การนำเสนอหน่วยงานเชิงเปรียบเทียบ


ผมขออนุญาตสื่อสารมายังคณะ/หน่วยงานของ ม. มหิดล ที่สภามหาวิทยาลัยจะไปเยี่ยมชื่นชม ขอให้นำเสนอเชิงเปรียบเทียบดังกล่าว คณะแรกๆ ที่เราไปเยี่ยมนำเสนอเชิงเปรียบเทียบได้ดี แต่ในการไปเยี่ยมครั้งหลัง กลิ่นไอนี้จางหายไป

การนำเสนอหน่วยงานเชิงเปรียบเทียบ

         ผมกำลังเตรียมตัวไปร่วมทำหน้าที่ทีมประเมินภายนอก ของ มอ.     จึงตะลุยอ่านรายงานการประเมินคุณภาพของ มอ. ที่เขาส่งมาให้ เป็นเอกสารหนากว่า ๓๕๐ หน้า      เขาเตรียมตัวอย่างดี น่าชื่นชมมาก    

        ด้วยนิสัยขี้สงสัยของผม     ผมตั้งคำถามว่า มอ. ได้ประโยชน์จากการทำเอกสารและข้อมูลเหล่านี้คุ้มกับการลงทุนลงแรงหรือไม่     หรือว่าทำเพียงเพื่อให้ สมศ. ได้มีผลงาน     หรือว่าเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าผ่านการประเมิน

        ผมมีนิสัยไม่น่ารัก ตรงที่ชอบตั้งคำถามแบบขี้ระแวง     สงสัยว่าหน่วยงานบางหน่วยงาน  ระบบบางระบบ  หรือคนบางคน  ดำรงอยู่ในลักษณะเป็นภาระมากกว่าเป็นคุณ      ผมไปทำงานที่ไหนผมจะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอ ว่าหน่วยงานที่เรารับผิดชอบอยู่เป็นคุณหรือเป็นภาระ (ต่อสังคม) มากกว่ากัน      รวมทั้งถามตัวเองเป็นระยะๆ ด้วย

        การที่จะทำให้กิจกรรมการประเมินคุณภาพทั้งหลาย เป็นคุณ มากกว่าเป็นภาระ     ตัวกระบวนการประเมินต้องเน้นผลต่อการตัวผลงาน และวิธีปฏิบัติงาน  มากกว่าเน้นระบบรายงาน หรือระบบเอกสารที่ทำเพียงเพื่อเอาไว้ให้ผู้ประเมินดู     คือผมอยากให้เป็นระบบเอกสาร และระบบการประเมินเพื่อการพัฒนาตนเอง     มากกว่าเพื่อให้ผู้ประเมินมาอ่าน

        ถ้าเราประเมิน และทำเอกสารรายงานเพื่อการพัฒนาตัวเราเอง     เราน่าจะมีวิธีตรวจสอบและนำเสนอที่เป็น "การนำเสนอเชิงเปรียบเทียบ" (comparative presentation) ไม่ใช่นำเสนอแบบ descriptive presentation อย่างที่เราใช้กันอยู่    

        การนำเสนอเชิงเปรียบเทียบ จะช่วยให้ภาพตำแหน่งแห่งที่ (positioning) ของแต่ละมหาวิทยาลัย เด่นชัด     ทำให้วิธีคิด และจุดเน้นเด่นชัด     ไม่คิดแบบเหมาๆ  มัวๆ     เกิดภาพนโนทัศน์ และภาพเชิงรูปธรรมชัดเจนว่าเราจะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าใด

        การนำเสนอเชิงเปรียบเทียบ  ทำโดยเปรียบเทียบกับภาพรวมของประเทศไทย     เปรียบเทียบกับภาพของประเทศที่เราต้องการ benchmark ด้วย     เปรียบเทียบกับบางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เราต้องการเป็นอย่างเขา     เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เป็น competitor    เป็นต้น    เช่น ตัวอย่าง มอ. ต้องเปรียบเทียบกับ มช. และ มข. ในฐานะคู่แข่ง     เปรียบเทียบกับ มหิดล  จุฬา ในฐานะเป้าหมายที่ต้องการเป็น

        ผมคิดว่าเอกสารที่ มอ. จัดทำ     น่าจะก่อประโยชน์เชิงขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพของ มอ. ได้มากกว่า     ถ้านำเสนอเชิงเปรียบเทียบดังกล่าว

        ผมขออนุญาตสื่อสารมายังคณะ/หน่วยงานของ ม. มหิดล ที่สภามหาวิทยาลัยจะไปเยี่ยมชื่นชม     ขอให้นำเสนอเชิงเปรียบเทียบดังกล่าว     คณะแรกๆ ที่เราไปเยี่ยมนำเสนอเชิงเปรียบเทียบได้ดี     แต่ในการไปเยี่ยมครั้งหลัง กลิ่นไอนี้จางหายไป

วิจารณ์ พานิช
๕ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 57294เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2006 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท