ปลูกเองเพื่อบริโภคในโรงเรียน น่าชื่นชมมากค่ะ

น้องแผ่นดิน

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจ...ใช่เลยค่ะ คุณธรรมนำความรู้ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จที่งดงาม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท