สามวีรบุรุษ


การบ้านที่ได้รับมอบหมายมาในการเดินทางสู่เวียดนาม ดินแดนที่ผ่านการเคี่ยวกรำศึกสงครามหลายรูปแบบมาหลายชั่วอายุคน เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับประวัติความเป็นมา หรือจะเป็นไปของเวียดนาม หากแต่มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในเรื่องแนวคิดของบุคคลสามคนที่อยู่ห่างออกไปอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ต่างลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจของจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกับลุงโฮ วีรบุรุษในใจของชาวเวียดทุกคน

ชายคนแรก เช กูวารา ซึ่งผู้เขียนมึความรู้เรื่องราวของเช เพียงรูปภาพชายคนหนึ่งที่ติดอยู่ตามท้ายรถบรรทุกบนท้องถนนของไทย ชื่อเต็มของเขาคือ เออร์เนสโต เช กูวารา เกิดเมื่อ 14 พ.ค. 1928 เป็นบุตรชายคนโตของ เออร์เนสโต วา กูวารา ลินซ์ ผู้มีเชื้อสายไอริช กับ ซีเลีย เดอร์ลา เซอรีน่า ที่สืบเชื้อสายมาจากสเปน เช เกิดที่เมืองโรซาลิโอ ประเทศอาเจนติน่า เชเริ่มเป็นโรคหอบหืดตอนอายุ 2 ขวบ ปีถัดมา ครอบครัวต้องย้ายไปอยู่กรุงบัวโนสเอเรส เมืองหลวงเพื่อหาทางรักษา อยู่ได้ปีเดียว เชทนสภาพอากาศในบัวโนสเอเรสไม่ไหว จึงย้ายไปอยู่เมืองคอร์โดบาทั้งครอบครัว เช เริ่มเรียนหนังสือช้าเพราะปัญหาสุขภาพ

ในช่วงเรียน เช พยายามเล่นกีฬาหลายอย่างแต่ก็ไม่ทำให้โรคหอบหืดหายไป ปี 1947 เช เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ ปี 1951 เขาและเพื่อนเชื่อ อัลแบร์โต กรานาโด ตัดสินใจเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซด์ไปทั่วอเมริกาใต้ อันเป็นที่มาของภาพยนตร์ Motorcycle Diary ช่วงที่ตระเวนไปนั่น เช ได้พบเห็นความทุกข์ยากของประชาชนในหลายพื้นที่ของอเมริกาใต้

กรกฏาคม 1955 เช ได้พบกับฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติหนุ่มจากคิวบาที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองข้อหากบฏเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1955 คาสโตร รวบรวมเพื่อนพ้อง แอบฝึกกองกำลังติดอายุ และจัดตั้งกลุ่มผู้ร่วมปฏิบัติการเมือง26กรกฎาคม M-26-7

25 พฤศจิกายน 1956 กลุ่มคณะของคาสโตรและเช ออกเดินทางด้วยเรือแกรนมาจากเม็กซิโกสู่คิวบา แต่เรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญกว่าจะขึ้นฝั่งคิวบาในวันที่ 2 ธันวาคม 1956 และถูกโจมตีจนแตกพ่าย ไปที่เทืองเขาในเขตเมืองเซียรา มาเอสตรา

เช เป็นเหมือนมันสมองของคาสโตรในการรบแบบสงครามกองโจร เช เขียนบันทึกทฤษฎีสงครามกองโจรในปี 1966 โดยเริ่มต้นว่า การปฏิวัติของคิวบาพิสูจน์ถึงความสามารถของประชาชนที่จะปลดปล่อยตนเองจากรัฐบาลที่กดขี่ได้ด้วยวิธีสงครามกองโจร และมีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

1.กำลังของประชาชนสามารถเอาชนะต่อกองทัพของรัฐบาลได้

2. ไม่จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์ปฏิวัติสุกงอมเพราะนักปฏิวัติที่สามารถเป็นผู้ปลุกเร้าได้

3. ในประเทศด้อยพัฒนา บริเวณชนบทเป็นสนามรบที่ดีที่สุดสำหรับการต่อสู้ด้วยอาวุธ

กองทัพปฏิวัติดำเนินการรบแบบกองโจรในชนบท และรุกคืบสู่เมือง จนกระทั่ง มกราคม 1959 ฟิเดล คาสโตร สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลบาติสตาได้สำเร็จและขึ้นปกครองประเทศคิวบา

นโยบายแรก ที่เช คิดแก้ไขปัญหาคิวบาหลังการปฏิวัติสำเร็จ คือ กฎหมายการปฏิรูปที่ดิน ประกาศใช้เดือน พฤษภาคม 1959 ที่ดินจากนายทุนใหญ่ถูกโอนมาเป็นของรัฐ เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชหลายชนิด ส่วนชาวนาที่ยังเป็นเจ้าของที่ดิน รัฐจะให้เงินกู้และสอนวิธีเพาะปลูกที่มีผลผลิตดีขึ้น ในช่วงเวลานี้ เช ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติ

1966 เช ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งในคิวบา เข้าไปร่วมกับกลุ่มกบฏโบลีเวีย แต่ไม่สำเร็จ เช ถูกจับและสั่งฆ่าด้วยการยิงเป้า เมื่อ 9 ตุลาคม 1967

เมื่อกล่าวถึง เช กูวารา ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เอ่ยถึงบุรุษอีกคนหนึ่ง ฟิเดล คาสโตร

ฟิเดล คาสโตร เกิดเมื่อ 13 สิงหาคม 1926 ที่เมืองปิเรน ประเทศคิวบา เป็นบุตรนอกสมรสของเศรษฐีชื่อ อังเจโล คาสโตร อีอาร์กัส เชื้อสายสเปน กับมารดาชื่อ ลีนา สกอนซาเลส บิดาของคาสโตรเป็นเจ้าของไร่อ้อย

ตัวของคาสโตรเป็นคนฉลาด สอนง่ายจำง่าย 1950 คาสโตรเรียนจบปริญญาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในกรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบา และจัดตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง โดยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายอย่างไม่คิดค่าใช้จ่ายกับคนจน และเคยทำหนังสือเตือนสติไปยังประธานาธิบดีบาติสตาแห่งคิวบาให้นึกถึงการอยู่รอดของประชาชนและประเทศชาติ ว่าหากมัวเมาในอำนาจอย่างนี้ จะต้องพังเข้าสักวัน บาติสตาไม่ได้สนใจคำเตือนของคาสโตรแต่อย่างใด

คาสโตรจึงจับปืนสู้และวางแผนโค่นล้มบาติสตาครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 1953 แต่ไม่สำเร็จและถูกจับกุมข้อหากบฏ ติดคุกที่เกาะไพน์ ถูกปล่อยตัวเมื่อ พฤษภาคม 1955 และลี้ภัยทางการเมืองไปเม็กซิโก จนพบกับ เช กูวารา และร่วมกันทำงานปฏิวัติจนสำเร็จในเดือนมกราคม 1959

ประวัติชีวิต การต่อสู้ช่วงนี้ของคาสโตรจึงเหมือนกับเรื่องราวของเช เพียงแต่บทบาทของคาสโตรจะทำหน้าที่ผู้นำ เช ทำหน้าที่คู่คิดหรือมันสมองของเขา ในการดำเนินการปฏิวัติช่วงแรก คาสโตรไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือจากทั้งสหรัฐและโซเวียต แต่หลังการปฏิวัตสำเร็จ คาสโตรดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ให้ชาวนา แต่ยึดประโยชน์มาจากนายทุน โดยเฉพาะนายทุนจากสหรัฐ และตอบรับความช่วยเหลือจากโซเวียตอย่างเต็มี่

คาสโตรกลายเป็นวีรบุรุษของคิวบา และดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศคิวบา จนถึง 19 กุมภาพันธ์ 2008 คาสโตรตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของคิวบา โดยให้นายลาอูร คาสโตร น้องชายที่ร่วมรบด้วยกันมาตลอดรับตำแหน่งแทน

ชายอีกคนที่เป็นคลื่นลูกต่อมาของการต้านจักรวรรดินิยม คือ ฮูโก ชาเวส

ฮูโก ชาเวส เกิดเมื่อ 28 กรกฎาคม 1954 จากบิดาที่เป็นครูมีฐานะยากจน เข้าศึกษาที่โรงเรียนทหารของเวเนซูเอรา จนจบปี 1975 และเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีโมน โบลีวาร์ แต่ไม่จบ

4 กุมภาพันธ์ 1992 ชาเวส ทำการปฏิวัติโบลีวาร์-200 ขึ้น แต่ล้มเหลว ต้องโทษจำคุก ชาเวซต้องโทษจำคุก แต่การรัฐประหารครั้งนั้นก็ส่งผลให้ประธานาธิบดีเปเรซหลุดจากตำแหน่งในเวลาต่อมา และประธานาธิบดีคนใหม่ได้อภัยโทษให้เขา ชาเวซได้ก่อตั้งขบวนการสาธารณรัฐที่ 5 (The Fifth Republic Movement) ขึ้น และลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 1998 โดยชูอุดมการณ์ของซิโมน โบลิวาร์ และการสถาปนาสาธารณรัฐใหม่ด้วยการปราศรัยที่ดุเดือดและโดนใจชาวบ้าน ทำให้คะแนนิยมของชาเวซพุ่งขึ้นจนสามารถชนะคู่แข่งขัน และก้าวเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีในปี 1999

ผลงานเด่นของชาเวซคือการปฏิรูปทางการเมือง โดยสร้างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยการจัดตั้งองค์กรประชาสังคม ที่มีสมาชิกไม่เกิน 30 ครอบครัว เรียกว่า องค์กรชีวิตชุมชน หรือ community living organization-OCVs ในทุกชุมชน ทุกเขต ทุกจังหวัด รวมทั้งในเมืองหลวง แล้วจัดสรรงบประมาณจากภาษีอากร และจากรายได้จากน้ำมันให้องค์กรเหล่านี้ ไปดำเนินการในเรื่องการสุขอนามัย การศึกษา การฝึกอาชีพ สร้างสถานอนุบาลเด็กอ่อน

ชาเวซ ยังจัดตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาอีก 3 กระทรวง คือ กระทรวงการเคหะ เพื่อจัดการแก้ปัญหาคนไร้บ้านให้มีบ้านอยู่กันทุกคน กระทรวงอาหารเพื่อแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชนโดยเฉพาะเด็กกระทรวงพลัง เศรษฐกิจรากหญ้า เพื่อประสานงานกับกระทรวง และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เพื่อปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้ประชาชนรากหญ้า บริษัทขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้ตั้งตัวได้

ชาเวสเป็นคนที่กล้าต่อกรกับอเมริกาอย่างไม่เกรงกลัว เรียกอเมริกาว่าจักรวรรดินิยม ต่อต้านระบบทุนนิยมลาตินอเมริกา ก่อตั้งอุดมการณ์ ลัทธิโบลิวาร์ ผสมผสานระหว่างอุดมการณ์ของซีโมนกับลัทธิมาร์กซิส อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับประเทศซีกโลกใต้บนหลักการของผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม แทนการแข่งขันหากำไรแบบตัวใครตัวมันของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เช่น ตั้งธนาคารแห่งซีกโลกใต้, ตั้งกลุ่มการค้าเสรีและการร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้าน, แลกเปลี่ยนสินค้ากันในราคามิตรภาพ ต่อรองกับธนาคารแห่งลาตินอเมริกาให้ลดหนี้ให้ประเทศที่มีปัญหา ฯลฯ

ชายทั้งสามคนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการลุกขึ้นมาต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมโดยเฉพาะจากสหรัฐ โดยมีจุดร่วมสำคัญคือ ทั้งสามล้วนมาจากชนชั้นกลางถึงล่างในสังคม และถูกกดขี่จากรัฐบาลเผด็จการของประเทศ

ในบรรดาชายทั้งสาม เช กูวารา เป็นวีรบุรุษผู้เรืองนามและอยู่ในความทรงจำของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะ เขาเสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่ม และไม่ยินยอมอยู่ในอำนาจในฐานะผู้นำนานเกินไป

หมายเลขบันทึก: 573135เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท